xs
xsm
sm
md
lg

ภิกขุภาวะ : ความต่างจากคฤหัสถ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ภิกขุภาวะ หมายถึงความเป็นและความมีของภิกขุหรือภิกษุ ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา และมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ทั้งในแง่ของความเป็นและความมีดังนี้

1. ในแง่ของความเป็นภิกษุเป็นอนาคาริก คือ เป็นผู้ไม่มีครอบครัว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดู ดังนั้น จึงไม่ต้องทำมาหากินเยี่ยงคฤหัสถ์ซึ่งเป็นอนาคาริกคือมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู

2. ภิกษุมีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยผู้อื่นด้วยการเป็นผู้รับปัจจัย 4 เท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากผู้ให้ที่มีศรัทธา ดังนั้น ภิกขุมีความหมายตามตัวอักษรว่าผู้ขอ

3. เมื่อเป็นอนาคาริกและมีชีวิตโดยอาศัยผู้อื่น จึงไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเงินทองเป็นของตนเองมากไปกว่าบริขาร 8 ประการได้แก่ บาตร ไตร จีวร (สบง จีวร และสังฆาฏิ มีดโกน หินลับมีด กระบอกกรองน้ำ และกล่องเข็มพร้อมด้ายด้วย)

แต่ในปัจจุบัน พระภิกษุโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุฝ่ายคามวาสีหรือพระบ้านได้รับอิทธิพลจากกระแสวัตถุนิยมของสังคมเมือง จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นจากบริขาร 8 มากมายหลายชนิด เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ส่วนว่าการมีแล้วเหมาะสมกับภิกขุภาวะหรือไม่ และมากน้อยเพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาและวัตถุประสงค์ในการใช้สอย ถ้ามีผู้ถวายให้ด้วยความศรัทธาและใช้สอยในกิจการพระศาสนา เช่น เผยแพร่คำสอนของพระพุทธองค์ ก็ไม่ถือว่าขัดต่อภิกขุภาวะ และไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

แต่ถ้าพระภิกษุขวนขวายจัดหามาเอง และใช้สอยเป็นการส่วนตัว เช่น ดูหนังฟังเพลง เป็นต้น ก็ไม่เหมาะต่อภิกขุภาวะแน่นอน การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในลักษณะนี้ จะต้องมีการสอดส่องดูแลแก้ไขและกำหนดมาตรการป้องกันจากสงฆ์ฝ่ายปกครอง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในปัจจุบันอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น โทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นดาบสองคม ถ้าใช้ในทางที่ดีก็จะมีประโยชน์คุ้มค่า แต่ถ้าใช้ในทางที่ไม่ดีนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้แล้ว ยังให้โทษแก่ผู้ใช้ด้วย

2. ในปัจจุบันประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรจำนวนแสน และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้มีศีลวิบัติ อาจารวิบัติ และทิฏฐิวิบัติ และภิกษุสามเณรประเภทนี้เองที่ใช้ส่วนเกินจากบริขาร 8 ในทางที่ผิดศีลและผิดธรรม

3. จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เท่าที่ผู้เขียนได้รับรู้จากสื่อและจากคำบอกเล่าจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางศาสนาเกี่ยวกับการแก้ไข และป้องกันพฤติกรรมในทางลบของพระภิกษุสามเณร พออนุมานได้ว่าศักยภาพในการปกครองสงฆ์ขององค์กรปกครองสงฆ์คือ มหาเถรสมาคมหรือ มส.รวมไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลแก้ไขปัญหาในวงการสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

มีสำนักปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นมากมาย และแต่ละสำนักได้นำพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นจุดขาย โดยการอธิบายขยายความให้ผิดแผกไปจากเดิม เช่น พระนิพพานเป็นอัตตา พระภิกษุมีศีลเพียง 150 ข้อไม่ฉันเนื้อสัตว์ เป็นต้น มาเป็นจุดขายเพื่อเรียกศรัทธาจากชาวพุทธผู้เบื่อหน่ายการสอนแบบเก่าๆ และต้องการลองของใหม่ ครั้นมีผู้นับถือมากขึ้นก็หลงตัวเองตั้งตนเป็นสำนักอิสระ แข็งข้อต่อสงฆ์ฝ่ายปกครอง หรือไม่ก็ดึงเอาสงฆ์ฝ่ายปกครองมาเป็นพวกของตน โดยเสนอผลประโยชน์ให้จึงทำให้ฝ่ายปกครองมองข้ามความผิดที่อยู่แล้วมีพฤติกรรมเหิมเกริมถึงขั้นแสวงประโยชน์ในทางมิชอบ ผิดทั้งศีลและกฎหมาย เช่น ร่วมกันฟอกเงินและนำเงินบริจาคไปลงทุนเล่นหุ้น เป็นต้น

