อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เมื่อสักเดือนก่อน ผมมีเหตุต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อไปบรรยายให้หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในหัวข้อการประกันวินาศภัยกับการบริหารความเสี่ยงภาครัฐและการบริหารงบประมาณแผ่นดิน
ผมเลยค้นคว้าเรื่องเงินถุงแดง ทำให้ทราบว่า สมัยนั้นประกันภัยสงครามไม่มีขาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สาม ทรงค้าขายเก่งมาตั้งแต่ยังไม่ขึ้้นครองราชย์ และทรงเก็บเงินจากการค้าสำเภาไว้ที่ข้างพระแท่นบรรทม ใส่ในถุงแดง จึงเรียกว่าเงินถุงแดง เงินดังกล่าวเป็นเงินค้าขายส่วนพระองค์แต่ทรงยกให้แผ่นดินทั้งหมดและไม่เคยนำมาทรงใช้เลย เป็นการตั้งเงินสำรองของชาติไทยเอาไว้ ทรงบอกว่าเอาไว้ใช้กู้บ้านกู้เมืองเมื่อคราวจำเป็น
ตลอดรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ทรงนำเงินถุงแดงนี้ออกมาใช้เลย ทรงเก็บไว้เช่นนั้นตลอดรัชกาล
ในวิกฤติรัตนโกสินทร์ศก 112 ฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ไทยถูกบีบและเรียกค่าปฏิกรณ์สงคราม 3 ล้านเหรียญ เพราะเรายิงปืนใหญ่ใส่เรือรบของฝรั่งเศสตรงบริเวณป้อมพระจุลในปัจจุบันนี้ ซึ่งในขณะนั้นเราไม่มีเงิน และยังต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดซึ่งก็คือประเทศลาวค่อนประเทศในปัจจุบันให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทรงพระราชนิพนธ์ลงมาว่า
เกลือกจะเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤาว่างวาย
เรียกได้ว่าทรงเสียพระทัยจนแทบจะตรอมพระทัยลาตาย
ค่าปฎิกรณ์สงคราม สามล้านเหรียญ ได้มาจากเงินถุงแดงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสองล้านสี่แสนเหรียญ เป็นเงินเหรียญรูปนกของเม็กซิโก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ขาดไปอีกหกแสนเหรียญ
ลงท้าย ฝ่ายในและฝ่ายหน้าพากันเรี่ยไรเงินขนออกจากพระบรมมหาราชวังไปลงท่าเตียน ขนไปให้ฝรั่งเศสอีก หกแสนเหรียญ ว่ากันว่าเงินที่ขาดไปอีกหกแสนเหรียญนั้นมาจากการถวายสมทบของสมเด็จยาย หรือ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เป็นจำนวนมาก ซึ่งทรงเป็นน้องสาวของสมเด็จพระอัยกาของรัชกาลที่ 5 (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์) และเนื่องจากสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมณ์) พระราชมารดา ทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่สาม เป็นพระธิดาใน และสวรรคตเมื่อทรงพระชนม์ไม่มากนักเพียง 28 พรรษา ทิ้งพระราชโอรสให้เป็นลูกกำพร้า สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรผู้มีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (อาหญิง) ของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี จึงทรงรับอุปการะเลี้ยงดูพระราชโอรสทั้งหมด
ลูกกำพร้าคือเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ จึงทรงอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องเคารพเสมอเสมือนพระราชมารดาแท้ แม้คราวสมเด็จยาย สวรรคต (ทรงให้ใช้คำนี้ เสมอเสมือนพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินี) ก็ทรงนุ่งขาวห่มขาวทั้งองค์ในการออกพระเมรุมาศ (ปกติธรรมเนียมไทย จะแต่งขาวไว้ทุกข์ให้กับผู้อาวุโสกว่าและเคารพยิ่ง เป็นการถวายความเคารพสูงสุด) ความผูกพันระหว่างสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรกับพระพุทธเจ้าหลวงนั้นมีมากเหลือเกิน เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไกลบ้านประพาสยุโรป ทรงพระสุบินว่าสมเด็จยายทรงทำข้าวคลุกกะปิถวายให้เสวย เมื่อตื่นพระบรรทมถึงกับเสด็จลงไปทรงหุงข้าวเอง คลุกกะปิเอง และพระราชทานมหาดเล็กที่ตามเสด็จ คงเป็นเพราะทรงคิดถึงบ้านและทรงคิดถึงสมเด็จยายมากเหลือเกิน
เบื้องหลังของผู้ชายที่ยิ่งใหญ่ มีผู้หญิงคนหนึ่งเสมอมา แม้กระทั่ง พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อทรงพระประชวรเรื่องเสียแผ่นดินแทบจะสวรรคต สมเด็จยายก็ทรงถวายพระราชทรัพย์แทบทั้งหมดที่ทรงสะสมไว้ในใต้ถุนพระตำหนักถวายให้เป็นเงินกู้แผ่นดินได้
การประกันวินาศภัย การตั้งเงินสำรอง (Reserve) ในการบริหารราชการแผ่นดินนี้ เป็นเรื่องเก่า มีมาแต่คราวพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ เงินค่าปฏิกรณ์สงครามซึ่งโดยปกติ วงการประกันภัย ไม่รับประกันภัยสงคราม เพราะเสี่ยงสูงมาก ค่าเสียหายสูง
บทบาทของการประกันวินาศภัยในภาครัฐจึงสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวินัยในการคลัง
ถ้าพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้งสี่พระองค์ที่เล่ามานี้ทรงขาดวินัยทางการคลัง ไม่ทรงเก็บเงินถุงแดงเอาไว้ หรือทรงเอาเงินถุงแดงไปใช้ทั้งหมด คงไม่มีประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้