กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอประเด็นแก้ไขปัญหาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.ในเวทีประชุม ป.ย.ป.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ล่าสุดได้หารือใกล้ชิดกับ “รองฯ วิษณุ” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเบื้องต้น ย้ำจะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด
กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ต้องหยุดผลิตและสำรวจรวม 7 บริษัท
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันที่ 19 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งกระทรวงพลังงานจะมีการนำเสนอประเด็นปัญหาดังกล่าวหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
“ที่ผ่านมานายกฯ เองก็ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและและสหกรณ์ อย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุดหลังจากที่คำสั่งศาลฯ ได้ออกมา” นายอารีพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ ส.ป.ก.เป็นพื้นที่ที่ได้มีการอนุญาตดำเนินการมานานก่อนที่จะที่จะมีการกำหนดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.แต่เมื่อมีคำสั่งศาลฯ ก็ต้องหยุดดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายซึ่งจากนี้กระทรวงพลังงานเองก็คงจะต้องพิจารณาว่าจะสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรมาสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศได้อย่างไรซึ่งอาจจะมีกฎหมายมารองรับใหม่หรือไม่คงจะต้องหารือในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศนั้นก็พบว่าหลายประเทศสามารถพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรร่วมกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2. บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3. บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5. บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6. บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7. บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์