xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ชนกับเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ระวังไทยแลนด์ 4.0 จะแหลกลาญ

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


วันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 10 ปี ที่ไอโฟนรุ่นแรกออกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา หลังจากสตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิลผู้ล่วงลับไปแล้ว แถลงเปิดตัวไอโฟนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2550

ไอโฟนรุ่นแรกเป็นระบบ 2 จี ซึ่งยังช้า ไม่ไหลรื่น อีกหนึ่งปีให้หลัง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 แอปเปิลนำไอโฟนรุ่นที่สอง ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารระบบ 3 จีที่ส่งข้อมูลเสียง ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวได้เร็ว และในปริมาณมาก

นับตั้งแต่นั้น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิงภายในเวลาเพียง 1 ทศวรรษ โลกใหม่ที่ขับคลื่อนด้วยแอพพลิเคชั่นไปไกลเกินกว่ากฎ กติกาของโลกเก่าจะตามทัน

ความพยายามของ กสทช.หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จะควบคุมผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโอทีที อย่างเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ไปไกลกว่ากฎหมาย

โอทีทีหรือ Over The TOP คือการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทั้งเสียงอย่างเช่น สไกป์ ไลน์ ข้อความอย่าง WhatsApp ไลน์ วิดีโออย่างยูทิวบ์หรือโซเชียล มีเดียอย่างเฟซบุ๊กเรียกว่า เป็นบริการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ผ่านคลื่นความถี่เหมือนทีวีดิจิตอล หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ กสทช.เป็นผู้บังคับใช้ และกำกับดูแล ต้องจ่ายค่าใช้คลื่นความถี่ ต้องระมัดระวังเรื่องเนื้อหาไม่ให้ขัดต่อระเบียบของ กสทช.ผู้ให้บริการโอทีทีไม่อยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ เพราะเป็นสื่อใหม่ เกิดหลังกฎหมายคลื่นความถี่ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

กสทช.จึงต้องการจัดระเบียบผู้ประกอบการโอทีที ในส่วนที่เป็น Content คือ การแพร่ภาพกระจายเสียงเพราะเป็นสื่อหรือเป็นบริการโอทีที ที่มีผู้ชมเป็นจำนวนมาก เป็น การแพร่ภาพกระจายเสียงต่อสาธารณะ คือ เป็นทีวีที่ดูผ่านอินเทอร์เน็ต

ผู้ให้บริการโอทีทีในไทยมีอยู่ 4 กลุ่มหลัก คือ 1. ผู้ให้บริการอิสระของไทยเอง เช่น Hollywood HDTV, Primetime Doonee ส่วนที่เป็นต่างชาติได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ไลน์ และ NetFlix ลักษณะของธุรกิจคือ ให้ดาวน์โหลดภาพยนตร์โดยผู้ชมต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน ส่วนของเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์เป็นโซเชียล มีเดีย ที่ให้ดูฟรี โดยมีรายได้จากการเก็บค่าโฆษณา

ปีที่แล้ว เฟซบุ๊กและยูทิวบ์ซึ่งเป็นกิจการในเครือกูเกิ้ล มีรายได้จากการขายโฆษณา ในประเทศไทยรวมกันถึง 2 พันกว่าล้านบาท

ผู้ประกอบการโอทีที ประเภทที่สองคือ ผู้ให้บริการเพย์ทีวี หรือเคเบิลทีวี คือ PSI และ True Vision Anywhere

ประเภทที่สามคือ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คือ ค่ายมือถือเอไอเอสที่ให้ดูหนังผ่านกล่อง AIS Play

ประเภทสุดท้ายคือ สถานีโทรทัศน์ที่นอกจากให้ดูผ่านจอทีวีแล้ว ยังดูผ่าน แอพพลิเคชั่นของตนได้ด้วย

กสทช.ตั้งคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมามีชื่อว่า คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ OVER The TOP หรือ OTT มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.เป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้ เพื่อศึกษาหามาตรการที่จะกำกับดูแลโอทีที เพราะปัจจุบันไม่มี มีแต่กฎหมายควบคุมโทรทัศน์ วิทยุ ค่ายมือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

เป้าหมายนั้นก็คงต้องการสร้างกติกาที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการในระบบคลื่นความถี่ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์กับผู้ประกอบการบนโอทีที ซึ่งตอนนี้ไม่อยู่ใต้กติกาใดๆ เลย

ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องกฎข้อบังคับ พ.อ.นที ก็เรียกผู้ให้บริการโอทีที ในประเทศไทย มาคุย และขอให้ลงทะเบียนภายใน 30 วันตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนจนถึง วันที่ 22 กรกฎาคม ปรากฏว่า โอทีทีสัญชาติไทยมาครบ โอทีทีต่างชาติ 3 รายไม่มา Netflix บอกว่า จะมาต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนเฟซบุ๊กกับยูทิวบ์ซึ่งมีคนดูมากที่สุด และมีส่วนแบ่งตลาดโฆษณาออนไลน์สูงที่สุด ไม่มา และไม่บอกว่าจะมาลงทะเบียนหรือไม่

พ.อ.นที จึงใช้ไม้แข็งขู่ว่า หากถึงกำหนดวันที่ 22 กรกฎาคมแล้ว ยังไม่มาลงทะเบียนถือว่าเป็นผู้ประกอบการเถื่อน ผิดกฎหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ เรียกประชุมเอเยนซีโฆษณา เจ้าของสินค้าที่เป็นผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ในประเทศไทยมาขอความร่วมมือแกมขู่ว่า ไม่ซื้อโฆษณากับโอทีทีเถื่อนเพราะทำตัวเหนือกฎหมาย ผู้ซื้อโฆษณาจะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย

ถึงกำหนดวันที่ 22 กรกฎาคม หากเฟซบุ๊กและยูทิวบ์ไม่มาลงทะเบียนจะเกิดอะไรขึ้น หากโดนตัดโฆษณาเพราะผู้ซื้อโฆษณาคงไม่อยากมีปัญหากับ กสทช. เฟซบุ๊กกับยูทิวบ์จะยอมสูญเสียรายได้จากประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของยูทิวบ์ไหม

ในขณะเดียวกัน ก็จะขัดแย้งกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะเฟซบุ๊กและยูทิวบ์เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่มากเข้าถึงคนทั่วโลก เป็นเวทีที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ของไทยใช้เป็นช่องทางขายสินค้า ขายความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกว้างขวางและมีต้นทุนต่ำ

การจัดการกับผู้ประกอบการโอทีที ต่างชาติอย่างเฟซบุ๊กกับยูทิวบ์ จึงเป็นทางสองแพร่งที่ กสทช.ต้องคิดให้รอบคอบถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น