MGR Online - กระทรวงยุติธรรมรุกแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” พบชาวนา-ชาวบ้านยังถูกเอาเปรียบ ขาดความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย ส่วนใหญ่ที่ดินหลุดมือจากการทำสัญญาระยะเวลาเพียง 3-6 เดือน ยากที่จะหาเงินมาคืน เลยต้องสูญเสียที่ดินให้นายทุน
วันนี้ (13 ก.ค.) เวลา 09.00 น. โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนักศึกษาหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา ร่วมจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “หนี้นอกระบบ บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร” โดยมี น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมการสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค คณะทำงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย น.ส.บุบผา รุ่งสว่าง และนางเยาวรัตน์ เหลาดวงดี สองตัวแทนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 100 ราย
พ.ต.อ.ดุษฎีเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ศนธ.ยธ. ปรากฏว่าประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้สิน ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและการทำสัญญา เมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทันท่วงทีจนเป็นเหตุให้ถูกบังคับคดีและยึดทรัพย์สิน โดยเฉพาะเกษตรในหลายพื้นที่ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินของตนเอง จากการทำสัญญาขายฝากและทำสัญญาที่เสียเปรียบอย่างอื่น เช่น หนี้นอกระบบ
พ.ต.อ.ดุษฎีเปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านกฎหมาย ได้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560, ด้านนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนแบบครบวงจร ทั้งในมิติการช่วยเหลือแหล่งเงินทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การป้องกันและปราบปรามกับเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเพื่อให้เจ้าหนี้เข้าสู่ระบบพิโคไฟแนนซ์, ด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับกฎหมาย ทั้งเรื่องการทำสัญญา กู้ยืมเงิน สัญญาขายฝาก สัญญาจำนอง สัญญาเช่าซื้อ และให้เชื่อมโยงกับการทำงานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือประชาชนหนี้นอกระบบในการเจรจาไกล่เกลี่ยในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัด
พ.ต.อ.ดุษฎีเผยต่อว่า สำหรับปัญหาการขายฝากที่ดินกับนายทุนถือว่าเอาเปรียบลูกหนี้เป็นอย่างมากที่ไม่รู้กฎหมายเพราะการทำสัญญามีระยะเวลาเพียง 3-6 เดือน เป็นไปได้ยากที่จะสามารถหาเงินมาคืนได้ ทำให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกินแก่นายทุนเพราะระยะเวลาการเก็บผลผลิตหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าขายไม่ทันต่อการใช้หนี้คืน โดย ศนธ.ยธ.ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าวและพร้อมให้ความช่วยเหลือและผลักดันยกเลิก กฎหมายขายฝาก แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาก ซึ่ง ศนธ.ยธ.จะเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอผู้บริหารประเทศต่อไป
“ส่วนการคาดหวังในการจัดประชุมวันนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน รับทราบถึงปัญหาและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประสานกระทรวงการคลังเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนแก่ลูกหนี้ที่ไม่เข้าในเงื่อนไขการกู้ยืมของธนาคาร นอกจากนี้ ลูกหนี้นอกระบบต้องนำเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โดยให้ยื่นเรื่องที่ศูนย์ยุติธรรมประจำจังหวัดเพื่อจะส่งเรื่องมายัง ศนธ.ยธ.ช่วยหาแหล่งทุนช่วยแหลือให้ประชาชน และบูรณาการร่วมกับธนาคารของรัฐเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีลูกหนี้ทั่วประเทศเดินทางมาร้องเรียนที่ กระทรวงยุติธรรม ประมาณ 200-300 ราย”
ด้านนางเยาวรัตน์ ตัวแทนลูกหนี้ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตนอยู่เป็นครอบครัวใหญ่มีพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน ประมาณ 12 คน ปลูกบ้าน 3 หลังในพื้นที่เดียวกัน โดยตนได้ทำสัญญากับนายทุนเพราะต้องการใช้เงินแต่ไม่เข้าใจเรื่องข้อกฎหมาย จนกระทั่งมีการขึ้นศาลฟ้องร้องกันและถูกผู้พิพากษาสั่งให้ออกจากพื้นที่ของบ้านตัวเองทั้งหมด หากไม่ออกต้องโดนจับ ตนได้ขอร้องไกล่เกลี่ยแต่ก็ไม่เป็นผลทำให้ต้องไปเช่าบ้านอยู่ โดยขณะนี้ถูกยึดบ้านพร้อมที่ดินและนายทุนได้ประกาศขายบ้านเรียบร้อย