ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1,028 ล้านบาท ให้“กรมปศุสัตว์”ใช้จ่ายใน“โครงการโคบาลบูรพา”ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จ.สระแก้ว ปี 2559/60 ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อรัญประเทศ โคกสูง และวัฒนานคร เนื้อที่ 100,477 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย และ พื้นที่ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคสช. จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 3,346 ไร่ เกษตรกร 271 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (พ.ศ. 2560-2565)
เอกสารเสนอ ครม. ระบุว่าโครงการแรก “การเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก”จะปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรมาเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 6,000 ราย รายละ 5 ตัว รวมแม่โค 30,000 ตัว ราคาตัวละ 30,000 บาท รวมวงเงิน 900 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินงานในลักษณะ“ธนาคารโคเนื้อ”กำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องส่งลูกโคเพศเมีย อายุ 12 เดือน จำนวน 5 ตัวแรกของฝูงคืนให้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางประชารัฐ
โดยแม่พันธุ์โคเนื้อ จะจัดหาในประเทศเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอ หรือหาซื้อในประเทศไม่ได้ จะพิจารณาแนวทางการนำเข้าแม่โคจากต่างประเทศเป็นลำดับถัดไป
ส่วนโรงเรือน และแหล่งน้ำ กรมปศุสัตว์ จะขอกู้ยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 438 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้เกษตรกรปลอดดอกเบี้ยรายละ 58,000 บาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างโรงเรือน รายละ 50,000 บาท และค่าขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อตอก หรือ บ่อน้ำตื้น รายละ 8,000 บาท
ตามแผนยังหนุน“อาชีพเลี้ยงแพะ”ให้เกษตรกร 100 ราย รายละ 32 ตัว รวมวงเงิน 13.20 ล้านบาท และเงินยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยไปใช้ก่อสร้างโรงเรือนรายละ 100,000 บาท รวม 10 ล้านบาท และค่าขุดเจาะแหล่งน้ำรายละ 8,000 บาท รวมวงเงิน 800,000 บาท กำหนดเงื่อนไขต้องส่งคืนลูกแพะเพศเมีย อายุ 6 เดือน เพื่อนำไปขยายผลให้เกษตรกรรายใหม่ยืมไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
โครงการยังรวมถึง“ปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนการปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่ำ”พื้นที่ 40,300 ไร่ โดยจะอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาท ใช้เงิน 80.60 ล้านบาท โครงการ“จัดตั้งโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานจีเอ็มพี”จำนวน 1 โรง งบประมาณ 34.60 ล้านบาท รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้ง“สหกรณ์โคบาลบูรพา 1 แห่ง”โดยใช้งบประมาณปกติ เพื่อสนับสนุนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่
โครงการเสริมสร้างอาชีพของกระทรวงเกษตรฯ นั้นทำมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน (2559) กรมปศุสัตว์ เคยจัดทำ “โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ”โดยได้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจำนวน 1 พันล้านบาท แต่โครงการจำต้องพับไปก่อน เนื่องจากตามหลักหน่วยงานที่จะมาขอโครงการใหม่ จะต้องปิดโครงการเก่า และชำระหนี้เก่าให้หมดเสียก่อน ถึงจะมาขอเงินกู้ใหม่ไม่ได้
แผนเดิมมีกรอบระยะเวลาดำเนิน งาน 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2567 โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานเช่นเดียวกับที่ครม.อนุมติ
แต่มีการกำหนดสเปก จะต้องเป็นโคเนื้อเพศเมียพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง“บราห์มัน”หรือพันธุ์อื่นที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริมอายุ 2-4 ปี น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 280 กก. โดยจะพิจารณาแม่โคสาวตั้งท้อง 3-5 เดือนเข้าร่วมโครงการก่อนเป็นลำดับแรก โดยอ้างวัตถุประสงค์ว่า จำนวนโคเนื้อในประเทศไทยลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 8.03 ล้านตัว ในปี 2549 เหลือเพียง 4.31 ล้านตัวในปี 2557 ขณะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยโครงการนี้เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดการนำเข้า และเป็นแหล่งวัตถุดิบ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และพลังงานทดแทนให้แก่เกษตรกรด้วย
