ตาก - ถอดบทเรียน 43 ปี “ชาวละหู่นะ-มูเซอดำ ห้วยปลาหลด” จากต้นกาแฟพระราชทาน “พ่อหลวง ร.๙” สู่แรงบันดาลใจทิ้งไร่ฝิ่น-เปลี่ยนไร่เลื่อนลอย และเขาหัวโล้นนับหมื่นๆ ไร่ กลายเป็นป่าดงดิบ สร้างอาชีพชุมชนปีละกว่า 14 ล้านบาท กองทัพฯ เตรียมใช้เป็นโมเดลต้นแบบฟื้นป่า “บ่อเกลือ เมืองน่าน-เชียงใหม่” ต่อ
กว่า 60 ปีมาแล้วที่ชาวมูเซอดำได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากปลูก-ค้าฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยที่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก จนที่ดินสูญสิ้นความสมบูรณ์ ผืนป่าร่วม 2 หมื่นไร่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม เหลือเพียงภูเขาหัวโล้น แหล่งน้ำแห้งหาย แต่ทุกวันนี้ “ห้วยปลาหลด” กลายเป็นหมู่บ้านรักษ์ป่า ทำกินจากผืนป่า สร้างรายได้รวมทั้งหมู่บ้าน กว่า 14 ล้านบาท/ปี ได้อย่างน่าทึ่ง
นายจักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวอย่างซาบซึ้งว่า วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2517 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของบ้านห้วยปลาหลด เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรชุมชนบ้านห้วยปลาหลด
ซึ่งครั้งนั้นพระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปลูกพืชที่ทำรายได้ทดแทนฝิ่น พร้อมกับตั้งตลาดมูเซอเพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านทุกคนหันมาปลูกกาแฟผสมในพื้นที่ป่า นำไปสู่การดูแลรักษาป่า ประกอบอาชีพวนเกษตร ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เลิกการปลูกฝิ่น
โดยชาวบ้านได้อนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่ยังคงอยู่ และปลูกป่าทดแทน จนปัจจุบันมีผืนป่าหนาแน่น กลายเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่กว่า 20,000 ไร่ เป็นป่าต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดที่หวนคืนมาอยู่ที่นี่ พร้อมกับร่วมกันบริหารจัดการผืนป่าบ้านห้วยปลาหลดเป็นสัดเป็นส่วน จนสามารถเก็บผลผลิตจากป่าตามฤดูกาลนำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างยั่งยืน
พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข รองแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรองค์กรมหาชน รวมทั้งจังหวัดตาก และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกันถอดบทเรียนของชาวชุมชนห้วยปลาหลด ที่ยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาตลอด 43 ปี
รองแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยอีกว่า จากอดีตผืนป่าห้วยปลาหลดเป็นเพียงภูเขาหัวโล้น แห้งแล้ง และเสื่อมโทรม ลำน้ำแห้งขอด แต่เมื่อชุมชนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ จัดการและฟื้นฟูทรัพยากรดินน้ำป่าด้วยภูมิปัญญา มีจิตสำนึกอนุรักษ์ป่า
จนปัจจุบันป่าชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ขนาด 14,000 ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก กลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมูเซอดำอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิดคนอยู่กับป่า เมื่อมีป่าก็มีน้ำ ยิ่งช่วยส่งเสริมให้ป่าอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
โดยชุมชนมีแนวคิดการบริหารจัดการป่าและน้ำ ด้วยการแบ่งขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ได้แก่ ป่าชุมชน และป่าอนุรักษ์, การเพาะพันธุ์กล้าไม้ ปลูกป่าเสริมทุกปีร่วมกับอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช, การกำหนดระยะเวลาเก็บผลผลิตในพื้นที่ป่าเพื่อเว้นระยะเวลาให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง, การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ต้นน้ำ มีการสร้างฝายชะลอและเก็บกักน้ำ, กลางน้ำ จะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการกระจายน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนปลายน้ำ เป็นน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อใช้ในหมู่บ้าน