เมื่อเกิดพฤติการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ผู้คนในสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ที่นับถือกับฝ่ายที่ต่อต้านจนกลายเป็นความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ทั้งๆ ปกติบอกว่านับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้ เนื่องจากสงฆ์ฝ่ายปกครองขาดความเด็ดขาด และชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ไม่ศึกษาหาความจริง อะไรคือพุทธแท้ และอะไรคือพุทธเทียม จึงเป็นช่องว่างให้ภิกษุประเภทใช้เพศและภาวะของนักบวชแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ดังที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

จะทำอย่างไร จึงจะป้องกันมิให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาในพระพุทธศาสนา และถ้ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาแล้วจะทำอย่างไร?

เริ่มด้วยประเด็นแรกคือ การป้องกันมิให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาในพระพุทธศาสนา และเพื่อจะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูประเพณีการบรรพชาอุปสมบทของชายไทยในอดีต ก็จะพบว่าผู้ที่จะบวช จะต้องไปอยู่วัดกับพระก่อนระยะหนึ่ง เพื่อหัดท่องคำขอบรรพชาอุปสมบท รวมไปถึงการท่องบทสวดมนต์ซึ่งพระบวชใหม่หรือพระนวกะจำเป็นต้องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

อีกประการหนึ่ง การไปอยู่วัดกับพระก่อนบวชเป็นการทดสอบความอดทน และฝึกฝนจิตใจเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเป็นพระ ถ้าอดทนไม่ได้ก็ยกเลิกการบวชไป

ประการสุดท้าย เมื่อบวชแล้วจะต้องอยู่กับอุปัชฌาย์หรือพระพี่เลี้ยงที่พระอุปัชฌาย์มอบหมายให้เป็นผู้ดูแลเป็นเวลา 5 พรรษา เพื่อเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติ

พระภิกษุที่ผ่านการบวชตามขั้นตอนแบบนี้ จึงมีความรู้ มีความเข้าใจพระธรรมวินัย และประเพณีปฏิบัติของภิกษุสงฆ์เป็นอย่างดี

แต่ในปัจจุบันการบวชส่วนหนึ่งเป็นไปแบบสุกเอาเผากิน เช่น ในบางวัดผู้ที่จะบวชท่องคำขอบรรพชาอุปสมบทไม่ได้ พระอุปัชฌาย์บอกให้ว่าตามก็มี และบวชแล้วปล่อยไปตามยถากรรมไม่มีการสอน การอบรมเป็นกิจจะลักษณะตามที่กำหนดไว้ในพระวินัย ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องที่คนเคยบวชมาแล้ว ไม่รู้ ไม่เข้าใจพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติผิดๆ ให้เห็นอยู่ดาษดื่น โดยเฉพาะในหมู่ภิกษุฝ่ายคามวาสี

ยิ่งกว่านี้ในปัจจุบันมีการบวช 7 วัน และ 15 วันกันมากขึ้น จะด้วยมีความจำเป็นในหน้าที่การงาน หรือจะด้วยขัดพ่อแม่ที่ขอให้บวชไม่ได้ จึงทำให้การบวชในทำนองนี้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะให้การบวชมีประโยชน์ ทั้งแก่ตัวผู้บวชเอง และสังคมโดยรวม จะต้องมีการทบทวนการบวชเสียใหม่ โดยยึดพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่คุณสมบัติของผู้ที่จะบวช และคุณสมบัติของพระอุปัชฌาย์จะต้องมีการทบทวนให้เป็นไปตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ความประพฤติของพระดีขึ้น และผู้ที่บวชได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น