ในคราวนั้น มีข้อมูลจากเกษตรกรโคเนื้อว่า “ขณะนี้มีพ่อค้าสั่งโคเนื้อสาว มาจ่อแถวชายแดนไทยหากกองทุนสงเคราะห์อนุมัติเงิน คาดว่าจะมีโคจากเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นจำนวนมาก บางรายเตรียมโอนโคตัวเองไปให้ญาติพี่น้อง แล้วนำมาขายในโครงการหวังจะได้เงินจากรัฐบาลเนื่องจากโครงการดังกล่าวยังมีช่องโหว่อีกมาก หากการอนุมัติโครงการและเงินไม่ผ่าน คนที่เสียหายมากสุดน่าจะเป็นพ่อค้าที่สั่งวัวนำเข้ามาจ่อที่ชายแดน”
ปฐมบทของโครงการลักษณะนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 รัฐบาลในขณะนั้น จัดทำ“โครงการวัวอีสานเขียว ระยะที่ 1”สั่งซื้อวัวจากออสเตรเลีย 4,250 ตัว มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียง 850 ราย แต่เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น แม่โคไม่เป็นสัด ผสมไม่ติด สุดท้ายคือ ตกลูกช้าและน้อยกว่าที่กำหนดไว้ วัวที่ผสมตัวเตี้ย โครงสร้างเล็ก ต่อมาโครงการก็ต้องหยุดไป จากสาเหตุที่“วัวเลี้ยงไม่โต”ถือเป็นประวัติศาสตร์ ที่ตราหน้าโครงการนั้นว่า“โครงการวัวพลาสติก”จากภาพที่วัวถูกนำใส่รถบรรทุกมาเททิ้ง รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณหลายร้อยล้านในการแก้ไขปัญหานี้
“ที่ซ้ำร้ายกว่าคือ เกิดความปั่นป่วนขึ้นในระบบผลิตและตลาดโคเนื้อทั้งประเทศ”
ต่อมาปี 2547 โครงการดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง ในชื่อ“โครงการวัวเอื้ออาทร”บางคนเรียกว่า“โคล้านครอบครัว”แต่กลุ่ม“สมัชชาคนจน”สมัยนั้นตั้งชื่อว่า“วัวล้านตัว โครงการลวงโลก ต้มเกษตรกรทั่วประเทศ”ครม.สมัยนั้นได้อนุมัติงบประมาณ 4,426 ล้านบาท ในการเพิ่มประสิทธิภาพ-ผสมพันธุ์โคเนื้อในระยะเวลา 4 ปี ( 2548- 2551) รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าในปี 2549 จะอนุมัติงบประมาณ 5 พันล้านบาท มาจัดซื้อโค 5 แสนตัว แจกให้กับเกษตรกร 2.5 แสนครอบครัว ส่วนปี 2550 จะแจกโค 7 แสนตัว ให้กับ 3.5 แสนครอบครัว และปี 2551 จะแจกโค 8 แสนตัว ให้กับ 4 แสนครอบครัว ถึงขั้นมีการโหมงานด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถึงขนาดให้ทำ“วีซีดีเพลงโคแก้จน”โดยให้ แอ๊ด คาราบาว ร้องและเป็นพรีเซ็นเตอร์ เริ่มโครงการ“ซื้อวัวแจกให้ชาวบ้าน แล้วตามไปผสมเทียม-พัฒนาพันธุ์ในภายหลัง”
สมัยนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีเงื่อนไขแจกครัวเรือนละ 2-3 ตัว ชาวบ้านเลี้ยง 4 ปี ขายได้กำไร ต่อมานโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 6 ก.พ.48 โดยมีเงื่อนไขแจกโค 5 ล้านตัว 1 ล้านครอบครัว ให้ทุกครัวเรือนที่ยากจน (แต่ต่อมานายสมศักดิ์ ถูกปรับออกจากรมว.เกษตรฯ นำมาสู่ หยดน้ำตาอำลาหน้ากระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้น )
โครงการนี้ถูกปรับเปลี่ยนอีก 2 ครั้ง สมัยนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา และสมัย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทำให้โครงการนี้ผ่านหน้ารมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึง 3 คน ภายใต้เงื่อนไข โค 1 ล้านตัว 1 ล้านครอบครัว เลี้ยง 1 ปี ขายให้บริษัทเอกชนให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ผสมเทียม 2 หมื่นคน ค่าอบรม คนละ 7 พันบาท จากนั้นไปผสมเทียม-พัฒนาพันธุ์ แล้วแจกโคให้ชาวบ้านเลี้ยง
แต่ต่อมาโครงการนี้ กลับมีการเลื่อนออกไปหลายครั้ง โดยไม่รู้ว่าจะแจกได้จริงเมื่อใด นักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้าน ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้เกษตรกรจะถูกขูดรีด 2 ต่อ คือเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) ร้อยละ 10 ต่อปี และเสียค่าหัวคิวที่หักจากรายได้ในวันขายวัว อีกร้อยละ 15 ให้กับบริษัทส่งเสริมธุรกิจการเกษตรไทย”(สธท.) และ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว เกษตรกรที่ยืมวัวมาเลี้ยงจะมีรายได้ตกราววันละ 1-2 บาท เท่านั้น เท่ากับการแปรสภาพเกษตรกรให้เป็น“มือปืนรับจ้างเลี้ยงวัว”ให้กับนายทุนนั่นเอง
