สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับเครือข่ายผู้นำที่เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development : RoLD) จัดเสวนา เรื่อง “หนี้ที่เป็นธรรม...เราจะทำได้หรือไม่”
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนไทยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ และก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องคือการตกเป็นหนี้โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยคนไทยมีปัญหาทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกู้หนี้ เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของสัญญาการกู้เงิน และผลพวงจากการเป็นหนี้ เพื่อแก้ปัญหานี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันให้ข้อมูลและพัฒนาทักษะให้ประชาชนรู้เท่าทันการเป็นหนี้และรู้จักการบริหารจัดการทางการเงิน การออกกฎหมายที่เสริมสร้างความเป็นธรรมในเรื่องหนี้ และการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน
การเสวนาข้างต้นนำเสนอข้อมูลโดยวิทยากร 3 ท่าน คือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด และคุณธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI มีดร.คเณศ วังส์ไพจิตร เลขาธิการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI เผยถึงสถานการณ์หนี้ในไทยว่า ครัวเรือนไทย ร้อยละ 49 (10.4 ล้านครัวเรือน จากจำนวนทั้งหมด 21 ล้านครัวเรือน)
เป็นหนี้ โดย 91.4% เป็นหนี้ในระบบ และอีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว ที่เหลือ 3.7% มีหนี้ทั้งสองแบบ
ทั้งนี้ แรงงานไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ถึง 97% (มูลค่าเฉลี่ย 132,000 บาท) โดยเป็นหนี้นอกระบบ 53.6% และ 78.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับอาชีพที่มีหนี้มากที่สุด (ทั้งในและนอกระบบ) ได้แก่ เกษตรกรและกลุ่มคนที่ทำธุรกิจ โดยส่วนใหญ่ต้องการกู้หนี้ไปเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค (41%) ซื้อบ้านและที่ดิน (33%) ทำการเกษตร (14%) ทำธุรกิจ (10%) และการศึกษาบุตรและอื่นๆ (2%) นอกจากนี้ยังมีการกู้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าการศึกษาบุตร และ ค่ารักษาพยาบาล อีกด้วย
ไม่ว่าครัวเรือนไทยจะกู้เงินในระบบหรือนอกระบบ จุดที่ทำให้เกิดปัญหา คือ จุดที่ผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้ทันตามกำหนด จนกลายเป็นภาระหนี้พอกก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้นอกระบบที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้นอกระบบมักเอารัดเอาเปรียบ มีการคิดดอกเบี้ยถึง 20% ต่อเดือน และมักคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกในเวลาที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ทำให้ลูกหนี้ต้องกลายเป็นผู้ที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
อีกทั้งเจ้าหนี้นอกระบบยังใช้วิธีการทวงหนี้ที่รุนแรง เช่น การใช้กำลังข่มขู่ หรือทำให้ลูกหนี้อับอายด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งการเอารัดเอาเปรียบและวิธีการทวงหนี้ที่รุนแรงนี้ ได้ทำให้ลูกหนี้เกิดความเครียดสูง และมักตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย การฆ่าคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการหันไปค้ายาเสพติดเพื่อนำเงินที่ได้ไปชดใช้หนี้ ตามที่ปรากฏในข่าวอยู่เป็นประจำ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ไม่มีเงินตัดสินใจกู้เงินกับเจ้าหนี้นอกระบบ มีหลายประการ โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า เหตุที่คนบางส่วนหรืออาจจะหลายส่วนที่ไม่ได้ถูกรายงานในสถิติเลือกที่จะกู้เงินกับเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ
เนื่องจากแหล่งเงินกู้ในระบบอย่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ สหกรณ์ บัตรเครดิต ฯลฯ ต่างก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ ระยะเวลาในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อค่อนข้างนาน และมีความซับซ้อนในการคิดดอกเบี้ย
ขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่จะไม่พิจารณาเรื่องรายได้ขั้นต่ำ หรือ ความเป็นไปได้ในการชำระคืนของผู้กู้ อีกทั้งยังมีขั้นตอน และระยะเวลาที่สะดวกรวดเร็ว ข้อเด่นเหล่านี้จึงจูงใจให้ผู้กู้มองข้ามเรื่องดอกเบี้ยอัตราสูงจากการกู้นอกระบบไปได้อย่างง่ายดาย
คำถามสำคัญจึงอยู่ในประเด็นที่ว่า หนี้ที่เป็นธรรมคืออะไร และจะมีวิธีแก้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้อย่างไร สำหรับทั้งสองประเด็น คุณสฤณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะพิจารณาหนี้ที่เป็นธรรม ควรแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกู้หนี้ เงื่อนไขของสัญญาการกู้เงิน และผลพวงจากการเป็นหนี้ โดยให้พิจารณาว่า ก่อนเป็นหนี้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เท่าเทียมกันหรือไม่
