xs
xsm
sm
md
lg

7 ตุลาฯ ป่าเถื่อนโดยชอบ?

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา


คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้หัวใจของกลุ่มพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแทบแตกสลาย

เพราะไม่มีใครต้องรับผิดจากการใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม จนเกิดบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

จำเลยทั้ง 4 คน ประกอบด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกตัดสินว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

คำพิพากษาศาลระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยปิดล้อมบริเวณรัฐสภา เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้สงบสันติ มีการตรวจพบอาวุธในภายหลัง จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากหนักไปหาเบา

แม้เหตุการณ์จะทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แต่ในสถานการณ์ขณะนั้นเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรู้ว่า แก๊สน้ำตาก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบ

และขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่อาจอนุมานได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม และฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือชีวิต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬผ่านมาแล้วเกือบ 9 ปีเต็ม แต่ความทรงจำของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังอยู่ การใช้ความรุนแรง การแสดงความป่าเถื่อน พฤติกรรมอันโหดร้ายที่ตำรวจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมยังจำกันฝังใจ เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ประมาณ 06.15 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ตำรวจได้เปิดฉากถล่มใส่ประชาชนด้วยแก๊สน้ำตา ยิงมาเหมือนห่าฝน จนบริเวณหน้ารัฐสภาไม่แตกต่างจากสมรภูมิรบ เสียงระเบิดจากแก๊สน้ำตาดังสนั่นหวั่นไหว กลุ่มผู้ชุมนุมล้มลงเหมือนใบไม้ร่วง

แผนการควบคุมการชุมนุม เริ่มต้นด้วยมาตรการหนัก ไม่มีคำเตือนใดๆ จากตำรวจ มีแต่เสียงตะโกนให้กระหน่ำยิงแก๊สน้ำตาใส่อย่างไม่เลี้ยง

สายวันเดียวกัน ประมาณ 09.00 น.เศษ พล.อ.ชวลิตได้แสดงความรับผิดชอบในการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยประกาศลาออกจากตำแหน่ง

พล.อ.ชวลิตน่าจะอนุมานได้ว่า การสลายการชุมนุมกลายเป็นเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลาย จนประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บจำนวนมาก จึงรับไม่ได้กับการปราบปรามประชาชน

ถ้านายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรง คำนึงถึงชีวิตของประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุม และรับไม่ได้กับปฏิบัติการอันป่าเถื่อนของตำรวจเหมือนพล.อ.ชวลิต เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ คงยุติลงในช่วงเช้า และความสูญเสียของประชาชนอาจบรรเทาลง

แต่จำเลยอีก 3 คน ไม่มีความตระหนักถึงความสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจึงดำเนินต่อไป ตั้งแต่เช้าตรู่จนพลบค่ำ

การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ประชาชนกลับถูกปราบปรามอย่างป่าเถื่อน

มีผู้ถูกสังหาร แต่ไม่มีฆาตกร มีภาพหลักฐานพล.ต.ท.ลือชัย สุดยอด ปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่ง มีภาพตำรวจเตะกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและล้มลงอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีตำรวจแม้แต่คนเดียวที่ต้องรับโทษจากปฏิบัติการอันป่าเถื่อน

ถ้าพล.อ.ชวลิตเป็นจำเลยเพียงคนเดียวที่ได้รับการละเว้นโทษ ประชาชนที่ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายสมชายคงพอยอมรับได้ แต่จำเลยทั้ง 4 คน ไม่มีใครต้องรับผิด ประชาชนจะทำใจยอมรับได้อย่างไร

คำตัดสินของศาลในคดี 7 ตุลาฯ กำลังนำไปสู่ความกังวล ในบรรทัดฐานการปฏิบัติของตำรวจ โดยการสลายการชุมนุมของประชาชนในอนาคต ตำรวจจะย่ามใจในการใช้ความรุนแรง และเกิดการบาดเจ็บล้มตายกันอีก

การอุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ เป็นแนวทางการต่อสู้ทางกฎหมาย แต่แทบไม่มีใครหวังว่า จะเปลี่ยนคำตัดสินของศาลได้ เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดนี้ ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะนำคนผิดมาลงโทษตั้งแต่แรกแล้ว

แต่การไล่ล่าฆาตกรคดี 7 ตุลาฯ ยังไม่ถึงทางตันเสียทีเดียว เพราะผู้ที่เสียหาย ญาติผู้ชุมนุมที่ล้มตาย กลุ่มผู้ชุมนุมที่พิการหรือได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมอันป่าเถื่อนของตำรวจ สามารถยื่นฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา นายสมชาย และตำรวจเป็นรายบุคคลได้

และควรดำเนินคดีกลุ่มฆาตกรให้ถึงที่สุด เพราะ 7 ตุลาฯ นายสมชาย และตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยความอาฆาต หมายเอาให้ตาย จนมีผู้สังเวยชีวิตไป 2 ราย บาดเจ็บอีก 471 ราย พิการอีกนับสิบ

ประชาชนที่ถูกทำร้าย จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะตามจองเวรนายสมชายและตำรวจ โดยยื่นฟ้องเป็นรายบุคคลได้

จะปล่อยให้ปฏิบัติการอันป่าเถื่อนในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นความป่าเถื่อนที่ชอบธรรมไม่ได้ และจะปล่อยให้ฆาตกรคดี 7 ตุลาฯ หลุดรอดลอยนวลไม่ได้เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น