xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวเจ้าของโครงการก่อนมาเป็น “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดตัวเจ้าของโครงการ-ที่ตั้งสำนักงานใหญ่-ไทม์ไลน์ ก่อนมาเป็น “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ภายหลังคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” มูลค่า 4,600 ล้านบาท สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูล

ภายหลัง คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้าง “โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” มูลค่า 4,600 ล้านบาท สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ให้ใช้ที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ จัดสร้าง และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้าง บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่โครงการนี้จะตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร

ต่อไปนี้คือไทม์ไลน์ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “มูลนิธิหอชมเมือง” ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย มีสำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ 989 อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ชั้น 20 ยูนิตบี ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

วันที่ 8 ตุลาคม 2557 ก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ก่อสร้างและบริหารวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500,000 บาทถ้วน มีนายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 4 คน

วันที่ 15 ตุลาคม 2558 นายปรีชา มงคลหัตถี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ลงตรวจพื้นที่ “แปลงกองบังคับการตำรวจน้ำ” พื้นที่ก่อสร้างแปลงโครงการหอชมเมือง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

วันที่ 18 ส.ค. 2559 จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของ “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”

วันที่ 10 มกราคม 2560 “มูลนิธิหอชมเมือง” มีการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ ข้อ 1 เป็น ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดย “นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "นายพนัส สิมะเสถียร" กรรมการอีก 3 คน ประกอบด้วย นายสุทธิลักษณ์ วินทุพราหมณกุล นางสาวอารยา จิตตโรภาส และนายชลชาติ เมฆสุภะ

วันที่ 8 มิถุนายน 2560 “ธนาคารไทยพาณิชย์” ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนการขอจัดตั้งมูลนิธิ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง โดยแจ้งว่า “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ได้ติดต่อกู้ยืมเงิน จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาดำเนินการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร แต่จากการตรวจสอบข้อบังคับแล้วพบว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่ได้ระบุให้มูลนิธิขอสินเชื่อหรือก่อหลักประกันใดๆ ธนาคารจึงเกรงว่าการทำนิติกรรมกู้ยืมเงิน ตลอดจนการจำนองและการก่อหลักประกันใดๆ จะเป็นการดำเนินการนอกขอบเขตวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและไม่มีผลผูกพันมูลนิธิตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุคำถามถึงกรมการปกครองว่า หลังจากได้พิจารณาร่างแก้ไขข้อบังคับแล้ว เห็นว่า การกู้ยืมเงินเป็นการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ซึ่งขัดต่อการจัดตั้งมูลนิธิที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร การให้สินเชื่อ รวมทั้งการทำนิติกรรมจำนองและการก่อหลักประกันใด ๆของมูลนิธิดังกล่าว จะมีผลผูกพันมูลนิธิตามกฎหมายหรือไม่

“จากข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิจะขอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเพื่อให้สามารถกู้เงินได้ ประกอบด้วย ร่างข้อบังคับ ข้อ 4.6 เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินบริจาค หรือรับความช่วยเหลือจากสถาบันหรือโครงการต่างๆ เพื่อการก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และร่างข้อบังคับ ข้อ 13.1 คณะกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการกิจการของมูลนิธิให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ ควบคุมและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการกู้ยืมเงิน และขอหลักประกันใดๆ จากสถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น โดยมีคณะกรรมการให้ความเห็นชอบและมีมติของที่ประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามขณะกรรมการทั้งหมด”

“และร่างข้อบังคับ ข้อ 14.3 ประธานกรรมการมูลนิธิทีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และในการทำนิติกรรมใดๆ ของมูลนิธิ หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับ สัญญากู้ยืมเงิน และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิในการอรรถคดีนั้น ทั้งนี้ประธานกรรมการมูลนิธิอายจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ใดผู้หนึ่งกระทำการแทน”

คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ระบุว่า มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ โดยการก่อสร้างเป็นอาคารสูงซึ่งมีความสูงที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

“เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ จึงต้องมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาใช้ดำเนินการ มูลนิธิฯได้ยกร่างขอแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้มูลนิธิ มีความสามารถและมีผลผูกพันตากฎหมาย ตามสัญญากู้เงิน และสถาบันการเงินได้พิจารณาแล้ว”

กรมการปกครองเห็นว่า กรณีมูลนิธิขอเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินบริจาค หรือขอความช่วยเหลือจากสถาบันหรือโครงการต่างๆ นั้น สามารถดำเนินการได้ ถือเป็นการแก้ไขวัตถุประสงค์ที่มีความใกล้ชิดกับวัตถุประสงค์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 126

ส่วนอีก 2 ร่างที่เสนอมานั้น กรมการปกครองเห็นว่าเนื่องจากการที่มูลนิธิประสงค์จะขอกู้ยืมเงินเพื่อนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดนกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจลงนาในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อให้มีผลผูกพันกับมูลนิธิ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิอันเป็นกรณีที่มิได้มีแนวทางปฏิบัติมาก่อน

ขณะที่ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 พิจารณาว่า ตามเงื่อนไขที่มาตรา 115 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอและเห็นว่าข้อบังคับของมูลนิธิหากแก้ไขแล้วต้องมีรายการครบทั้ง 6 รายการ ประกอบด้วย ชื่อ วัตถุประสงค์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขา ทรัพย์สินขณะจัดตั้ง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการ และข้อกำหนดในการจัดการ

“ตามมาตรา 110 กำหนดเพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างอื่นโดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน และในการจัดการทรัพย์ของมูลนิธิ ต้องมิใช่การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากดำเนินตามวัตถุประสงค์ ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และเมื่อผู้เป็นกรรมการ มีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินตามวัตถุประสงค์ โดยนายทะเบียนต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่มาตรา 115 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด”
กำลังโหลดความคิดเห็น