xs
xsm
sm
md
lg

ภิกษุไม่เคารพวินัย : เหตุให้ต้องมีกฎหมายสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระวินัยได้แก่ข้อห้าม และข้ออนุญาตที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติเพื่อใช้ปกครองสังฆมณฑลให้เป็นระเบียบ เหมาะสมกับเพศและภาวะของนักบวช ทั้งสอดคล้องกับกาลสมัย มิได้เป็นกฎตายตัวหรือเป็นอมตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออกาลิโกเช่นเดียวกันกับธรรมะ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ต่อไปข้างหน้าถ้าสงฆ์ปรารถนาจะแก้ในสิกขาบทเล็กน้อย ก็ให้แก้ไขได้ (โดยให้สงฆ์ประชุมกันและลงมติในการแก้ไข)

อีกประการหนึ่ง พระพุทธองค์ได้บัญญัติมหาปเทส 4 เพื่อเป็นบทเทียบเคียงหรือเป็นบทปรับใช้พระวินัยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตดังนี้

1. สิ่งที่มิได้ทรงห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ค้านกับสิ่งที่ควร กับนับได้ว่าไม่ควร

2. สิ่งที่มิได้ห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ค้านกับสิ่งที่ไม่ควร นับว่าควร

3. สิ่งที่มิได้อนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ค้านก็ไม่ควร

4. สิ่งที่มิได้ทรงอนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ค้านกับสิ่งที่ไม่ควร ก็นับว่าควร

ส่วนกฎหมายปกครองสงฆ์ได้แก่ บทบัญญัติทางด้านกฎหมายที่ทางฝ่ายอาณาจักรตราขึ้นเพื่อเป็นมาตรการเสริม หรือเอื้อต่อการใช้พระวินัยในการปกครองสังฆมณฑลให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่กฎหมายจะต้องไม่ขัดแย้งกับพระวินัย

ถึงแม้วงการสงฆ์ไทยนิกายเถรวาท มีทั้งพระวินัย และกฎหมายควบคุมอยู่ แต่ก็ยังมีภิกษุสามเณรจำนวนไม่น้อย ล่วงละเมิดพระวินัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก มีโทษถึงขั้นต้องพ้นจากภิกษุในทันที และจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์ฉบับ 2505 ให้สึกภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่ได้รับทราบคำวินิจฉัยถึงที่สุด แต่ก็ดื้อแพ่งไม่ยอมทำตามทั้งพระวินัยและกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากกรณีของพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ การปฏิรูปศาสนาพุทธจึงถูกกำหนดขึ้นควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม และจริยธรรม

ในการปฏิรูปพุทธศาสนาได้มีผู้เสนอให้มีการทำบัญชีแสดงทรัพย์สินของวัด และของพระภิกษุเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ

อันที่จริงเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สินของวัด ซึ่งทางพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นของสงฆ์ ในส่วนที่เป็นครุภัณฑ์จะต้องมอบหมายให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งควบคุมดูแลส่วนเงินทองที่มีผู้ถวายสงฆ์ หรือถวายวัดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั้น โดยกรรมการวัดที่สงฆ์ตั้งขึ้น แต่งตั้งไวยาวัจกรเข้ามารับผิดชอบดูแลภายใต้การควบคุมของกรรมการ

สำหรับทรัพย์ส่วนตัวของพระภิกษุได้แก่ 8 อย่างหรือที่เรียกว่า บริขาร 8 ได้แก่ ไตรจีวรคือ จีวร สบง และสังฆาฏิ รวมเป็น 3 บาตร มีดโกน หินลับมีด กล่องเข็ม และเครื่องกรองน้ำ

ส่วนเงินทอง พระวินัยห้ามมิให้พระภิกษุรับและเก็บไว้เป็นของตน แต่อนุญาตให้ไวยาวัจกรเก็บไว้ และเมื่อใดที่พระภิกษุต้องการปัจจัย 4 ก็บอกไวยาวัจกรให้จัดหาให้เป็นครั้งๆ ไป

โดยนัยแห่งพระวินัยบัญญัติแล้ว พระภิกษุมิได้เกี่ยวข้องกับการครอบครองทรัพย์สินเงินทอง จึงไม่จำเป็นต้องทำบัญชีแสดงทรัพย์สิน

แต่ในความเป็นจริง สงฆ์ไทยในปัจจุบันมีอยู่ ส่วนหนึ่งรับเงินและทองด้วยตนเอง ทั้งจัดเก็บไว้กับตนเอง หรือแม้กระทั่งฝากธนาคารในชื่อของตนเองก็มีอยู่ และที่แย่ยิ่งกว่านี้ ทรัพย์สินของสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัวของพระปะปนกันจนแยกไม่ออก ส่วนไหนเป็นของส่วนตัวพระ และส่วนไหนเป็นของสงฆ์ เนื่องจากพระวินัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกละเลย และนี่เองคือที่มาของการเรียกร้องให้มีการทำบัญชีแสดงทรัพย์สิน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

ในการนี้ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการจัดทำบัญชีแสดงทรัพย์สินของวัด โดยแบ่งวัดออกเป็น 2 กลุ่มด้วยการยึดรายได้ต่อปีเป็นเกณฑ์ดังนี้

1. วัดที่มีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ให้จัดทำบัญชีตามที่สำนักพุทธกำหนดในลักษณะของบัญชีครัวเรือน แสดงรายรับ และรายจ่ายทั่วๆ ไป

2. วัดที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้จัดทำบัญชีมาตรฐาน และมีผู้ตรวจสอบรับรองงบดุล

ผู้เขียนในฐานะที่เกี่ยวข้องกับกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านศาสนา วัฒนธรรม และจริยธรรม ได้ฟังข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นแล้ว อดคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาดังต่อไปนี้

1. รายได้ของวัดส่วนใหญ่มาจากการบริจาคทำบุญของผู้มีจิตศรัทธา จึงไม่มีความแน่นอนเรื่องจำนวนของรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก

1.1 วัดที่เจ้าอาวาสมีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น วัดบ้านไร่ในยุคที่หลวงพ่อคูณเป็นเจ้าอาวาสมีรายได้มาก หรือวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีผู้คนศรัทธามาก เช่น วัดโสธร ที่มีหลวงพ่อโสธรประจำอยู่ก็มีรายได้มาก

1.2 วัดที่มีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน และอาคารให้เช่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระอารามหลวงในเขตเมือง เมื่อนำรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินมารวมกับเงินบริจาคแล้วก็มีรายได้มาก

2. วัดที่ไม่มีลักษณะตามข้อ 1 ก็จะมีรายได้น้อยอย่าว่า 5 ล้านบาทต่อปีเลย แค่หลักพันหลักหมื่นเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ยังจะยาก

ดังนั้น วัดที่ว่านี้จะต้องทำบัญชีด้วยหรือไม่

3. ถ้าวัดใดไม่ทำหรือทำแต่หลีกเลี่ยงรูปแบบของบัญชี โดยการสำแดงรายได้อันเป็นเท็จ จะมีโทษหรือไม่และสถานใด

อีกประการหนึ่ง ที่จะนำแนวทางการทำบัญชีมาบังคับใช้กับวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ น่าจะได้ประชุมหารือกับวัดต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด โดยยึดแนวทางพระวินัย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ จึงค่อยใช้มาตรการทางกฎหมายน่าจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น