ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การสื่อสารถ้าเกิดความผิดพลาด บางครั้งอาจสร้างสร้างความเสียหายอย่างไม่คาดคิดมาก่อน วันนี้มีเรื่องร้อนๆ ในแวดวงคนรักธรรมชาติ กลุ่มอนุรักษ์และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเพื่อร่วมวิเคราะห์ตัดสินผิดถูกด้วยกัน เพราะเมื่อข้อมูลข่าวสารต่างๆได้แพร่หลายไปจากบวกกลายเป็นลบ หรือจากดำเป็นขาว-ขาวเป็นดำ ย่อมเกิดความเข้าใจผิดต่อผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้เห็น และกับบุคคลตลอดจนองค์กรที่ตกเป็นข่าวอย่างแน่นอน
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช มีภารกิจในเชิงอนุรักษ์และบริหารพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศกว่า 73 ล้านไร่ แยกเป็นป่าไม้ต้นน้ำลำธาร เขตดูแลสัตว์ป่า ท่องเที่ยวทั้งทางบก ทะเลปัญหาต่างๆ ไม่ว่าที่ได้รับการแก้ไขไปแล้วหรือเข้าคิวรอให้จัดการย่อมมีมากทวีคูณตามไปด้วย
แน่นอนว่านโยบายทวงคืนผืนป่า จึงเป็นอีกภารกิจหลักที่กรมอุทยานฯ ต้องเดินหน้าอย่างจริงจังแม้ส่วนใหญ่จะมีเสียงบวก ได้ภาพลักษณ์ที่ดีจากประชาชนแต่บางครั้งก็ตกเป็นประเด็นข่าวเลือกปฏิบัติบ้าง หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนบ้าง สุดแท้แต่จะมีมุมมองหรือดราม่ากันมากน้อย แต่นี่คือผลงานเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้
ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือการรณรงค์ของชมรมนักจัดรายการวิทยุและคอลัมน์นิสต์ เกี่ยวกับความขาดแคลนของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จ.น่าน มีการเสนอข่าวออนไลน์พาดหัวว่า “ 1 แชร์ช่วยคนดีของสังคม !!?? หน่วยพิทักษ์ป่าดูแลป่า แทนคนทั้งชาติ แต่เจ็บไข้ไม่มียารักษา วอนช่วยเหลือด่วน...ส่วนรายละเอียดระบุว่า นายณรงค์ ปานนอก ประธานขมรมฯ ได้รับการประสานจาก นายประมวล ขันทะธง หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ว่าเกิดความขาดแคลนยารักษาโรค และเวชภัณฑ์พื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในป่า บางครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ต่างต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างตามมีตามเกิด ขอให้สนับสนุนยาควินิน ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแผลสด เกลือแร่ ยากันยุง ยาธาตุ สำลี ผ้าพันแผล แอมโมเนีย
ข่าวระบุด้วยว่า ภารกิจรักษาผืนป่า และทวงคืนผืนป่านั้น มีเนื้อที่ประมาณ 356,926 ไร่ หรือ 57 ตารางกิโลเมตรกินพื้นที่ 2 จังหวัด คือ น่าน กับพะเยา หากมีประชาชนสนใจช่วยเหลือให้ติดต่อโดยตรงที่หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า พร้อมเบอร์โทรศัพท์
หลังเป็นข่าวเพียงวันเดียว โลกโซเชียลฯถล่มกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช อย่างไม่มีชิ้นดี ขนาดที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ลงพื้นทีทำงานอยู่ จ.ภูเก็ต พร้อมกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีความสุข เรียกว่าแทบนั่งไม่ติดเลยก็ว่าได้
เพราะหากเป็นจริงตามข่าวออนไลน์ ก็หมายความว่าอธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่รักษาคำพูดที่เคยประกาศไว้ว่า...การปฏิบัติภาระกิจของกรมอุทยานฯ แม้จะยากเย็น จะต้องเสี่ยงอันตราย แต่ไม่มีทางทิ้งลูกน้องไว้ข้างหลัง ทุกคนจะออกจากป่าด้วยความปลอดภัยพร้อมๆกัน โดยไม่ยอมให้ใครเสียเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียว
แต่กลายเป็นว่า ลูกน้องทำงานกันแทบตายแม้แต่ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการยังไม่สามารถจัดหาได้...เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็น เป็นความเจ็บปวดของผู้นำองค์กร อย่างนายธัญญา เป็นอย่างยิ่ง ผลงานต่างๆ ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ เช่น การจัดเก็บรายได้จากอุทยานทั่วประเทศด้วยก้าวกระโดดจากหลัก 10 ล้าน หรือ 2-300 ล้านมาเป็นกว่า 1 พันล้าน มันสื่อให้เห็นอะไรบ้าง ถ้าไม่ใช่มาตรการที่เข้มข้น ใช้คนถูกงาน และปราศจากการคอร์รัปชัน หรือแม้แต่การปัดกวาดบ้านตัวเอง ด้วยคำสั่งสอบสวนกรณีทุจริตเมื่อเร็วๆนี้ กับการทวงผืนป่าทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตอนุรักษ์ กับชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ซึ่งล้วนมีผลงานอย่างมากมายเป็นที่ประจักษ์
