ศาลฝรั่งเศสตัดสินเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) ว่า กูเกิล (Google) ไม่ต้องเสียภาษี 1.1 ล้านยูโรหรือประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกเก็บเพิ่มเติม งานนี้สะท้อนโอกาสเรื่องการเรียกเก็บภาษีจากกูเกิลที่อาจคดีพลิกในหลายประเทศ
ศาลปกครองกรุงปารีส วินิจฉัยว่า กูเกิลไอร์แลนด์ (Google Ireland Limited) ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงปี 2548-2553 ทำให้ข้อเรียกร้องในการชำระเงินภาษีย้อนหลังไม่สามารถทำได้
คำตัดสินที่กูเกิลได้รับ เกิดขึ้นเพราะคำแนะนำของที่ปรึกษาของศาลว่า กูเกิลไม่มี “สถานประกอบการถาวร” หรืออยู่ในสถานะต้องเสียภาษีตามที่รัฐบาลเมืองน้ำหอมเรียกเก็บย้อนหลัง แม้ว่ากูเกิลจะทำรายได้จากธุรกิจโฆษณาออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ไอทีบนแผ่นดินฝรั่งเศสอย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงเวลานั้นก็ตาม
ปัจจุบัน กูเกิลเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอัลฟาเบ็ต (Alphabet Inc) ในแถลงการณ์ระบุว่า กระทรวงการคลังฝรั่งเศสกำลังพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องอีกครั้งภายใน 2 เดือน หรือ 60 วันนับจากนี้
คดีนี้ถือเป็นคนละแนวกับคดีที่กูเกิล (Google) ถูกสหภาพยุโรป หรืออียู (European Union) ตัดสินว่า กูเกิลมีความผิดต้องชดใช้เงินมากกว่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท ฐานผูกขาดผลเสิร์ชจนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา แต่มีความคล้ายคลึงกับกรณีของอินโดนีเซีย และอังกฤษ ที่สามารถเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้แม้กูเกิลจะชี้แจงกับทั้ง 2 ประเทศว่า ไม่มีพนักงานรายใดในสำนักงานกูเกิลทั้ง 2 ประเทศ ที่มีหน้าที่ “ปิดการขายโฆษณา” เนื่องจากอำนาจในการปิดการขายนั้น อยู่ที่กูเกิลประเทศไอร์แลนด์ และกูเกิลสิงคโปร์เท่านั้น
กรณีของฝรั่งเศส อธิบายได้ง่ายว่า ในเมื่อไม่มีใครใน “กูเกิลประเทศฝรั่งเศส” ทำหน้าที่ปิดการขาย ฝรั่งเศสก็ไม่มีสิทธิเก็บภาษี แม้ว่าทีมงานกูเกิลประเทศฝรั่งเศสจะมีส่วนในการเจรจาการขายก็ตาม
ทั้งหมดนี้ทำให้กระทรวงการคลังฝรั่งเศสมองว่า ต้องมีการอุทธรณ์ ซึ่งถือเป็นอีกคดีที่กระทรวงการคลังของไทย และอีกหลายประเทศต้องติดตามใกล้ชิด