xs
xsm
sm
md
lg

ต้องต้านรถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา


นอกจากรัฐบาลและกองเชียร์แล้ว แทบไม่ได้ยินเสียงจากคนกลุ่มใดออกมาสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนสักเท่าไหร่ ยินแต่เสียงคัดค้าน ปฏิกิริยาต่อต้านที่กำลังลุกลามขยายตัวเหมือนไฟลามทุ่ง

ไม่มีใครเห็นประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผลักดันอย่างออกหน้าออกตา ไม่มีใครเข้าใจว่า มีความจำเป็นเพียงใดจึงต้องใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งโครงการนี้

แม้มีความพยายามอธิบายถึงประโยชน์ของโครงการอยู่หลายรอบ แม้พล.อ.ประยุทธ์จะย้ำถึงเหตุผลที่ต้องเดินหน้าโครงการอยู่หลายครั้ง และบรรดารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แทบต้องเดินสายบรรยายสรรพคุณรถไฟความเร็วสูง แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่คล้อยตาม

และเห็นควรชะลอโครงการไว้ก่อน ด้วยเหตุผลมากมาย โดยเฉพาะเป็นโครงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ประเทศไม่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่ประชาชนต้องร่วมกันแบกภาระหนี้สินที่รัฐบาลชุดนี้ก่อไว้ ยันชั่วลูกชั่วหลาน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253.5 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.79 แสนล้านบาท โดยไม่มีรายงานผลการศึกษาว่า จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างไร

มีแต่คำกล่าวอ้างในเชิงนามธรรม เช่นเดียวกับหลายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอดีต ซึ่งลงทุนไปแล้วเจ๊ง ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่า และกลายเป็นโครงการที่ก่อหนี้ ทิ้งภาระให้ประชาชนร่วมกันแบกรับ

โครงการในอดีตนับสิบโครงการ ถูกผลักดันออกมาเพียงเพราะนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ ต้องการกอบโกยผลประโยชน์เท่านั้น ทั้งที่เป็นโครงการที่ไม่ก่อประโยชน์ใดกับประเทศ

โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครหรือโครงการโฮปเวลล์ ถูกผลักดันออกมา เพราะมีนักการเมืองรับผลประโยชน์จากการอนุมัติโครงการ แต่สุดท้ายกลายเป็นอนุสาวรีย์ประจานการทุจริต

โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท แต่โครงการแทบไปไม่รอด และแทบไม่มีผู้ใช้บริการในช่วงแรก จนสถานีรถไฟฟ้าแปรสภาพเป็นป่าช้า จนต้องอัดฉีดเงินเข้าพยุง แต่ก็ยังเป็นโครงการที่ไม่คุ้มการลงทุนอยู่ดี

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ วงเงินลงทุน 23,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นโดยการวางแผนทุจริต แต่ไม่มีนักการเมืองคนใดต้องรับโทษ โดยนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยขณะนั้น แม้ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี แต่หนีไปกบดานอยู่ต่างประเทศ

นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ถูกตัดสินในความผิดทุจริต แต่เสียชีวิตก่อนรับโทษ ส่วนนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ศาลยกฟ้อง

โครงการลงทุนภาครัฐอีกมากมายที่ไม่มีความจำเป็น ไม่ก่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน และถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วง แต่มีการดันทุรังโครงการออกมาจนได้ โดยที่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเสวยสุขกับการรับใต้โต๊ะ งาบหัวคิว กินเงินทอน

ส่วนประชาชนต้องรับทุกข์แบกหนี้กันชั่วลูกชั่วหลาน จนเกิดการสาปแช่งนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ดันทุรังผลักดันโครงการกันไม่เลิก

แม้ตายไปแล้ว แต่ยังถูกแช่งชักหักกระดูกจนทุกวันนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงลงทุนประมาณ 1.79 แสนล้านบาท สมมติอัตราดอกเบี้ยเพียงปีละ 2% จะมีภาระดอกเบี้ยปีละประมาณ 3,600 ล้านบาท หรือเดือนละ300 ล้านบาท

ทุกวันไม่ว่ารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราชจะวิ่งหรือไม่ จะมีผู้โดยสารสักกี่คน แต่ดอกเบี้ยจะวิ่งวันละ 10 ล้านบาทโดยไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะสถานีใด หรือจะเกิดเหตุการณ์อะไร

เฉพาะค่าดอกเบี้ยวันละ10 ล้านบาท รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่พล.อ.ประยุทธ์เรียกร้องอย่าต่อต้านนั้น จะทำรายได้เพียงพอจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่

หนี้สาธารณะล่าสุดสิ้นเดือนเมษายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 6.26 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 42.64% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยคนไทยต้องแบกเฉพาะหนี้สาธารณะเฉลี่ยคนละเกือบ 1 แสนบาท ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดงหรือคนชรา

สิ่งที่ประชาชนยังไม่สิ้นสงสัยคือ ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ต้องก่อหนี้ให้คนไทยต้องแบกหนักอีก มีความจำเป็นขนาดไหนจึงต้องสร้างรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่ประชาชนไม่ปรารถนา ทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำ ขณะที่เจ้าของเงินไม่อยากได้

ไม่กลัวถูกสาปแช่งจากลูกหลานที่ต้องรับกรรม เพราะต้องชดใช้หนี้แทนบ้างเลยหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น