ไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากประกาศจัดระเบียบโอทีที หรือบริการแพร่ภาพ กระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ก็กลับลำยกเลิกคำสั่งให้ผู้ประกอบการโอทีทีมาลงทะเบียนกับ กสทช.ภายในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้
ถือเป็นการ “หักดิบ” พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ซึ่งใช้สถานะ ประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ OTT เรียกผู้ประกอบการโอทีทีมาประชุม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ให้บริการสัญชาติไทย 14 รายมาร่วม และลงทะเบียนกับ กสทช.ในวันนั้น
แต่เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ และ Netflix โอทีทีต่างชาติซึ่งเป็นรายใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดไม่มา และไม่ติดต่อมา ทำให้ พ.อ.นที ขีดเส้นตายว่า รายไหนไม่มาลงทะเบียนภายในวันที่ 22 กรกฎาคม จะถือว่าไม่เป็นผู้ประกอบการโอทีที ตามกฎหมายมีความผิดตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
ทั้งยังขู่ผู้ที่ลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาดิจิตอลที่ใหญ่ และเข้าถึงผู้ใช้โซเชียล มีเดียมากที่สุดว่า เป็นผู้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่มีธรรมาภิบาล และผู้สนับสนุนผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอาญา
ส่งผลให้บรรดามีเดียเอเยนซี รวมทั้งกิจการที่เป็นผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ทำตัวไม่ถูก จะไม่ร่วมมือก็กลัวถูกดำเนินคดี และถูกตราหน้าว่า ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ไม่มีธรรมาภิบาล จะไม่ลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก กูเกิล ก็สวนทางกับความเป็นจริงที่ว่า ทั้งสองรายนี้ เป็นเจ้าของพื้นที่โฆษณาในโลกอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุด และเข้าถึงผู้ชมมากที่สุด
วันที่ 5 กรกฎาคม คณะกรรมการ กสทช.ประชุมตามปกติ ที่ไม่ปกติคือ ประธาน กสทช.พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี เสนอวาระการกำกับดูแลโอทีที ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วยตัวเอง และให้เป็นการประชุมลับ
หลังปิดห้องคุยกันกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติให้ชะลอเส้นตายการลงทะเบียน โอทีทีในวันที่ 22 กรกฎาคมออกไปก่อน และให้ พ.อ.นที ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการโอทีทีให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้ กสทช.พิจารณาก่อนนำออกประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นเพื่อนำมาปรับปรุง และเสนอบอร์ดอีกครั้งให้อนุมัติการบังคับใช้
รวมเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 90 วัน ซึ่งหากนับจากวันที่ กสทช.มีมติดังกล่าว นับไปอีก 90 วันคือไม่เกินวันที่ 3 ตุลาคม ก่อนที่บอร์ด กสทช. 11 คนจะหมดอายุในวันที่ 6 ตุลาคม 2560 เพียงสองวัน
ความพยายามที่จะกำกับดูแลโอทีที โดยที่ กสทช.ยังไม่มีร่างกฎเกณฑ์ข้อบังคับเลยว่า จะกำกับดูแลอย่างไร เป็นเหตุผลสำคัญที่เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ไม่เห็นด้วยกับการที่ พ.อ.นที สั่งให้ไปลงทะเบียนภายในวันที่ 22 กรกฎาคม โดยแสดงท่าทีผ่านสมาพันธ์อินเทอร์เน็ต เอเชียซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการโอทีทีต่างชาติ
และเป็นเหตุผลที่บอร์ด กสทช.ใช้หักล้างคำสั่งของ พ.อ.นที ก่อนหน้านี้โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการกำกับดูแล ที่จะไม่มีข้อโต้แย้งในอนาคต จึงให้ พ.อ. นทีไปยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้เรียบร้อยก่อน
ความพยายามที่จะให้โอทีทีมาลงทะเบียนกับ กสทช.เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) หรือกฎหมายแก้ไข กฎหมาย กสทช. เดิมที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน วันเดียวกับที่ พ.อ.นที เรียกผู้ประกอบการโอทีทีไปประชุม
ภายใต้กฎหมายเดิม บอร์ด กสทช. 11 คน แบ่งเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม
พ.อ.นที เป็นประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท.แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะอนุกรรมการโอทีที เดินหน้ากำกับดูแลโอทีที โดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับ บอร์ด กสทช.เพราะถือว่า เป็นกิจการกระจายเสียงแพร่ภาพที่อยู่ในการดูแลของตน
กฎหมาย กสทช.ใหม่ลดบอร์ด กสทช.เหลือ 7 คน และให้มีบอร์ดเดียวคือ บอร์ด กสทช.ไม่แยกเป็นบอร์ด กสท. และ กทค.ทุกเรื่อง ทั้งโทรคมนาคม และการแพร่ภาพกระจายเสียงต้องผ่านบอร์ด กสทช.
กฎหมายใหม่ยังเปลี่ยนสถานภาพ กสทช.จากที่เป็นองค์กรอิสระ ให้เป็นองค์กรที่ต้องขึ้นต่อคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ตัวแทนเอกชน เป็นกรรมการ การจัดทำแผนบริหารคลื่นความถี่ ต้องไม่ขัดแย้งกับนโยบายของคณะกรรมการนี้ และ คณะกรรมการนี้ ยังมีอำนาจวินิจฉัยว่า การดำเนินงานใดๆ ของ กสทช.ขัดแย้งกับ นโยบายแผนงานของคณะกรรมการนี้หรือไม่
ความพยายามของ พ.อ.นที ที่จะกำหนดกติกาในการกำกับดูแลโอทีที จึงถูกล้มเลิกไป เพราะ กสทช.ไม่ได้มีความเป็นอิสระ มีอำนาจในการเขียนกฎ กติกา ด้วยตัวเองเหมือนเดิมแล้ว