“กูเกิล” หนึ่งในห้ายักษ์ใหญ่ธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ประสบชัยชนะชั่วคราวในคดีพิพาทเรื่องภาษี เมื่อศาลปกครองฝรั่งเศส ตัดสินว่า กูเกิลไม่ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังมูลค่า 1.1 พันล้านยูโร ที่ถูกหน่วยงานด้านภาษีของฝรั่งเศสเรียกเก็บ
ทางการฝรั่งเศส กล่าวหาว่า กูเกิลเจตนาเลี่ยงภาษีระหว่างปี พ.ศ 2548-2553 โดยออกแบบโครงสร้างธุรกิจ ให้รายได้จากธุรกรรมในฝรั่งเศสไปเข้าบัญชีของกูเกิล ที่จดทะเบียนในประเทศไอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำ ในขณะที่กูเกิลฝรั่งเศสมีรายได้เพียงเล็กน้อย เสียภาษีปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 10 ล้านยูโร
กูเกิลในฝรั่งเศสมีพนักงานมากถึง 700 คน ซึ่งอ้างว่า เป็นหน่วยงานด้านสนับสนุนการตลาด มีรายได้ไม่มากนัก ส่วนหน่วยงานที่ขายโฆษณาดิจิตอลบนแพลตฟอร์มยูทิวบ์ หรือ เสิร์ช เอนจิน ซึ่งมีรายได้ปีละหลายร้อยล้านยูโร คือ กูเกิล ไอร์แลนด์
ศาลฝรั่งเศสตัดสินว่า กูเกิล ไอร์แลนด์ ไม่อยู่ใต้บังคับกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มของฝรั่งเศส จึงไม่ต้องเสียภาษี
คดีนี้ยังไม่จบ ทางการฝรั่งเศสจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป
กูเกิล เฟซบุ๊ก อเมซอน ฯลฯ กำลังถูกประเทศต่างๆ ทั่วโลกไล่ล่าเก็บภาษีรายได้ หรือที่เรียกกันว่า “กูเกิล แท็ก” (Google Tax) คือ ภาษีธุรกิจบนโลกออนไลน์
บริษัทเหล่านี้ ใช้วิธีโยกย้ายรายได้ซึ่งส่วนใหญ่เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมด มาจากการขายพื้นที่โฆษณาบนแพลตฟอร์มของตนเองที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ไปบันทึกเป็นรายได้ของสาขาที่จดทะเบียนในประเทศที่เสียภาษีในอัตราต่ำๆ ที่นิยมกันคือ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เคย์แมน ไอซ์แลนด์ และสิงคโปร์
ประเทศสมาชิกอียู พยายามกดดันเจรจาต่อรองให้บริษัทเหล่านี้บันทึกรายได้ให้ถูกต้อง การซื้อโฆษณาเกิดขึ้นที่ประเทศไหน รายได้ที่เกิดขึ้นก็ให้อยู่กับประเทศนั้นๆ และเสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรม และเสมอภาคกับธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์
ปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเลิกโยกรายได้ที่เกิดขึ้นในอังกฤษไปไอร์แลนด์ ยอมเสียภาษีเงินได้ในอังกฤษ หลังจากถูกทางการกดดันอยู่พักใหญ่
ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ที่มีรายได้เกิน 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งมีกิจการหรือมีรายได้จากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียมีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้มีเป้าหมายป้องกันการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติ เพื่อเลี่ยงภาษี และจูงใจให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีรายได้จากออนไลน์เสียภาษีให้ถูกต้อง
อินเดียเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายเก็บภาษี บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในอินเดียในอัตราที่สูง เพื่อกดดันให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทในประเทศ และเข้าสู่ระบบภาษี
ที่อินโดนีเซีย รัฐมนตรีคลังประกาศว่า การเจรจากับอัลฟาเบ็ต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลที่ยืดเยื้อมานาน สามารถบรรลุข้อตกลงว่า กูเกิลยอมจ่ายภาษีย้อนหลัง 5 ปี พร้อมกันนั้น ทางการอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ ต้องรายงานรายได้ที่เกิดขึ้น และเสียภาษีให้ถูกต้อง
สำหรับประเทศไทย ก็กำลังจะออกกฎหมายเก็บภาษีกูเกิล แท็ก โดยกรมสรรพากรเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดเก็บภาษี “e-Business” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนนี้
กฎหมายนี้จะครอบคลุมทุกธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้า และการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการดังกล่าวจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในไทย และเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย โดยมีอัตราสูงสุด 15% ของเงินได้
วิธีการคือ ให้สถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร ซึ่งเมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ จะมีแบบฟอร์มให้กับสถาบันการเงินในไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ทำธุรกรรมการโอนเงินใดๆ กรอกว่าการรับโอนเงินนั้น เป็นการรับโอนตามปกติ หรือเป็นการรับโอนในเชิงธุรกิจ จากนั้นสถาบันการเงินจะส่งแบบฟอร์มนี้กลับมากรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
การเก็บภาษีออนไลน์ถูกโจมตีว่า จะเป็นอุปสรรคขัดแย้งกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดกลาง เข้าไม่ถึงแพลตฟอร์ม ที่เป็นตลาดแห่งยุคสมัย
แต่ในความเป็นจริง กูเกิล แท็ก เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำธุรกิจ ไม่ว่า จะทำในแบบเดิมหรือแบบใหม่บนโลกออนไลน์ ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง เฟซบุ๊ก กูเกิล หรืออเมซอน ก็รู้ดี และยอมรับว่า มีรายได้ก็ต้องเสียภาษี อยู่ที่ว่าจะเสียอย่างไรให้ถูกต้องและเป็นธรรมกับธุรกิจอื่นๆ ที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้อาศัยช่องว่างทำกำไรไปมากแล้ว ถึงเวลาที่จะทำธุรกิจให้ถูกต้องแล้ว
กูเกิล แท็กกับไทยแลนด์ 4.0 เป็นคนละเรื่องกัน