xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนามหาสารคามบุกศาลากลางทวงถามรัฐ ขอความชัดเจนโครงการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางไพเราะ รอยตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นตัวแทนรับหนังสือจากเกษตรกร เรื่องโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว
มหาสารคาม - ชาวนา 13 อำเภอของ จ.มหาสารคาม ทวงถามความชัดเจนหลังเข้าร่วมโครงการรัฐปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น แต่กลับไม่ชัดเจน ทั้งยังได้รับสนับสนุนสินเชื่อ ขีดเส้น 15 วันพร้อมกลับมาทวงถามคำตอบ

วันนี้ (8 มิ.ย. 60) ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม น.ส.กานต์ระวี บัวบุญ ตัวแทนเกษตรกรพร้อมด้วยเกษตรกรจากทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดมหาสารคาม จำนวนกว่า 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (ปศุสัตว์) โดยมีนางไพเราะ รอยตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นตัวแทนรับหนังสือจากทางเกษตรกร

ชาวบ้านที่เดินทางมายื่นหนังสือได้รับความเดือดร้อน กรณีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสม ให้เป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยจังหวัดมหาสารคามเป็น 1 ใน 30 จังหวัดนำร่อง ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าข้าวแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิรูปภาคการเกษตร

ใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต หรือผลิตให้มีปริมาณผลผลิตตรงกับความปริมาณความต้องการของตลาด” เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเรื่องราคา และการส่งออก จึงพิจารณากำหนดเป้าหมายปริมาณความต้องการผลผลิตข้าวในปี 2559/2560 จำนวน 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก พื้นที่เป้าหมาย 62.12 ล้านไร่ ซึ่งจำเป็นต้องลดการผลิตข้าวเปลือกที่เคยผลิตได้เฉลี่ยปีละ 36.1 ล้านตันข้าวเปลือก จึงมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปี รอบที่ 1 จำนวน 0.57 ล้านไร่

น.ส.กานต์ระวี บัวบุญ ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า ตนและพี่น้องเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการรัฐบาล และกำลังได้รับความเดือดร้อนจากความไม่ชัดเจน เวลาผ่านมาหลายเดือนจนใกล้หมดสิ้นโครงการเดือนกันยายน 2560 นี้แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งถึงช่วงฤดูกาลทำนาแล้ว พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ หากยังไม่ชัดเจนพี่น้องเกษตรกรก็จะเริ่มต้นทำนา ไม่รอโครงการของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าโครงการของรัฐบาลไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริงให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 122 กลุ่ม โดยใช้ระบบค้ำประกันแบบกลุ่มๆ ละ 10 คน หาก ธ.ก.ส.อนุมัติจะได้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.รายละ 250,000 บาท คิดเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท เกษตรกรคาดหวังว่าเงินกู้ดังกล่าวจะนำมาปรับปรุงพื้นที่และทำการเลี้ยงสัตว์ แต่ละรายได้ปรับเปลี่ยนที่นามาปลูกหญ้าเพื่อเตรียมทำการปศุสัตว์ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงจุดไหน ถามหน่วยงานหนึ่งก็จะโยนให้ถามอีกหน่วยงานหนึ่งจึงมาร้องขอให้จังหวัดมหาสารคามช่วยติดตามเรื่องถึงสาเหตุความล่าช้าในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่าเกิดจากสาเหตุใด เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ และเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร พร้อมแจ้งความคืบหน้าภายใน 15 วัน หากไม่ได้รับคำตอบพี่น้องเกษตรกรจะรวมตัวกันเดินทางมาติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง

ด้านนายชัชวาล ประเสริฐ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ติดตามเรื่องให้แก่เกษตรกร ขณะนี้เอกสารทั้งหมดรวมทั้งแผนธุรกิจได้ส่งให้กับ ธ.ก.ส.เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ ธ.ก.ส.ตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกรแต่ละรายเพื่อจะปล่อยเงินกู้ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เท่าที่ตรวจสอบระยะเวลายังพอเหลือ ในส่วนของปศุสัตว์ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงไปให้คำปรึกษา พร้อมแนะแนวทางให้เกษตรกรที่ผ่านมาอาจจะผิดพลาดเรื่องการสื่อสาร และการกรอกข้อมูล แต่ละกลุ่มเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นอาจจะไม่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น