xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเมืองน้ำดำจี้สอบโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ “ลำพะยังตอนบน” ทำน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - เกษตรกรชาวอำเภอนาคูจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ “ลำพะยังตอนบน” ของกรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ขอนแก่น หลังทำพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านท่วม 2 อำเภอกว่า 100 ไร่ ระบุบริษัทรับเหมาปิดทางน้ำไหล หวั่นหน้าฝนทำน้ำทะลักท่วมหนักกว่าเดิม ชี้อาจขาดการศึกษาถึงผลกระทบก่อน-หลังทำ จี้ สตง. ป.ป.ท. ศูนย์ดำรงธรรม และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงสอบแบบแปลนและงบประมาณทั้งหมด

จากกรณีชาวนาในพื้นที่บ้านหนองห้าง ม.4 ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หลังจากได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นาข้าว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำลำพะยังตอนบน บริเวณบ้านหนองห้าง ม.4 ต.โนนนาจาน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ขอนแก่น เป็นเจ้าของโครงการ และ หจก.ฟอเรสอินยิเนียริ่ง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

สาเหตุเกิดจากการก่อสร้างมีการปิดทางน้ำไหลของห้วยลำพะยังจนทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมนาข้าวกินพื้นที่หลายหมู่บ้านใน อ.นาคู และ อ.เขาวง และไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวได้ และทำให้ข้าวที่หว่านในแปลงนาเน่าเสียหายทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับการเหลียวแลและช่วยเหลือ

ล่าสุดชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตง. ป.ป.ท. ศูนย์ดำธรรม จ.กาฬสินธุ์ และกรมทรัพยากรน้ำ ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ทั้งแบบแปลน งบประมาณ และคุณภาพของงาน เนื่องจากเชื่อว่าก่อนการดำเนินการน่าจะไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว และมีการก่อสร้างนานถึง 2 ปี

นายพร้อมพงศ์ พิมเภา ชาวบ้านหนองห้าง ม.4 ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรเสียหายและมีบางรายจนไม่สามารถปลูกข้าวไว้กินนั้นเกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างทำนานถึง 2 ปี สาเหตุมีการปิดทางน้ำไหลจึงทำน้ำเอ่อเข้าท่วม โดยเฉพาะในช่วงฝนตกปริมาณน้ำมากยิ่งท่วมหนักกินพื้นที่หลายหมู่บ้านใน อ.นาคู และ อ.เขาวง และมีความลึกเกือบท่วมหัว ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปตามๆ กัน

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวแม้มีการประชาคม แต่คาดว่าน่าจะไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะหากมีการศึกษาผลกระทบและเอาใจใส่ชาวบ้านคงไม่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีแรกมีการก่อสร้าง และมีน้ำท่วมนาข้าวของชาวบ้านเสียหาย ผู้รับเหมาก็จ่ายเงินชดเชยเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกกระสอบละประมาณ 600 บาทเท่านั้น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ และหากเปรียบเทียบกันแล้วเงินที่ช่วยเหลือนั้นมีคุณค่าไม่เทียบเท่ากับการขาดโอกาสในการทำนาปลูกข้าวในพื้นที่นาของตนเองได้ เพราะการทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตที่ทำมาในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง

โดยในแต่ละปีจะทำนาปลูกข้าวไว้กินเลี้ยงครอบครัว แต่ถ้าหากเหลือก็จะนำไปขาย เพื่อนำเงินมาใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาซื้อปุ๋ย ค่าไถ่นา แต่ปัจจุบันกลับทำไม่ได้ ดังนั้นอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้ง กรมทรัพยากรน้ำ สตง. ป.ป.ท. ศูนย์ดำรงธรรม ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแบบแปลน งบประมาณ และมาตรฐานในการก่อสร้าง ว่าสาเหตุใดจึงก่อสร้างล่าช้าจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน



กำลังโหลดความคิดเห็น