ระหว่างเป็นหนี้ สัญญาที่เป็นธรรมเป็นแบบใด และเมื่อเป็นหนี้แล้วผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้มีหลักในการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้ง 3 ส่วน
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดหนี้ที่เป็นธรรมนั้น คุณสฤณี ได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหา โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น ภาครัฐ และภาคเอกชนควรร่วมกันพัฒนาทักษะให้คนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น รวมถึงกลุ่มธนาคารต่างๆ ควรผลักดันความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับคนธรรมดาผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารให้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังนำเสนอให้ภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องนำเทคโนโลยีมาเพิ่มช่องทาง (Access) ในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะผู้แทนจากภาครัฐได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาทั้งส่วนที่ภาครัฐได้ทำแล้วกับส่วนที่ภาครัฐกำลังผลักดันเพื่อช่วยให้เกิดหนี้ที่เป็นธรรม โดยเน้นการสร้างอำนาจให้เท่าเทียมกัน ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
1.การออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ 2558 ที่ภาครัฐพยายามใช้กฎหมายมาแก้ปัญหา
ความรุนแรงในการทวงหนี้ โดยพยายามตีกรอบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม
2.การเพิ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย เช่น การกำหนดไม่ให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราสูง โดยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 15% ต่อเดือน
3.การเปิดช่องทาง เช่น หากเจ้าหนี้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 15% จะต้องจดทะเบียนให้เหมาะสม เสมือนเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในที่มืดมาอยู่ในที่สว่าง
4.การทำสถาบันการเงินชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีการจัดการทางการเงินที่เหมาะสมและยั่งยืน
โดยดร.กอบศักดิ์ ยกตัวอย่างกรณีสถาบันการเงินชุมชนปากเกร็ดร่วมใจ 2 ที่ตั้งอยู่ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการวางระบบการปล่อยสินเชื่อโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนที่รู้จักความประพฤติของคนในชุมชนมารับผิดชอบการปล่อยกู้
โดยใช้หลักเกณฑ์การประกอบสัมมาชีพและความประพฤติในชุมชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และ ยึดหลักการทวงหนี้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ในการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน
5.การสนับสนุนให้ประชาชนทุกครัวเรือนทำบัญชีรายรับรายจ่าย ถือเป็นวิธีที่ง่ายและซับซ้อนน้อยที่สุด
ที่อยากให้ทุกครัวเรือนได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน เพื่อให้เห็นและจำกัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน
จากสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของคนไทย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ทั้งที่ถูกรายงาน และไม่ถูกรายงานในระบบข้อมูลสถิติต่างก็ประสบปัญหาทางการเงิน และมีหนี้ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งหากคนเหล่านี้
ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมเรื้อรัง
แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะพยายามแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีข้อท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น เทคโนโลยีที่พยายามเข้ามามีส่วนในการแก้ไขจะช่วยให้คนเข้าถึงเงินทุนที่เป็นธรรมได้เพียงใด และทางออกที่คิดขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ยั่งยืนได้หรือไม่
ดังนั้น การเสวนาในวันนี้จึงเป็นการจุดประกายแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทยที่พยายามมุ่งเน้นการทำให้ระบบหนี้มีความเป็นธรรมมากที่สุด โดยจะต้องเริ่มที่กระบวนการทางกฎหมายที่จะต้องตีกรอบเพื่อทำให้คนที่เป็นหนี้และเจ้าหนี้มีอำนาจที่เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย ซึ่งแนวทางที่จะทำให้สังคมไทยมีหนี้ที่เป็นธรรม คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันพัฒนาและสร้างระบบหนี้ที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างยั่งยืน อันจะช่วยให้คนทุกกลุ่มมีอำนาจ และความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจต่อไป
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754