xs
xsm
sm
md
lg

LINE ตั้งเป้าเป็น “โมบาย พอร์ทัล” เชื่อมพาร์ตเนอร์เข้าสู่ผู้ใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก้าวใหม่ของ LINE ผันตัวสู่การเป็นศูนย์กลางบริการดิจิตอล หวังเชื่อมบริการจากพาร์ตเนอร์เข้าสู่ผู้ใช้ผ่าน LINE พร้อมชู 4 กลยุทธ์หลักบุกตลาด โชว์สถิติผู้ใช้ในไทย 41 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 44 ล้านราย
 
นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา แนวทางการทำธุรกิจหลักของ LINE คือ การวางฐานบริการที่เป็นมากกว่าแอปแชต ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีการสร้าง และต่อยอดบริการใหม่ให้ผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง จนมีบางบริการที่สามารถสร้างรายได้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็น LINE TV ที่เมื่อมียอดผู้ใช้งานถึงระดับหนึ่ง สร้างคอนเทนต์เอ็กลูซีฟขึ้นมา ก็ถึงเวลาสร้างรายได้จากการทำโฆษณา โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และในช่วงไตรมาส 2 บริการอย่าง LINE Today ก็กำลังจะเข้าสู่การหารายได้ผ่านโฆษณาเช่นเดียวกัน

“ที่ผ่านมา ในการให้บริการของ LINE จะมีอยู่ 3 ขั้นหลักๆ คือ การสร้างบริการขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เมื่อลูกค้าชื่นชอบก็จะเกิดการใช้งาน เมื่อจำนวนลูกค้าถึงระดับหนึ่ง ก็จะถึงเวลาสร้างรายได้จากบริการนั้นๆ”

สำหรับสถิติการใช้งาน LINE ในประเทศไทย ทาง LINE ให้ข้อมูลว่า จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือในประเทศไทย 44 ล้านราย ในจำนวนนี้ 94% ใช้บริการ LINE ทำให้ปัจจุบัน LINE มีฐานลูกค้าในไทยราว 41 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังพบว่าในแต่ละวันการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ 1 ใน 3 อยู่บน LINE หรือคิดเป็น 70 นาที จากทั้งหมด 234 นาทีในแต่ละวัน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วความต้องการในการใช้งานแอปพลิเคชันของผู้บริโภค นอกเหนือจากแพลตฟอร์มหลักๆ แล้ว มีโอกาสน้อยมากๆ

ดังนั้น แนวธุรกิจใหม่ของ LINE คือ การเร่งหาพาร์ตเนอร์ ทั้งแบรนด์ สื่อ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ให้หันมาใช้แพลตฟอร์มของ LINE ในการขยายบริการที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำ Chatbot มาให้บริการร่วมกับ Official Account ในการให้บริการข้อมูลแก่ลูกค้า

รวมถึงการนำคอนเทนต์มาให้บริการบน LINE TV และ LINE Today เพราะ LINE ไม่ได้จะมา Disrupt ทีวี หรือสิ่งพิมพ์ แต่จะเป็นในมุมของการเติบโตไปด้วยกัน เพื่อสร้างอีโคซิสเตมส์ที่ทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้

ภายใต้ 4 แนวทางหลักในการทำธุรกิจ คือ สร้างการติดต่อสื่อสาร (Communication) เพื่อให้เกิดการใช้งานบน LINE เพิ่มมากขึ้น โดยหวังว่า ผู้บริโภคจะใช้งาน LINE เกิน 70 นาทีในปีนี้ จากบริการที่จะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถัดมาในมุมของคอนเทนต์ (Content) ก็จะเข้าไปร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายในการนำคอนเทนต์มาให้บริการบน LINE เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ส่วนในแง่ของบริการ (Services นอกจากการเพิ่ม ChatBOT แล้วก็จะพัฒนาบริการ LINE Finance รวมถึงบริการที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย คือ เรื่องของการขายสินค้า และบริการ (Commerce) จากการให้บริการ LINE@ เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างร้านค้า และลูกค้า รวมถึงบริการจัดส่งสินค้าอย่าง LINE MAN ที่ปัจจุบันถือเป็นบริการที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในกลุ่มของการส่งอาหาร ที่ขยายมาให้บริการในแง่ของการส่งพัสดุเพิ่มเติมด้วย

“จุดประสงค์ของแนวทางดังกล่าว คือ การทำให้ LINE เป็นศูนย์กลางเป็น โมบาย พอร์ทัล ให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้ทุกแบรนด์ต้องปรับตัว เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว ทุกแบรนด์จึงไม่มีโอกาสบอกว่า ไม่เข้าใจเทคโนโลยี”

นอกจากนี้ จากสถิติในแง่ของเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลที่คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะเติบโตราว 30% LINE ก็เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเติบโตใกล้เคียง หรือมากกว่า 30% ก็เป็นไปได้ โดยจากข้อมูลล่าสุด ในปี 2016 ที่ผ่านมา เม็ดเงินในการทำโฆษณาบนดิจิตอลจะมีสัดส่วนราว 10%

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องของการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาให้บริการดิจิตอลในประเทศไทย ทาง LINE ประเทศไทย ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ด้วยการปรับโครงสร้างในการทำธุรกิจให้เหมาะสมแล้ว รายได้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศก็ถูกนำไปเสียภาษีให้กลับมาอยู่ในระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น