ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สังเวียนตำรวจ
เรื่องหนักหนาสาหัสของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือปัญหาเศรษฐกิจ แม้บรรดานักพยากรณ์เศรษฐกิจไทย จะแห่กันฟันธงว่าช่วงปลายปีนี้จะกระเตื้องขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงคนไทยทั้งระดับกลาง ระดับล่างมีเงินในกระเป๋า เหลือเงินเก็บคนละเท่าไหร่ หนี้สินลดลงไหม หรือเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่คงมีคำตอบคล้ายๆกัน คือลำบากมาก ถึงลำบากมากที่สุด
เขียนมาลอยๆแบบนี้ ถ้ายังเป็นนามธรรมมากเกินไปลองมาฟัง คุณฐนิวรณ์รณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อหลายวันก่อน โดยระบุว่าสถานการณ์ภัตตาคาร ร้านอาหาร ในช่วงปีนี้ส่วนใหญ่อาการไม่สู้ดี แม้คนรวยจะยังคงใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยกันตามปกติ แต่ชนชั้นกลาง คนชั้นล่าง ลำบากที่สุดเห็นจากหายไปจากร้านอาหารถึงขนาดข้าวเหนียวส้มตำ ไก่ย่าง ยังขายไม่ออก
การลงทุนในภาครัฐ ทั้งในโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ หลายหมื่นล้าน หรือแสนๆล้าน โครงการขนาดกลาง ขนาดเล็ก เม็ดเงินไม่รู้ไปอยู่ไหน
นักพยากรณ์เศรษฐกิจบอกว่า ไตรมาส 3 สภาพการค้าขายจะดีขึ้น คล่องตัวขึ้น แต่อีกความจริงในแวดวงสื่อสารมวลชน มีโทรทัศน์ใหญ่ช่องหนึ่งกำลังวิกฤติอย่างหนัก ถึงขั้นเจ๊งกันง่ายๆ หากกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นไม่เข้าไปจัดการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
เศรษฐกิจแย่ ผู้คนลำบาก คนจนชินชาอยู่แล้ว แต่ที่ปรับตัวไม่ทันน่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง บ้าน คอนโดมิเนียม รถยนต์ ถ้าอยู่ระหว่างผ่อนมีการนำเงินในอนาคตมาใช้แบบประมาท มีสิทธิ์ถูกยึด หรือต้องขายทิ้งเพื่อประคองสถานการณ์
ภัตตาคาร-ร้านอาหาร กำลังแย่ ข้าวแกง กับสำเร็จรูปหรือกับข้าวถุง กำลังได้รับความนิยม เดี๋ยวนี้แม้แต่หุงข้าวกินเองก็ไม่คุ้มต้องหาซื้อข้าวนึ่งตามตลาดนัด ถุงละ 5-6 บาท บางคนไข่ต้ม มาม่า ปลากระป๋อง แบบผูกปีกันเลยทีเดียว
คนในเมืองอยู่ในอาการนี้ ส่วนเกษตรกรไม่ต้องพูดถึง ราคายาง ราคาข้าว ผลหมากรากไม้ มีทุเรียนตัวเดียวที่ได้ราคานอกนั้นสาละวันเตี้ยลง เช่น ลำไย ราคาจากสวนกิโลกรัมละไม่กี่บาท จ้างคนมาเก็บยังไม่คุ้ม จึงปล่อยให้เน่าคาสวน รัฐบาลทนไม่ได้ ต้องให้กรมราชทัณฑ์ช่วยเหมาซื้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดอะไรไม่ออก ต้องจ้างคุณน้อง “ลำไย ไหทองคำ” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ กะว่าจะเกิดกระแสนิยมขึ้นมาบ้าง ซึ่งขอโทษที่อยากจะบอกว่ามันไม่น่าเกี่ยวกันเลย
คนจนลำบาก มาถึงเรื่องคนไทยชอบของฟรี และของถูก จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกันอย่างไร ขอหยิบกรณีที่ นายพิสิฐ รังสฤษ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาเขย่าร้านค้าทุกอย่าง 20 บาท ว่าถ้ายังมีการขายสินค้าผิดกฎหมาย จะจับกุมดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด
มีการระบุโทษไว้ด้วยว่า ปรับขั้นต่ำ 5 พันบาท ถึง 5 หมื่นบาท และทั้งปรับทั้งจำ จนเกิดเป็นประเด็นในโลกโซเชียลฯซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ลุกลามใหญ่โตยิ่งกว่าไฟไหม้สำเพ็งซะอีก
สินค้าที่ สมอ.ขอร้อง-ขอความร่วมมือ ห้ามขาย หรือถ้าจะขายก็ต้องระมัดระวังนั่นคือ 1. ไม้ขีดไฟ 2. ผงซักฟอก (มีแต่แป้งกับสารเคมีอันตราย) 3. ของเล่น ที่มีสารปรอทเคลือบเมื่อเด็กเอาไปอมจะเกิดอันตราย 4. ไฟแช็ค 5. หัวยมยางของเด็ก (ถ้าไม่ได้มาตรฐานจะมีสารโลหะหนักปนเปื้อนก่อมะเร็งได้) 6. พลาสติกหุ้มอาหาร 7. แอลกอฮอล์ก้อนใช้อุ่นอาหาร (อันตรายจากการสูดดมเสี่ยงมะเร็งปอด) 8. สีเทียน และอื่นๆ
