อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นความบังเอิญอย่างประหลาดที่วันครบรอบการประกาศเอกราชปีที่ 70 แห่งสาธารณรัฐอินเดียเมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ในปีนี้มาตรงกับเทศกาลสำคัญของชาวฮินดูเทศกาลหนึ่งนั่นคือ วันกฤษณะชันมาษฏมี หรือวันประสูติพระกฤษณะ เทพเจ้าที่ชาวฮินดูนิยมนับถืออย่างกว้างขวาง ความบังเอิญนี้เป็นสิ่งที่ เป็นไปเช่นนั้นเองด้วยเหตุว่าวันเอกราช (ในภาษาฮินดีเรียกว่า สวะตันตระตา ดิวัส แปลตรง ๆ ว่า วันแห่งความเป็นอิสรภาพ) นับตามปฏิทินสุริยคติคือถือเอาวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ส่วนวันกฤษณะชันมาษฏมี นับตามปฏิทินจันทรคติคือถือเอาวันแรมแปดค่ำเดือนศราวนะ ซึ่งจะตกอยู่ในราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ฉะนั้นบางปีวันกฤษณะชันมาษฏมีจะตกอยู่ในกลางเดือน หรือปลายเดือนสิงหาคม หรืออาจเคลื่อนไปถึงต้นเดือนกันยายนก็มี
มีธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาเป็นประจำทุกปีว่าช่วงเช้าของวันเอกราช นายกรัฐมนตรีจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนป้อมแดง หรือเรียกว่าลาล กิล่า เพื่อรำลึกถึงการประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947 การกล่าวสุนทรพจน์ภาษาฮินดี ภาษาราชการของอินเดียโดยนายกรัฐมนตรี นายนเรนทระ โมดีในปีนี้ มีประเด็นทางอารยธรรมอินเดียสอดแทรกอยู่ และยังสะท้อนให้เห็นถึงลีลาวาทะศิลป์ที่คมคายของนักพูดผู้มีพรสวรรค์ นายโมดีกล่าวในตอนต้นว่า
“วันนี้ทั่วประเทศกำลังเฉลิมฉลองวันเอกราชพร้อม ๆ กันกับวันชันมาษฏมี ผมมองเห็นตรงหน้าขณะนี้ว่ามีพาละกันไหยา จำนวนมากมาร่วมอยู่ที่นี่ด้วย นับจากสุทรรศนะจักรธารีโมหัน กระทั่งถึงจรขาธารีโมหัน นั้นถือว่าเราทั้งหมดร่ำรวยไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จากกำแพงป้อมแดงแห่งนี้ ในนามประชาชนทั้ง1,250 ล้านคน ผมขอนอบน้อมพัน-พันครั้ง แสดงความเคารพต่อพี่น้องชายหญิงผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผู้ที่ได้อุทิศตน เผชิญความยากลำบาก พลีชีวิต เสียสละและพากเพียรจนถึงที่สุดเพื่ออิสรภาพ เพื่อความภาคภูมิใจ และเกียรติศักดิ์ศรีแห่งชาติ...”
พาละกันไหยา ที่กล่าวนั้นหมายถึงพระกฤษณะในวัยเด็ก เนื่องจากมีธรรมเนียมนิยมจัดให้เด็กแต่งกายเป็นพระกฤษณะในเทศกาลวันประสูติพระกฤษณะ ในขณะที่นายโมดีกำลังกล่าวสุนทรพจน์อยู่นี้ก็มีเด็กนักเรียนจำนวนมากแต่งกายเป็นพระกฤษณะมานั่งฟังอยู่ด้วย
สุทรรศนะจักรธารีโมหัน หมายถึง พระกฤษณะผู้ทรงจักร โมหันเป็นพระนามหนึ่งของพระกฤษณะ แปลว่าผู้น่าหลงใหล สุทรรศนะ เป็นชื่อของจักร อาวุธของพระวิษณุ องค์ต้นอวตารของพระกฤษณะ ส่วนคำว่า ธารี แปลว่า ทรงไว้ ถือไว้
จรขาธารีโมหัน แปลว่า โมหันผู้ถือจรขา ซึ่งในที่นี้หมายถึง มหาตมาคานธี นั่นเอง (ผู้เขียนตั้งใจสะกดตามรูปเดิมในภาษาฮินดีว่า มหาตมา มิใช่ มหาตมะ ดังที่นิยมทั่วไปในภาษาไทย) มหาตมาคานธี มีชื่อจริงว่า นายโมหันทาส กรัมจันท์ คานธี จรขา คือเครื่องปั่นด้าย ซึ่งมักปรากฏคู่กับท่านคานธีอยู่เสมอ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งการพึ่งพาตนเอง และพลังแห่งความสามัคคีในยุคของการต่อสู้เรียกร้องเอกราช
