xs
xsm
sm
md
lg

อาหรับคว่ำบาตรกาตาร์หวั่นกระทบประชุม“จีจีซี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - เจ้ากระทรวงบัวแก้ว รับปมกลุ่มชาติตะวันออกกลางคว่ำบาตร “กาตาร์” ส่อทำเวที “จีจีซี” ปลายปีนี้ต้องเลื่อน ชี้คนไทยในกาตาร์อาจมีปัญหาด้านอาหาร-การเดินทาง แต่ไม่กระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้าน กระทรวงพาณิชย์ ติดตามผลกระทบด้านการค้าของไทย เผยอัญมณี ผัก ผลไม้ ไม่กระทบ เหตุส่งทางเครื่องบิน แต่รถยนต์ แอร์ ตู้เย็น อาจได้รับผลกระทบ ส่วน สนค. ประเมินราคาน้ำมันไม่น่ากระทบ ขณะที่ “การบินไทย” ย้ำไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังกาตาร์

ตามที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ ทั้งยังปิดพรมแดนทั้งทางบก อากาศและเรือ โดยกล่าวหาว่าประเทศกาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ เช่น กลุ่มไอเอส และกลุ่มอัลกออิดะห์ รวมถึงประเทศอิหร่านนั้น

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การประชุมระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (จีจีซี) โดยมีประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนที่มีกำหนดการประชุมปลายปีนี้อาจไม่ได้เป็นไปตามกำหนด

เมื่อถามว่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกาตาร์หรือไม่ นายดอน ตอบว่า ประเทศไทยกับกาตาร์ไม่ได้มีผลอะไรต่อกันโดยตรง ยกเว้นประเทศที่ไม่พอใจกาตาร์อาจแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีกาตาร์ ทั้งนี้ในฐานะที่เราเป็นมิตรประเทศของกันและกันก็อยากเห็นความเป็นปกติกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ส่วนจะมีผลกระทบต่อคนไทยในกาตาร์หรือไม่นั้น อาจมีบ้างแต่ไม่มากนัก โดยอาจกระทบในแง่ของอาหารเพราะมีการปิดทุกช่องทางการนำเข้าและส่งออก

เมื่อถามว่าจะมีผลต่อการลงจอดเครื่องบินโดยเฉพาะสายการบินไทย หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ช่วงเวลานี้กาตาร์คงหาทางจัดการเพื่อให้มีช่องในการติดต่อกับนานาประเทศได้ซึ่งคงไม่สะดวกเหมือนเดิม โดยยังคงต้องรอดูสถานการณ์อีก 2-3 วัน

** “การบินไทย” ไม่มีเที่ยวบินไปกาตาร์

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวว่า ในส่วนของ สายการบินไทย ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากไม่ได้ทำการบินไปยังเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ และไม่มีเส้นทางบินผ่านประเทศกาตาร์แต่อย่างใด โดยปัจจุบัน สายการบินไทย มีเที่ยวบินไปยังจุดบินในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมืองมัสกัต ประเทศโอมาน และเมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันยังทำการบินตามปกติ

** “พาณิชย์” ห่วงส่งออกไทยกระทบ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยไปยังกาตาร์ แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อการค้าไทย

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ที่เมืองดูไบว่า การส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปยังกาตาร์จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากไทยไปกาตาร์ยังทำได้โดยสายการบิน Qatar Airway ที่บินตรงกรุงเทพฯ-กรุงโดฮา โดยสินค้าอัญมณี ผักและผลไม้ที่ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ และต่อไปอาจจะต้องส่งตรงเข้า Doha Port แทนการส่งผ่านดูไบ

** สนค.มั่นใจไม่ส่งผลกระทบด้านราคาน้ำมัน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อ้านวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระยะสั้นราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบมากนัก แม้จะมีความกังวลในประเด็นการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แต่เนื่องจากกาตาร์มีสัดส่วนการผลิตเพียง 6.4 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 1.9% ของการผลิตน้ำมันรวมของโอเปกซึ่งตามข้อตกลงกาตาร์ต้องลดกำลังการผลิตลง 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน แต่ถ้าไม่ลดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของตลาดน้ำมันโลก แต่ สนค. เชื่อว่ากาตาร์จะยังคงให้ความร่วมมือเหมือนกรณีอิหร่านที่แม้จะมีความขัดแย้งกับซาอุดิอาระเบีย แต่ยังให้ความร่วมมือกับโอเปก

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สนค. มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญใน 3 ด้านคือ 1.ด้านสายการบิน Qatar Airways ไม่สามารถให้บริการและบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น 2.ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 40% ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนได้ และ 3.รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซ LNG รายใหญ่สุดของโลก (ประมาณ 30%ของการผลิตทั้งหมด) โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และจอร์แดน โดยคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์อาจส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงได้

** ปตท.ยันไม่กระทบส่งมอบก๊าซ

รายงานข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่ 4 ชาติอาหรับคว่ำบาตรกาตาร์และตัดเส้นทางคมนาคมระหว่างกันนั้น ปตท. ได้รับการยืนยันจากบริษัท Qatar Liquefied Gas (Qatargas) ว่าไม่มีผลกระทบต่อการส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ ปตท. ทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG กับ Qatargas ปีละ 2 ล้านตัน โดยรับก๊าซ LNG มาตั้งแต่ปี 2558 อีกทั้งบริษัทลูกคือบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ก็ไม่มีการลงทุนในกาตาร์แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น