“ร่องลำห้วยตามสันเขาที่เคยลักลอบปลูกฝิ่น ปัจจุบันเป็นแปลงผัก วนเกษตรปลอดสารพิษ หลากหลายชนิด เช่น กาแฟอะราบิกา มะเขือเทศ ฟักแม้ว (ซาโยเต้) หรือมะระหวาน ฯลฯ ซึ่งให้ผลผลิตตลอดปี สามารถเก็บขายและเป็นรายได้หลักให้แก่ชาวชุมชนบ้านห้วยปลาหลด”
ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ กาแฟอะราบิกา หน่อไม้ มะขามป้อม และฟักแม้ว (ซาโยเต้) อะโวคาโด มีตลาดสินค้าเกษตรชุมชน หรือตลาดมูเซอ เป็นแหล่งรองรับผลผลิตทางการเกษตร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,000-35,000 บาทต่อเดือน เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 14,400,000 บาทต่อปี เป็นชุมชนต้นแบบของประเทศที่กองทัพบกส่งเสริมให้ชุมชนคนกับป่าอยู่ร่วมกัน สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน
“ทางกองทัพฯ จะนำบทเรียนจากชุมชนมูเซอดำห้วยปลาหลดไปปรับใช้กับพื้นที่บ่อเกลือ จังหวัดน่าน และที่เชียงใหม่ต่อไปด้วย”
นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานตาก กล่าวว่า ขณะนี้ด้วยระยะทาง 453 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร เราสามารถทิ้งความเหนื่อยล้ากับการดำเนินชีวิต เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางมายังบ้านห้วยปลาหลด ที่ชาวบ้านพร้อมเปิดครัวให้ผู้มาเยือนเดินเลือกเก็บผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ มาประกอบอาหารกินในแต่ละมื้อแล้ว
“ทิ้งเรื่องงานที่ค้างคาในสมอง มาลองสูดโอโซน มองดูพระอาทิตย์ขึ้นทักทายขอบฟ้า หรือจะปีนยอดไม้ ร่ำลาแสงตะวันที่ลับหายไปกับทิวเขาถนนธงชัย ฟังเสียงนกป่าร้องทักทายประดุจหนึ่งเสียงดนตรีจากธรรมชาติที่ขับกล่อม ยามที่เราสวมบทเป็นชาวสวนผักที่รักษ์ธรรมชาติ สร้างผลผลิตจากมือของเราเอง หากเหนื่อยและร้อนก็เดินไปเล่นน้ำตกจะเต๊าะป่า ที่เป็นธารน้ำใสๆ ไหลลัดเลาะโขดหิน แทรกผ่านผืนป่าที่คนและสัตว์ป่าแบ่งปันใช้ร่วมกัน เช่นเดียวกับสะพานหินธรรมชาติ ความอัศจรรย์ของขุนเขา ที่สร้างสรรค์ศิลปะซุกซ่อนไว้ในอ้อมกอดของผืนป่าได้”
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานตาก กล่าวอีกว่า การมาเยือน “บ้านห้วยปลาหลด” นอกจากจะได้ท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวละหู่นะ หรือชาวมูเซอดำ ที่น้อมนำกระแสพระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ผสมผสานเข้ากับรากวัฒนธรรมชนเผ่า จนสามารถสร้างผืนป่า สร้างอาชีพ ให้แก่ชุมชนมากว่า 43 ปีแล้ว
ผู้มาเยือนยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันอ่อนโยนของชาวมูเซอดำ ที่เรียกตนเองว่า “ละหู่นะ” เป็นมูเซอดั้งเดิมที่อพยพมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และยูนนาน ซึ่งยังคงยึดวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ ความอยู่รอดของชาวละหู่นะทุกคนขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ไม่ว่าเป็นดิน ความพอดีของน้ำจากท้องฟ้า
ซึ่งวัฒนธรรมของชาวลาหู่นะผูกพันอยู่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ได้สะท้อนออกมาในรูปแบบวรรณกรรมปากเปล่าจากรุ่นสู่รุ่นว่า “กระดูกของเราเป็นก้อนหิน เนื้อหนังของเราเป็นดิน สายเลือดเป็นสายน้ำ ลมหายใจเป็นอากาศ และความอบอุ่นภายในกายเป็นแสงแดด” ดินเป็นตัวแทนธรรมชาติที่มีความผูกพันที่ใกล้ชิดมนุษย์
“วันนี้ชาวห้วยปลาหลดพร้อมมอบรอยยิ้ม และความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือนอย่างอบอุ่น และสุดประทับใจแล้ว” น.ส.ธมลวรรณกล่าว