ผู้เขียนชื่นชมในคารมวาทะของนายโมดีที่นำบุคคลสำคัญทั้งสองของอินเดียคือ พระกฤษณะผู้ทรงจักร และมหาตมาคานธีผู้นั่งปั่นด้าย มากล่าวคู่กันในโอกาสนี้ ในวันที่บังเอิญมีเหตุการณ์สำคัญอันสัมพันธ์กับบุคคลทั้งสองเกิดขึ้นพร้อมกันดังกล่าวแล้วข้างต้น จรขา หรือเครื่องปั่นด้ายนั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายจักร อาวุธของเทพเจ้า เมื่อพระกฤษณะมีอาวุธหนึ่งเป็นจักรใช้ปราบปรามอธรรม คานธีก็มีอาวุธหนึ่งเป็นจรขา ใช้ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย นายโมดียังอ้างถึงพระกฤษณะ พระราม และคานธีอีกครั้ง ในตอนกลางของสุนทรพจน์ เมื่อกล่าวถึงพลังแห่งความสามัคคีว่า
“และเราก็ได้รู้ว่าพลังของความสามัคคีเป็นเช่นไร แม้พระกฤษณะผู้เป็นเจ้าจะทรงพลานุภาพมากเพียงใดก็ตาม ครั้นคนเลี้ยงวัวพากันถือไม้พลองมายืนรวมกัน พลังสามัคคีที่เกิดขึ้นนั้นสามารถยกภูเขาโควรรธนะให้สูงขึ้นได้ เมื่อพระรามผู้เป็นเจ้าจะเดินทางไปลังกา เหล่าวานรเสนาตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันสร้างสะพานรามเสตุ พระรามจึงข้ามถึงลังกาได้สำเร็จ นายโมหันทาส กรัมจันท์ คานธี คืออีกผู้หนึ่ง เมื่อประชาชนกว่าสิบล้านคนถือตักลี (อุปกรณ์ชนิดหนึ่งใช้ปั่นด้าย-ผู้เขียน) และฝ้ายไว้ในมือ ถักทอโครงร่างแห่งอิสรภาพขึ้นมา อำนาจแห่งพลังสามัคคีนี้เองประเทศจึงเป็นอิสระ...”
นายโมดียังกล่าวถึงพระกฤษณะอีกเป็นครั้งที่สามว่า
“ในสงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตร อรชุนถามปัญหามากมายกับพระกฤษณะ พระองค์ได้ตอบอรุชนว่า ภาวะของใจเป็นเช่นไร ผลของการงานก็ย่อมเป็นเช่นนั้น พระองค์ยังสอนต่อไปอีกว่า มนุษย์มีความเชื่ออย่างไรก็จะได้เห็นผลอย่างนั้น หากใจมีความเชื่อมั่น อนาคตอันรุ่งเรืองของประเทศชาติก็จะเป็นสิ่งที่มุ่งหวังได้...”
นายโมดียังได้กล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในรัฐจัมมูแคชเมียร์ด้วย ประโยคที่กล่าวนั้นหากอ่านจากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือถอดความเป็นภาษาไทยก็คงจะเฉย ๆ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษ ที่กล่าวว่า
“มิใช่ด้วยคำด่าทอ มิใช่ด้วยลูกปืน แต่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกอดคอกัน”
ข้อความข้างบนนี้หากฟังจากต้นฉบับที่กล่าวในภาษาฮินดีจะพบว่า นายกรัฐมนตรีอินเดียผู้นี้มีความเป็นกวีอยู่ไม่น้อย รู้จักสรรคำที่มีเสียงอักษรสัมผัสกันมาเรียบเรียงไว้ด้วยกันอย่างมีจังหวะลงตัว ดังนี้
“na gali se na goli se, parivartan hoga gale laga karke...”
gali แปลว่า การด่าทอ, goli แปลว่า ลูกปืน, gale แปลว่า คอ
ดังแสดงตัวอย่างมานี้ พอจะพิจารณาเห็นได้ถึงปฏิภาณกวี และคารมวาทะศิลป์ของนายนเรนทระ โมดี ที่นำเอามรดกแห่งอารยธรรมและประวัติศาสตร์ มาผูกร้อยเรียงกันอย่างสร้างสรรค์ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวาระสำคัญแห่งชาติครั้งนี้ อย่างไรก็ตามในที่นี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะเชิดชูอย่างพิเศษแก่บุคคลใด ความรัก ความเคารพ และรู้จักนำเอาคุณค่าของสมบัติที่มีอยู่แล้วในชาติมาใช้ใหม่ให้เป็นประโยชน์แก่ปัจจุบันและอนาคตโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามกาลเทศะนั้นเป็นอัตลักษณ์พิเศษที่อินเดียมีอยู่อย่างโดดเด่นอยู่แล้ว มีปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ วาทะศิลป์ในสุนทรพจน์ครั้งนี้ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงอัตลักษณ์ดังกล่าวนั้นเอง
บทความลำดับต่อไปของคอลัมน์นี้ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาขยายความเรื่องการประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1947 โปรดติดตามครับ