มีข่าวหน้าสื่อว่า รัฐบาลสมัยนั้นพยายามปรับราคารับซื้อวัว จากตัวละ 10,000 บาท เป็น 12,000 -13,000 บาท เพื่อเร่งแจกวัวให้เกษตรกรยืมไปเลี้ยงโดยเร็ว และช่วยเหลือนักการเมือง ซึ่งพากันกักตุนซื้อวัวกว่า 3 แสนตัวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีต้นทุนตัวละ 2-4 พันบาท
ต่อมากลุ่มโคเนื้อ โคนม นักวิชาการ ไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯ ที่เกรงว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย“วัวพลาสติก”จึงได้ออกมาคัดค้านโครงการนี้
มุ่งเป้าไปที่ เรื่องการจัดตั้ง“บริษัทส่งเสริมธุรกิจการเกษตรไทย”(สธท.) หรือที่เรียกกันว่า SPV (Special Purpose Vehicle)ที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อ และแจกโคให้กับเกษตรกรเพื่อเลี้ยง โดย SPVจะรับซื้อในราคาที่กำหนดตามอายุ และน้ำหนักของโคตามสายพันธุ์
ถูกกล่าวหาว่า มีความสลับซับซ้อน และยังเป็นองค์กรซ่อนเงื่อน ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอกชน แม้รัฐบาลขณะนั้นจะลดวงเงินลงทุนในส่วนงบประมาณ เหลือเพียงไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังไม่ได้ตีความว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนรัฐ-เอกชน เพื่อดำเนินโครงการนี้ ขัด พ.ร.บ.ฯ หรือไม่
ส่วนการบริหารจัดการ มีคำถามตั้งแต่เรื่องการจัดหาพันธุ์โค ซึ่งปรากฏข่าวว่า มีบริษัทนายหน้าเข้ามาจัดการ และยังมีคำถามถึงการคิดเงินค่าดำเนินการ ที่บริษัทหักจากเกษตรกรในโครงการ 7% และหากเกษตรกรไม่ขายวัวคืนให้บริษัท จะถูกปรับ 12% มีฐานคิดมาจากอะไร และตัวเลขที่เกษตรกรถูกบริษัทหักค่าดำเนินการสูงเกินไปหรือไม่
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องหนี้สูญและการติดตามหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการที่ยังไม่มีวิธีบริหารจัดการที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาผลกระทบหลังจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (FTAไทย-ออสเตรเลีย) ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมโคเนื้อจากออสเตรเลีย เข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตและตลาด จนไทยอาจถูกออสเตรเลียทุ่มตลาด เพราะต้นทุนการเลี้ยงโคของออสเตรเลียถูกกว่าไทยครึ่งหนึ่ง
ต่อมากลับมีปัญหา มีการส่งโคคืน มีการลักลอบขายโดยไม่ได้รับอนุญาต กว่าร้อยละ 50 โดยไม่แจ้งให้บริษัท SPVหรือ ธ.ก.ส.รับทราบ โคตาย และเกษตรกรนำมาปล่อยทิ้งจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจขณะนั้น ได้เสนอให้ "ยุติ" โครงการหลังจากพบว่า เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มีปัญหาราคาตกต่ำ การจัดการโครงการไม่ดีพอ ทำให้มีผู้นำโคส่งคืนจำนวนมาก ส่วนบางรายลักลอบนำไปขาย
มีตัวเลขว่า ขณะนั้นมีเกษตรกรที่เลี้ยงโคตามโครงการ จำนวน 8,962 ราย จำนวนโค 17,835 ตัว โดยมติครม. 2552 มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) และ กรมปศุสัตว์ รับผิดชอบโครงการ และไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรรายใหม่เลี้ยงเพิ่มเติม
มติครม.ยังระบุว่า สาเหตุที่ต้องยุบ SPV เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่จัดตั้งบริษัท มีการจัดหาโคเนื้อให้เกษตรกร และมีโคที่เกษตรกรลักลอบขายออกไปในท้องตลาด นำไปสู่การดำเนินคดีกับเกษตรกร แต่เนื่องจากบริษัท ไม่มีความพร้อมในการฟ้องคดีแพ่งกับผู้เลี้ยงโค ครม. จึงให้ยุติการดำเนินกิจการของบริษัทเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.52 และให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการจำหน่ายกิจการ
ถึงวันนี้นับแล้วกว่า 24 ปี ตลอดโครงการของรัฐบาลในอดีต (ปี37-60) จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโครงการ“เสริมอาชีพให้เกษตรกร”มาปัดฝุ่น ภายใต้ชื่อ“โครงการโคบาลบูรพา”ซึ่งหวังว่า จะไม่ซ้ำรอย เหมือนโครงการในอดีต เพราะโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว แห่งเดียว ต่างจากในอดีต ที่มุ่งเน้นเกษตรกรทั่วประเทศ จึงมีความเสียหายมากกว่า .