กระแสที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แยกเป็นส่วนแรกคือ คนไทยต้องการประหยัด ไม่มีเงิน เป็นสินค้าที่ตอบโจทก์คนยากจน และที่สำคัญยังสามารถเป็นร้านเป็นอาชีพได้ แต่กลุ่มที่อยากให้มีการจัดระเบียบระบุว่า ก็เพราะชอบของถูกนี่แหละจึงทำให้เกิดอันตราย โดยยกตัวอย่างปลั๊กไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดอัคคีภัย และเสียชีวิต เพราะไฟช๊อตกันมากนักต่อนักแล้ว
แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครพูดนั่นก็คือ มีขบวนการที่ได้รับประโยชน์จากสินค้าไร้มาตรฐานประเภทนี้ นั่นก็คือกลุ่มนายทุน และเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน ว่ากันตรงๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของ สมอ.เอง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ (บางคน) จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( ปอศ.)
สินค้าพวกนี้บางรายการผิดกฎหมายอย่างไร ใครเป็นนายทุนใหญ่...มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในบรรดาสินค้าหลายร้อยรายการที่จัดส่งวางขายในร้าน 20 บาททุกอย่างนั้น มีบางรายการไม่ได้มาตรฐาน มอก. ตามที่ระบุไว้ รวมทั้งหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหลาย ประเภทต่อไปคือ สินค้าเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ สุดท้ายคือสินค้าหนีภาษี
ในแวดวงเจ้าหน้าที่ทราบดีกันว่า นายทุนใหญ่เจ้าของโรงงานผลิต และผู้ขายแฟรนไชส์ คือนักธุรกิจใหญ่ชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันแปลงโฉมกลายเป็น “ไทยด่าง” ไปเรียบร้อยแล้ว มีโรงงงานและโกดัง ตั้งอยู่แถวบางพลี จ.สมุทรปราการ ใช้ชื่อบริษัท D- i-!!-??
เมื่อเกิดปัญหาถูกจับ (เพราะจ่ายไม่ครบ) จะอ้างนักการเมืองคนดังแห่ง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของรีสอร์ตใหญ่แห่งหนึ่ง และเคยถูกคณะทำงานของ คสช. ไปตรวจสอบมาแล้วฐานรุกป่า ให้การช่วยเหลือ ข่มขู่บ้าง ขอร้องบ้าง หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บ้างสุดแท้จะว่ากันไปตามแต่ความยาก ความง่าย
การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ในส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่ง สมอ.ทนไม่ไหว ต้องลงมาจัดระเบียบนั้นแน่นอนว่าผู้เสียผลประโยชน์จะต้องโวยวาย...กลายเป็นกระแสรัฐบาลแกล้งคนจน เอาใจนายทุน ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ การคุ้มครองไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะคนจนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของนักธุรกิจเห็นแก่ตัวผู้นี้ได้รู้เท่าทัน
อันตรายจากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน แม้มันไม่เห็นผลในวันนี้พรุ่งนี้ แต่แน่นอนว่าไม่ช้าลูกหลาน คนที่เรารัก หรือตัวเรา ต้องจะต้องล้มป่วยด้วยโรคร้ายอันสืบเนื่องมาจากการไม่รู้เท่าทัน หรือชอบของดีราคาถูก ซึ่งมันไม่มีจริงในโลก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องของแพงเท่านั้น จึงจะดีเลิศ หรือได้มาตรฐาน
การรู้เท่าทันเหลี่ยมพ่อค้าเห็นแก่ได้ มันขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเรา และการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ของหน่วยงานรัฐ โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างต่างหาก คือเกราะคุ้มกันตัวเรา และลูกหลานของเรา