xs
xsm
sm
md
lg

ความจนเป็นทุกข์ : สัจธรรมอันเป็นอกาลิโก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า” จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย้อนกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกเขาทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนถูกเขาทวง ไม่ให้เขา ก็ถูกตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนถูกเขาตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้” นี่คือพุทธพจน์ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งมีที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 392 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย

โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้ เป็นการสอนในลักษณะตอบกับภิกษุทั้งหลายเป็นการยืนยันว่า ความจนกับการเป็นหนี้ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นสืบเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน กล่าวคือ เพราะความจนจึงเป็นหนี้ และการเป็นหนี้เป็นเหตุให้เกิดภาวะแห่งทุกข์ตามมา ในลักษณะเป็นเหตุและเป็นผลแก่กันอีกหลายประการ เช่น การเป็นหนี้ และการถูกทวง เป็นต้น

ในปัจจุบันการเป็นหนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งในรูปแบบของการเป็นหนี้ และมูลเหตุจูงใจให้เกิดการเป็นหนี้ รวมไปถึงผู้ที่กู้หนี้หรือลูกหนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยจำกัดอยู่ในแวดวงของคนจน ไม่มีทรัพย์ต้องกู้เงินเขามากินมาใช้เลี้ยงตนเอง และคนในครอบครัวได้ขยายวงไปยังคนชั้นกลางซึ่งมีรายได้พอกินพอใช้ในการซื้อปัจจัย 4 เพื่อการดำเนินชีวิตตามอัตภาพ แต่ไม่มากพอจะซื้อสินค้าประเภทอำนวยความสะดวก เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ รถยนต์ หรือบ้านหลังใหม่ใหญ่กว่าที่มีอยู่ เป็นต้น ก็เป็นหนี้ในการซื้อสิ่งของเหล่านี้ด้วยเงินผ่อน

แม้กระทั่งคนรวยมีทรัพย์สินที่ดิน บ้านช่อง ข้าวของเครื่องใช้เหลือเฟือ มีชีวิตอยู่อย่างสบายแต่ต้องการจะรวยเพิ่ม ก็เป็นหนี้โดยการกู้เงินมาลงทุนในกิจการเพื่อแสวงหากำไร

ดังนั้น การเป็นหนี้ในปัจจุบันได้เกิดขึ้นกับทุกชนชั้น ไม่ว่าจนหรือรวย เพียงแต่ลักษณะการเป็นหนี้แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้

1. คนจนกู้หนี้เพื่อหากินหาใช้ และลงทุนทำมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และหนี้ที่คนจนก่อขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยแพงเทอมการกู้สั้นๆ เป็นรายวัน รายเดือน และการทวงหนี้ค่อนข้างป่าเถื่อน ดีหน่อยก็เป็นหนี้โรงรับจำนำที่นำของจำนำไว้ไม่มีการทวง ถ้าเลยกำหนดเวลาไม่ไปไถ่คืนก็ถูกยึดของไป คนจนหรือที่เรียกว่าผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร และการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม คนทั้งสองกลุ่มนี้เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อคนจนเดือดร้อน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมหลายประการ มีตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงการจี้ปล้น อันเป็นภัยทางสังคมที่กัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐบาลได้

2. คนชั้นกลางเป็นหนี้เพื่อซื้อของด้วยเงินผ่อน และเป็นหนี้บัตรเครดิต ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเดือดร้อนจากเป็นหนี้น้อยกว่าคนกลุ่มแรก เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจขายผ่อนสินค้า และสถาบันการเงิน วิธีการทวงหนี้จึงเป็นไปตามระบบคือ ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เริ่มจากการฟ้องร้อง ยึดสินค้าที่ขายไปคืนมาในกรณีที่ขาดส่ง และไม่จ่ายหนี้ตามกำหนด แต่ไม่ถึงกับตามทวงด้วยการข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย เฉกเช่นหนี้นอกระบบที่คนจนไปกู้มา

3. คนรวยเป็นหนี้เพื่อการลงทุน และส่วนใหญ่กู้ในนามนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจแสวงหากำไร และเป็นการกู้จากสถาบันการเงิน โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงไม่เดือดร้อนตราบเท่าที่นิติบุคคลที่กู้หนี้ยังดำเนินธุรกิจ และมีกำไรจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ตามกำหนดในสัญญา