ดังนั้นความผิดพลาด คลาดเคลื่อนต่างๆ คนที่จะตอบคำถามสังคมได้ดีที่สุดก็คือ นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมฯ กับนายประมวล ขันทะธง หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ว่าสิ่งที่พูดหรือสื่อสารออกไปนั้น มันจริงหรือไม่ประการใด ...หากจริงแน่นอนว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ก็ต้องน้อมรับคำตำหนิ...แต่หากไม่จริงเป็นหนังคนละม้วน มีคำถามว่าในฐานะประธานชมรมนักจัดรายการวิทยุและคอลัมน์นิสต์ ท่านจะแสดงความรับผิดชอบกันอย่างไร
ยิ่งทราบมาว่าท่านประธานชมรมฯ เข้า-ออก กรมอุทยานฯ และห้องทำงานของอธิบดีฯ อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งติดต่อของบประมาณสนับสนุนโครงการปลูกป่าต้นน้ำลำธาร ในลักษณะกลุ่มจิตอาสา ก็ยิ่งสงสัยว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันมีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไรกันแน่
ปกติคนข่าวเขาถือประเพณีแมลงวันไม่ตอมกันเอง ไหนๆ ก็กล้าพอที่จะยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นแล้วคงต้องฝากชมรมนักจัดรายการวิทยุและคอลัมน์นิสต์ ไว้ว่า บทบาทหน้าที่ของสื่อ คือการตรวจสอบ ติชม หรือนำเสนอปัญหาแต่ให้ระวังการก้าวล่วงเข้าไปในส่วนที่ไม่ใช่บทบาทของตัวเองเช่นโครงการปลูกป่าซึ่งตามปกติจะต้องจัดรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการตั้งกลุ่มตั้งชมรมฯแล้วก็จัดกิจกรรม
ไอ้ตรงการจัดกิจกรรมนี่แหละ มันมีความละเอียดอ่อนอยู่ เชื่อว่าทุกคนรู้ แต่จะพูดหรือไม่พูดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
พอมีกิจกรรม ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย บรรดาสปอนเซอร์เขาให้เพราะอะไร เชื่อหรือศรัทธาในกลุ่ม ให้เพราะเกรงใจ ให้เพราะปิดปาก
จากโครงการดีๆ ก็เลยมีเสียงตำหนิ เช่น การปลูกป่าต้นน้ำปิง และฟื้นฟูภูเขาหัวโล้น ถามว่าดีไหม ถ้าเบื้องต้นไม่รู้รายละเอียด ก็ต้องบอกว่าดี แต่มันไม่แค่ปลูกเฉยๆ ไหนจะเป็นเรื่องการจัดที่พักของบรรดาจิตอาสา จัดอาหาร บางครั้งต้องจัดหากล้าพันธ์ไม้ให้อีก แบบนี้กรมอุทยานฯในฐานะเจ้าภาพเขาจัดเองดีกว่าไหม
อีกเรื่องหนึ่งที่พึงสังวรก็คือ การนั่งตำแหน่งประธานชมรมฯ ถึง 4 สมัยซ้อน แม้ที่ประชุมจะรับรองทั้งที่มีระเบียบห้ามประธานฯนั่งเกิน 2 สมัย แต่ก็มีการโหวตรับรองให้แหกกฎกันถึง 2 ครั้ง สิ่งเหล่านี้แม้ในที่ประชุมไม่มีใครท้วงติงแต่ในฐานะเป็นผู้อาวุโสทั้งสิ้นควรคิด ตรึกตรองเพราะที่สุดแล้วสื่อ นักคิดนักเขียนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ใครก็ได้แต่พอถึงตัวเองกลายเป็นพวกมีอภิสิทธิ์...ความเชื่อที่ว่าทุกคนมีอภิสิทธิ์จึงเป็นความคิดที่อันตราย ใครพูด ใครคิด ยิ่งหลุดมาจากปากสื่อยิ่งสะท้อนความเป็นอิเหนามากไปกันใหญ่
ดังนั้นทางออกที่ดีในฐานะประธานชมรมสื่อฯซึ่งมีการนำเสนอด้วยเจตนาดีหรือไรก็ตามเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่บุคคล และองค์กรทางออกที่ดีที่สุดก็คือการออกมายอมรับ หรือขอโทษขอโพยตามธรรมเนียมของแขกบ้านแขกเรือนที่ดี...อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่าหน้าที่ของสื่อ ของนักข่าว นักเขียนคืออะไร หลักๆก็คือ “ติ -ชม”หรือเสนอแนะเท่านั้นมิใช่ต้องจัดกิจกรรมต่างๆที่ค่อนข้างไกลตัวโดยเฉพาะการปลุกป่าที่ดูดีแต่มันมีรายละเอียดมากมาย ทั้งทุน ความรู้ทางเกษตร การจัดแรงงาน การดูแลรักษา
ถอยออกมาดีไหม ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเขาว่ากันไปดีไหม... พวกเรามีหน้าที่ตรวจสอบดีกว่ามั้ย...ใครโกง ใครทำอะไรไม่ชอบมาพากลไปว่ากันตรงนั้นมันตรงกับการเป็นฐานันดร 4 ดี... เพราะโครงการเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำปิงนั้น อีกด้านหนึ่งเขามองว่าก็แค่นักข่าวอาวุโสกำลังหางานสนุกๆ หาเรื่องเที่ยวให้กับตัวเองครับ