xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กสทช. ล้มลงทะเบียน OTT เร่งทำเป็นกฎหมาย หวังปิดจุดอ่อนก่อนบังคับใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พ.อ.นที” โดนเท หลังประธาน กสทช. ส่งวาระลับ ยกเลิกการลงทะเบียน OTT ที่ผ่านมา รวมถึงยกเลิกเดดไลน์ต้อนเฟซบุ๊ก-ยูทูป มาลงทะเบียน สั่งไปทบทวน และยกร่างประกาศเสนอต่อ กสทช. ใหม่ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อนำไปประชาพิจารณ์ และประกาศเป็นกฎหมายต่อไป หวังปิดจุดอ่อนนำไปสู่การฟ้องร้อง คาดเสร็จก่อน 6 ต.ค. 2560 ด้าน “กูเกิล” แจงที่ผ่านมา คุยกับกระทรวงดีอีมาตลอด เพราะเห็นเป็นหน่วยงานสำคัญตามกฎหมาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ได้นำเรื่องการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top หรือ OTT เข้าที่ประชุม กสทช. เป็นวาระลับ เพื่อพิจารณาในวาระแรกของการประชุม ทำให้ไม่ได้มีการประชุมในวาระอื่น เพราะเพียงวาระนี้วาระเดียวก็มีการถกเถียงกันยาวนานถึง 3 ชั่วโมง โดยประธาน กสทช. ได้นำความเห็นเกี่ยวกับความห่วงใยถึงการทำงานในการกำกับดูแล OTT ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ทำให้ที่ประชุมมีมติให้ พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ OTT ยกเลิกการกำกับ OTT ที่ทำมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งยกเลิกการลงทะเบียน OTT ของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ และยกเลิกเส้นตาย 22 ก.ค. ที่ให้เฟซบุ๊ก และยูทูป ต้องมาลงทะเบียนด้วย

หลังจากนั้น ให้ พ.อ. นที เร่งจัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการ OTT เสนอต่อที่ประชุม กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ตามขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และกลับมานำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ต.ค. 2560

ที่ประชุมยังมีความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป การดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศใดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น ดังนั้น เมื่อกิจการ OTT เป็นการดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศไทย จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ดังนั้น ไม่ว่ากิจการ OTT จะเป็นกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ก็ตาม ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

“เมื่อกิจการ OTT เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของ กสทช. แล้ว กสทช. จำต้องออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว โดยหลักเกณฑ์ที่ออกนั้น จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายของ กสทช. เพื่อมิให้มีข้อโต้แย้ง หรือข้อคัดค้านในภายหลังได้ กล่าวคือ จะต้องมีการยกร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการ OTT และนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้รับนั้นมาวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสีย ตลอดจนผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกภาคส่วน ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และรายได้ของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.อ. นที จะได้เสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่า ที่ผ่านมา ได้มีการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 10 ครั้ง และประกาศที่ออกไปน่าจะครอบคลุม และครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เพื่อความรอบคอบ และเป็นการปิดจุดอ่อนทุกจุดที่คาดว่า จะเป็นประเด็นในการถูกฟ้องร้องในอนาคตได้ นอกจากนี้ หลังจากมีการยุบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตาม พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ทำให้ กสทช. มีสิทธินำเรื่องนี้มาพิจารณาได้ จากแต่เดิมที่การพิจารณาอยู่เพียงแค่คณะกรรมการ กสท.

ส่วนประเด็นที่ว่าต้องมีการออกใบอนุญาต และเก็บค่าใบอนุญาตกับผู้ให้บริการ OTT รวมทั้งกรณีที่ว่า กฎหมายจะสามารถมีบทลงโทษกับผู้ให้บริการต่างชาติได้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะที่ประชุม กสทช. ยังไม่เคยเห็นประกาศของ พ.อ. นที และยังต้องรอการร่างประกาศครั้งใหม่ที่ต้องปรับปรุงอีกเล็กน้อยเสียก่อน จึงจะให้คำตอบได้

***กูเกิลเอ่ยคุยกับดีอีมาตลอด

ด้าน นางสาวสายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า อย่าไปมองว่า AIC (สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย หรือ Asia Internet Coalition) เป็นล็อบบียิสต์ แต่ให้มองว่าเข้าไปในฐานะตัวแทนของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอย่างเฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไลน์, ยาฮู, ทวิตเตอร์ และราคูเท็น ในการเข้าไปพูดคุยกับภาครัฐ

“การจะเข้าไปลงทะเบียน กูเกิลอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจนจากทาง กสทช. ก่อนว่า จะมีการควบคุมอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฏหมายที่สิงคโปร์ก็อยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูลอยู่ และจะมีความชัดเจนออกมาก่อนครบกำหนดที่ทาง กสทช. กำหนดไว้”

โดยที่ผ่านมา กูเกิลได้มีการเข้าไปพูดคุยกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ตลอด เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญตามกฎหมายในการเข้ามาให้บริการในประเทศไทย แต่ทาง กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้น ก็ต้องดูถึงความเหมาะสม

ส่วนประเด็นของเรื่องการเก็บภาษี เมื่อมีมาตรการใด ๆ ออกมา กูเกิลก็พร้อมที่จะเข้าไปพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงดีอี เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนตามข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น เพียงแต่ถ้าจะเปลี่ยนกฏหมาย ก็ต้องศึกษาดูว่าจะเปลี่ยนได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น