xs
xsm
sm
md
lg

2 พรบ.ปิโตรฯคลอดแล้ว รัฐเร่งประมูล“เอราวัณ-บงกช”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - กรมเชื้อเพลิงฯ คาดออก TOR ประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ส.ค.นี้ คาดรู้ผลภายใน ก.พ.61 ยันใช้ "ม.44" ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก.ลุย 3 ธุรกิจพลังงาน ทำเพื่อประโยชน์ชาติ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมเตรียมส่งหนังสือ 7 ผู้ผลิตปิโตรเลียมให้เริ่มกลับมาผลิตและสำรวจอีกครั้ง หลังประกาศใช้ม. 44 คาด 1 เดือนทยอยกลับมาผลิตในอัตราเดิม ประเมินเบื้องต้นเอกชนสูญรายได้กว่า 1,000ล้านบาท


วานนี้ (21 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. เรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว

โดย นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับกฎหมาย 2 ฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะนำกฎหมายลูก 6 ฉบับที่ว่าด้วยสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ ฯลฯ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศบิดดิ้ง ทีโออาร์ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค. และคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือน ก.พ.2561 ตามกรอบที่ รมว.พลังงานระบุไว้

สำหรับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีใจความสำคัญว่า กำหนดให้มีระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มี 3 ระบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) จากเดิมมีเพียงระบบสัมปทานเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต ภายในเดือน ก.ย.ของทุกปีต้องเสนอแผนงานและงบประมาณสำหรับกิจการปิโตรเลียมในปีปฏิทินถัดไปให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรมชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรมการพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มกิจการปิโตรเลียมของทุกปี ขณะที่ระบบสัญญาจ้างบริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดต้องเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิขายหรือจำหน่าย และอาจมอบให้ผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิตเป็นผู้ขายหรือจำหน่ายแทนรัฐได้ โดยให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการประกอบกิจการปิโตรเลียมตกเป็นภาระของผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต

ด้าน พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีใจความสำคัญว่า ให้เพิ่มคำนิยามถึงบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน และกำหนดให้บริษัทซึ่งมีหน้าที่ยื่นแผนการผลิตปิโตรเลียมรายงานผลการประกอบการกิจการปิโตรเลียม แผนงานและงบประมาณประจำปี และเสนองบบัญชีค่าใช้จ่ายและงบการเงินประจำปี ตามมาตรา 42 ทวิ มาตรา 76 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องส่งสำเนา แผนการผลิตปิโตรเลียม ผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม และงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบบัญชีค่าใช้จ่าย และงบการเงินประจำปีต่ออธิบดี

***อ้างงัด ม.44ปลดล็อกที่ส.ป.ก.เพื่อชาติ

นายวีระศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ใน 3 กิจการพลังงาน ว่า กรมฯยังรอประกาศจาก คสช.อย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขการให้อำนาจ แก่คณะกรรมการ ส.ป.ก.ในกิจการปิโตรเลียมหลังจากนั้นกรมฯจึงจะทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ 7 รายที่ต้องหยุดดำเนินการสำรวจแลผลิตปิโตรเลียมไปตั้งแต่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ ซึ่งคาดว่าอัตรากำลังการผลิตจะใช้เวลา 1 เดือนที่จะกลับมาในอัตราเดิม ทั้งนี้จากการหยุดผลิต 7 บริษัทที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่คาบเกี่ยวส.ป.ก.รวม 4,000 ไร่ตั้งแต่ 3 มิ.ย.จนถึง 23 มิ.ย.60 หรือประมาณ 20 วันส่งผลกระทบต่อความเสียหายที่ต้องหยุดดำเนินการผลิตไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 950 ล้านบาทแต่เนื่องจากอัตรากำลังผลิตที่จะทยอยกลับมาเท่าเดิมจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนจึงคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่รัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 125 ล้านบาทที่จะลดลงในปีนี้ และองค์กรส่วนท้องถิ่นเสียรายได้ 75 ล้านบาท

สำหรับ ผู้ประกอบการทั้ง7 รายดังกล่าว ได้แก่ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แหล่งสิริกตติ์ 2. ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผลจากการหยุดดำเนินการกระทบกำลังผลิต น้ำมันดิบลด 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลด 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว ลด 100 บาร์เรลต่อวัน

** สับรัฐเสพติด ม.44 ละเว้น กม.ไม่ช่วย ปชช.

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ในเรื่อง ส.ป.ก. เข้าใจว่า รัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาที่เดิน แต่อยากให้มีกติกา เรื่องการใช้ที่ดินให้ชัดเจนเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทดแทน เหมืองแร่ หรือ ปิโตรเลียม ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องทำการสำรวจมาทำโครงการเหล่านี้ ก็ควรจะมีกฎหมายเฉพาะของแต่ละเรื่อง

“มาตรา 44 กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ภาครัฐไม่ต้องทำตามกฎหมายปกติที่มีอยู่ เหตุผลที่ให้มักจะระบุว่า ที่ดำเนินการไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายต่างๆ มากมาย จึงกลายเป็นว่า ถ้าเราเสพติดกับวิธีการแบบนี้ ข้าราชการหรือรัฐบาลทำผิดกฎหมาย ก็มาใช้มาตรา 44 ก็ยกเว้นได้หมด แต่เมื่อเทียบกับกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่น หมู่บ้านชาวประมง คนอยู่ริมแม่น้ำ ริมทะเล เดือดร้อนจาก พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ที่ระบุว่า พวกเขาเป็นผู้รุกล้ำลำน้ำ เราไม่เคยเห็นมี มาตรา 44 ช่วยชาวบ้านเลย ตนอยากให้การแก้ปัญหามีความเป็นระบบ แล้วก็คำนึงความเป็นจริงของสังคม ซึ่งตนไม่ได้ปกป้องนายทุน ถ้าพวกเขาทำผิดก็จัดการได้ แต่ถ้ามีผลกระทบกับประชาชนที่มีความจำเป็น หรือมีที่มาที่ไป เราจะดูแลเขาอย่างไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น