xs
xsm
sm
md
lg

17 สิงหาคม ลุ้นสนช. รับกม.สี่ชั่วโคตร-อีกดอกปราบโกง !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

** หากนับตามตารางเวลาก็จะพบว่า วันที่ 17 สิงหาคม เป็นวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.... หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายเอาผิด 4 ชั่วโคตร หรือ กฎหมาย 4 ชั่วโคตร อะไรประมาณนั้น หลังจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา
สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการปราบปรามการทุจริตภายในชาติ ที่เกาะกินบ้านเมืองจนฝังลึกจนยากแก่การเยียวยาแล้ว แต่เมื่อมีความพยายาม ก็ต้องให้กำลังใจจะช่วยลุ้นให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการในวาระแรก ให้ได้ก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการเสนอและผ่านสภาจนเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ในยุคสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือในยุค คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ในปี 2550 แต่ปัญหาก็คือความ "ยาก" ของการผลักดันให้มันเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ ซึ่งในยุคที่ผ่านมา กว่าจะดันให้ผ่านสภาไปได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็น แม้ว่าจะเป็นสภาในยุคเผด็จการก็ตาม แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้าน ไม่ต้องการให้ผ่านสภา โดยอ้างว่าเข้มงวดมากเกินไป อาจทำให้คนเก่งๆ ไม่อยากเข้ามารับราชการ เพราะกฎหมายฉบับนี้เดิมมีการให้ฉายาว่า "กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร" แต่ถึงอย่างในที่สุดกฎหมายที่เคยผ่านสภาในตอนนั้น ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ชี้เมื่อปี 2551 ว่า การพิจารณาร่างกฎหมายมิชอบ ต้องตกไปแล้ว ใช้บังคับไม่ได้
ล่วงมาถึงตอนนี้ที่มีการปัดฝุ่นนำมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่กว่าจะเดินมาถึงตรงนี้ได้ ก็มีเส้นทางคดเคี้ยว ยากลำบากพอดูอีกเหมือนกัน เริ่มจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผลักดัน มีการปรับแก้ไขให้ทันยุคสมัย จากเดิมที่เรียกว่า 7 ชั่วโคตร ก็เหลือเพียงแค่ 4 ชั่วโคตร ในระดับเครือญาติ ในครอบครัวแบบสายตรง
เมื่อรวบรัดตัดความถึงเส้นทางของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากที่ สปช. หมดวาระลง และเริ่มใหม่เป็น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ก็สานต่อและใช้ร่างเดิมที่ สปช. เคยพิจารณาเอาไว้มาใช้ และเสนอต่อไปให้รัฐบาลพิจารณา และเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากนั้นตามขั้นตอนก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เป็นการพิจารณาวาระแรก ว่าจะผ่านหรือไม่
**สำหรับสาระสำคัญของ"กฎหมายสี่ชั่วโคตร" ก็จะกำหนดเอาไว้ว่า สิ่งไหนที่ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ทุกองค์กร ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ทำได้ หรือไม่ได้ มีการระบุความผิดเอาไว้ ในลักษณะที่เรียกแบบที่รู้กันว่า เพื่อป้องกัน"ผลประโยชน์ทับซ้อน" ซึ่งหากมีการกระทำความผิดก็จะต้องตรวจสอบไปถึงญาติพี่น้อง พ่อแม่ ลูกเมีย เป็นต้น
แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้หลายคนมีส่วนร่วมในการผลักดัน แต่ในจำนวนนั้น ที่ต้องเอ่ยถึงก็คือ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสปท. ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตลอด
ก่อนหน้านี้หากจำกันได้ เขามีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ทำเอาพวกนักการเมืองร้องจ๊ากกันอยู่ในเวลานี้ ทั้งในเรื่องระบบไพรมารีโหวต ที่บังคับให้ทุกพรรคต้องมีการหยั่งเสียง หาตัวแทนพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งเอง ตัดทางหากินของพวกนายทุนพรรค ที่เคยประมูลหาตัวผู้สมัคร และคัดเลือกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ยังมีเส้นทางอีกยาวไกล หากจะให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ แต่ก็ถือว่าไม่ได้ไกลเกินเอื้อม เพราะเหมือนกับว่า เคยมีการถางทางเอาไว้ และที่สำคัญ คณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบมาแล้ว จึงมั่นใจได้ว่า สนช. ก็น่าจะผ่านวาระแรกไปได้ ส่วนในวาระที่ 2 และ 3 ผลจะออกมาแบบไหน จะมีการปรับแก้ไขสาระสำคัญไปอีกมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
แต่หากผ่านมาบังคับใช้ได้ ก็ถือว่าเป็นการ "ต่อจิ๊กซอว์ให้ครบวงจร" เพราะก่อนหน้านี้มีการผ่านกฎหมาย จนมีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือ "ศาลปราบโกง" และเริ่มลงดาบฟาดฟันพวกข้าราชการขี้โกงไปแล้วหลายราย เรียกเสียงซี๊ดซ๊าด จากสังคมมาแล้ว ดังนั้นหากมีกฎหมายจัดการกับพวกข้าราชการโกง ที่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนที่ทุจริต "มีผลประโยชน์ทับซ้อน" ก็ต้องถูกนำมาขึ้นศาลปราบโกง ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
**ดังนั้นในเบื้องต้นก็ต้องลุ้นให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.... หรือกฎหมายสี่ชั่วโคตร ในวาระแรกไปก่อน ซึ่งก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป !!
กำลังโหลดความคิดเห็น