xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ข้อเท็จจริง“ท้องถิ่น”ค้างหนี้ สปสช.เท่าไร ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นจำนวนเงิน 264,685.98 ล้านบาท โดยจัดสรรรายการเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น จำนวน 6,991.8050 ล้านบาท เพื่อให้คนท้องถิ่นกว่า 162,316 คน ใน 7,853 แห่ง มีความมั่นคง รวมทั้งมีหลักประกันด้านสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงในการทำงานของข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น
 
แต่ข้อมูลล่าสุด กลับพบว่า“เงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ” ??

ข้อมูลเพื่อการแก้ปัญหา ถูกส่งถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รวมถึงคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) หรือ บอร์ด ก.ก.ถ. ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

และจนถึงขณะนี้ ก็น่าจะเห็นชอบแนวทางการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ว่าด้วย“เงินอุดหนุนสำหรับคำใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น”ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการเงินการคลังและงบประมาณ ก.ก.ถ. เสนอ (ประชุม 10 ส.ค.60)
 
งบประมาณดังกล่าว จะจัดสรร (อุดหนุน) เพื่อเป็นเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ และภารกิจถ่ายโอนได้รับการจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 50,985.42 ล้านบาท โดยกันไว้เป็นเงินเพื่อการรักษาพยาบาล ให้กับ สปสช. จำนวน 2,000 ล้านบาท **

กล่าวคือ เป็นงบประมาณคืนให้กับ“สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)”ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ “ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น” เช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หลังจาก ก.ก.ถ. ให้กันเงินจำนวน 3,000 ล้านบาท รายการเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอนให้แก่ สปสช. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นแล้วในกรณีเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลที่ตั้งไว้ ซึ่งในปีนั้นก็ไม่เพียงพอเช่นกัน

เรื่องนี้ มีความเป็นมาว่า สปสช. กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ในการจัดตั้ง "กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล”สำหรับบุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2540 ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแยกเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของบุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าว

ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดรายการเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นไว้ในประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กำหนดจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,567,500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ข้อเท็จจริงของ“สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างของ อปท.”ได้รายงานสรุปผลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2559 และประมาณการเบิกจ่าย ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และ พ.ศ. 2561 ว่า งบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่าย ดังนี้

ปีงบประมาณ 2557 งบประมาณที่ได้รับหลังหักค่าบริหาร (งบอุดหนุน) 5,001,020,750 บาท ข้อมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) 3,421,282,629 บาท เงินคงเหลือ 1,537,728,058 บาท

ปีงบประมาณ 2558 งบประมาณที่ได้รับหลังหักค่าบริหาร (งบอุดหนุน) 4,001,020,750 บาท ข้อมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) 4,659,269,632 บาท เงินคงเหลือ 685,248,882 บาท

ปีงบประมาณ 2559 งบประมาณที่ได้รับหลังหักค่าบริหาร (งบอุดหนุน) 3,581,206,954, บาท ข้อมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) 5,596,157,804 บาท เงินคงเหลือ 2,014,950,850 บาท

ปีงบประมาณ 2560 (ข้อมูลประมาณการเบิกจ่าย) งบประมาณที่ได้รับหลังหักค่าบริหาร (งบอุดหนุน) 4,500,000,000, บาท ข้อมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) 6,054,176,350 บาท เงินคงเหลือ 1,554,176,350 บาท

ปีงบประมาณ 2557-2560 พบว่ามีการเบิกจ่าย 2,647,648,024 บาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 มีการจัดทำข้อมูลประมาณการ ข้อมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) 6,357,980,400 บาท
 
หากนำตัวเลขข้างต้นมารวมกัน จะพบว่า ปีงบประมาณ 2557-2561 จะเป็นงบประมาณที่ได้รับหลังหักค่าบริหาร (งบอุดหนุน) 17,083,248,454 บาท เป็นมูลค่ารักษาพยาบาล (เบิกจ่าย) ทั้งสิ้น 26,128,876,878 บาท

คณะอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างของ อปท สรุปว่า เงินที่จะต้องขอรับการจัดสรร จากรัฐในปี 2561 รวมทั้งสิ้น 9,045,628,424 บาท (ผลการเบิกจ่ายสรุปได้ว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ขาดไปตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2560 จำนวน 2,647,648,024 บาท รวมกับประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำนวน 6,397,980,400 บาท)

ขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้นกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ดำเนินการขออนุมัติเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นรายการเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการ พนักงานท้องถิ่น และลูกจ้างในสังกัด อปท. ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งนี้ สถ.ได้ขอความร่วมมือให้ สปสช. ยึดถือตามหลักการข้อตกลง (MOU)ที่ได้ตกลงกันไว้

เรื่องนี้เมื่อไม่กี่วัน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบแผนระยะยาวในงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป เสนอให้ ก.ก.ถ. สำรองเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่และภารกิจการถ่ายโอน จำนวน 3,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ปี 2561 ที่ อปท.ได้รับจัดสรรจำนวน 6,991.81 ล้านบาท

ข้อมูลจาก“นพ.โสภณ เมฆธน”ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ขณะนี้ค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างของ อปท. ค้างจ่ายต่อสถานพยาบาล ประมาณ 1,100 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2560 จะค้างจ่ายทั้งสิ้น 1,500 -2,000 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณในส่วนนี้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว แต่สถานพยาบาล ยังต้องให้การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามสิทธิ์นี้
 
อีกปัญหาหนึ่ง อปท.กำลังปวดหัว กรณีที่เกิดการท้วงติงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนท้องถิ่นต้องยึดตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้อปท. เกิดความไม่มั่นใจการดำเนินงานกองทุนตามประกาศของสปสช. และเห็นว่า เรื่องนี้ต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับ แม้ว่าในปี 2550 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะเคยมีประกาศให้ดำเนินการตามระเบียบของ สปสช.แล้วก็ตาม
 
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน มีงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สะสม ที่รอการเบิกจ่ายจาก อปท. ทั่วประเทศกว่า 7,000 ล้านบาท

ในประเด็นนี้ คนมหาดไทยเห็นว่า น่าจะเกิดจากระเบียบการเบิกจ่ายที่ไม่ชัดเจน ทำให้อปท. เกิดความไม่มั่นใจ หลังถูกทักท้วงจากสตง. ล่าสุด มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทย สปสช. อปท. และ สตง. เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่ชัดเจน โดย สปสช. เป็นเจ้าภาพ โดยตั้งเป้าว่า จะให้มีการแก้ไขปัญหาระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ
 
ทั้ง 2 ประเด็น ถือเป็นปัญหาด้านงบประมาณสาธารณสุข ของคนท้องถิ่น .


กำลังโหลดความคิดเห็น