xs
xsm
sm
md
lg

LINE ใช้ฐานลูกค้า 41 ล้านราย ช่วยดึงนักพัฒนาสร้างบริการใหม่ให้คนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครึ่งปีหลังได้เห็นบริการใหม่สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ หลัง LINE เข้าซื้อกิจการนักพัฒนา หวังใช้เป็นทางลัดในการเพิ่มบริการ และประสิทธิภาพให้รวดเร็วที่สุด พร้อมแสดงให้เห็นว่าพร้อมลงทุนขยายทีมนักพัฒนาเพิ่มให้ได้มากขึ้น 2-3 เท่า ชูจำนวนฐานผู้ใช้มากกว่า 41 ล้านราย เป็นแรงดึงดูด

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในการเป็นบริษัทเทคโนโลยี วิธีการในการขยายบริการ และกลุ่มผู้ใช้ให้เพิ่มมากขึ้น ที่รวดเร็วที่สุด คือ การลงทุน ดังนั้น การที่ LINE เข้าซื้อกิจการของ DGM59 จึงกลายเป็นอีกรูปแบบที่จะมาช่วยขยายบริการให้ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น

“การเข้าซื้อกิจการของนักพัฒนาไทย ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า LINE มีความตั้งใจ และพร้อมจะลงทุนในตลาดประเทศไทย เพื่อให้กลายมาเป็นทีมหลักในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้าคนไทย ที่จะเริ่มเห็นบริการใหม่ ๆ ภายในครึ่งปีหลังนี้ พร้อมกับการพัฒนาบริการปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น”

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ LINE ประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทีมนักพัฒนาจากญี่ปุ่น หรือเกาหลี อีกต่อไป ซึ่งในตอนที่เข้าซื้อกิจการทางสำนักงานใหญ่ก็มองว่ามีโอกาสที่ทีมนักพัฒนานี้จะช่วยพัฒนาบริการในระดับโลกของ LINE ด้วยเช่นเดียวกัน

“รูปแบบของบริการที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะจะเน้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่าต้องเป็นบริการที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความหลากหลาย ซึ่งก็จะเสริมไปกับบริการหลักของ LINE ในปัจจุบันที่มีเพิ่มขึ้นมาทั้ง LINE Today LINE Man และ LINE TV”

ขณะเดียวกัน LINE ยังไม่ได้ปิดกั้นนักพัฒนาที่จะเข้ามาร่วมทีมเพิ่ม เพราะปัจจุบัน LINE มีทีมนักพัฒนาอยู่ราว 20 คน และต้องการเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 2-3 เท่า ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด โดยการนำฐานลูกค้าที่ใช้งาน LINE กว่า 41 ล้านคนมาเป็นแรงดึงดูด

'เชื่อว่าในการเป็นสตาร์ทอัป หรือเป็นนักพัฒนา หนึ่งในความสำเร็จที่วางไว้ คือ การเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมาก ไม่ใช่แค่หลักหมื่น หรือหลักแสนคน แต่เป็นการเข้าถึงฐานลูกค้าระดับล้านราย ซึ่งเมื่อเข้าร่วมกับทีมนักพัฒนาของ LINE ก็จะสามารถพัฒนาบริการให้กลุ่มคนนี้ได้ทันที'

เบื้องต้น ทีมนักพัฒนา DGM59 ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไปจนสู่การพัฒนาบริการดิจิตอล โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาโซลูชันให้แก่ลูกค้าองค์กรของ LINE ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ทำให้มีความชำนาญกับ API ของ LINE ทำให้สามารถพัฒนาบริการที่เชื่อมต่อกับระบบของ LINE ได้

***ภาษี-OTT ยังรอความชัดเจน

นายอริยะ กล่าวว่า ในตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บภาษี รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT เนื่องจากยังไม่เห็นถึงความชัดเจน และข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ในการดำเนินธุรกิจทุกอย่างต้องสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมองว่าในความเป็นจริงแล้ว การลงทะเบียน OTT ยังสามารถทำให้เป็นเรื่องดีต่อทุกภาคส่วนได้ อย่างการเข้าไปดูแลในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ ถูกนำไปใช้ในช่องทางอื่น ๆ และเชื่อว่าหลาย ๆ ฝ่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเมื่อมีความชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น