แต่ถ้าจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้ เนื่องจากกิจการขาดทุน นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้กู้ก็จะถูกฟ้องร้อง และจบลงด้วยการล้มละลายไม่เดือดร้อนถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ยกเว้นเป็นผู้บริหารและเป็นผู้ค้ำประกัน และหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมีมูลค่าไม่พอแก่การจ่ายหนี้คืน

จากลูกหนี้ทั้ง 3 ประการนี้ จะเห็นได้ว่าคนจนเป็นหนี้แล้วเป็นทุกข์มากกว่าสองประเภทที่เหลือ

ดังนั้น การเป็นหนี้ของคนจนจึงเป็นภาระของทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องดูแลแก้ไขโดยการทำความจนให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่พวกเขารับได้ ด้วยการอยู่กับความจนโดยไม่เดือดร้อนจากการต้องหนีเจ้าหนี้จนถึงกับทำมาหากินไม่ได้ และบางรายถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มีแล้ว

ดังนั้น การแก้ไขความจนโดยที่คนจนไม่ต้องมีหนี้เพิ่ม เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงทำและจะต้องทำ โดยให้คนจนมีส่วนในการลดความจนด้วยการทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ลดรายจ่ายให้น้อยลง ซึ่งทำได้โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานไว้ และยึดถือปฏิบัติตามสันโดษ 3 ประการควบคู่กันไป

เริ่มด้วยการสำรวจจำนวนคนจนในภาคเกษตรกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ผู้ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
2. ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และต้องเช่าที่ดินของคนอื่น

ประการต่อไปให้ผู้ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองดำเนินการทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ โดยมุ่งผลิตเพื่อกินเหลือขาย ลงทุนน้อย แต่ให้ได้ผลผลิตมากและยึดแนวทางพึ่งตนเองเป็นหลัก ส่วนผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง รัฐจะต้องจัดหาที่ดินให้เช่าซื้อในราคาที่เกษตรกรรับได้ โดยไม่เดือดร้อนแล้วให้ลงมือทำตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ทฤษฎีใหม่ในการผลิต

ประการต่อมา รัฐจัดให้มีหน่วยราชการส่งเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งไปคอยแนะนำ และกำกับดูแลการทำเกษตรของชาวบ้านให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ โดยการยึดหลักความพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือย

ส่วนผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก็ทำนองเดียวกันยึดแนวพอเพียง โดยเริ่มจากการเพิ่มรายได้ด้วยการจัดฝึกอบรมฝีมือให้เป็นแผนงานมีคุณภาพ เพื่อจะได้มีรายได้มากขึ้น และจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูกให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ให้ซื้อผ่อนได้ในราคาที่รับได้ไม่เดือดร้อน

สำหรับผู้เป็นหนี้ซึ่งเป็นชั้นกลาง และคนรวยในชั้นนี้คงต้องปล่อยไปตามกระแสโลกในระบอบทุนนิยมไปก่อน เพราะอย่างไรเสียคนสองกลุ่มนี้ยังเป็นลูกหนี้ซึ่งอยู่ในฐานะปลดหนี้ได้ ถ้าพวกเขาไม่ถูกครอบงำ ความโลภอันเป็นบ่อเกิดแห่งลัทธิวัตถุนิยมมากเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้คนในชาติเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น และมีการออมเงินน้อยลงในภาพรวมก็ไม่ดีนัก เพราะเมื่อไหร่ที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาลงทุนขั้นพื้นฐาน (Infrastructure) ขนาดใหญ่ เงินกู้ในประเทศไม่เพียงพอต้องไปกู้ต่างประเทศ ก็เสี่ยงต่อการขาดทุน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทลดลง

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการเป็นหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในนามปัจเจกหรือนิติบุคคล อันได้แก่องค์กรธุรกิจ รวมถึงประเทศมากเกินไป เมื่อเปรียบกับรายรับและไม่อยู่ในฐานะใช้คืนหนี้ได้ ผู้ที่เดือดร้อนก็คือคนในฐานะเจ้าของกิจการและในฐานะประชากรของประเทศนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น