อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ว่ากันว่าคนไทยตายด้วยอุบัติเหตุมากที่สุดประเทศหนึ่ง สงกรานต์แต่ละครั้ง ไม่หลับในก็เมาเหล้าและอาจจะมีคนตายจากอุบัติเหตุมากกว่าระเบิดจากไอซิส หรือสงครามอ่าวด้วยซ้ำไป ปัญหาหลักคือประเทศไทยเราไม่มีบทลงโทษที่เข้มแข็ง และไม่มีการนำข้อมูลมาใช้เท่าที่ควร
วันนี้เรามาลองหาวิธีการในการใช้ข้อมูลในยุค Thailand 4.0 เพื่อลดอุบัติเหตุของชาติและป้องกันชีวิตคนไทย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุได้อย่างง่าย
ประการแรก นักจิตวิทยามีข้อค้นพบมาแล้วเนิ่นนานว่า ตัวแปรที่ทำนายพฤติกรรมในอนาคตได้ดีที่สุดคือพฤติกรรมในอดีต (The best predictor of future behavior is the past behavior) พฤติกรรมการขับรถของเราในอดีตมีแนวโน้มจะทำนายพฤติกรรมการขับรถของเราในอนาคตได้ดีที่สุด คนที่ขับรถเลว มีพฤติกรรมหลับใน หรือ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอลล์แล้วมึนเมาแล้วขับรถในอดีต พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจร ย่อมทำนายพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ในอนาคตได้ดีที่สุด
ประการที่สอง ต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำผิดกฎจราจรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้อมูลการเบิกจ่ายสินไหมประกันรถยนต์หรือประกันอุบัติเหตุจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งได้แก่ ความถี่ของความเสียหาย (Frequency) เช่น รถคันนี้และคนขับรถยนต์คนนี้เคยเกิดอุบัติเหตุกี่ครั้ง และเกิดความรุนแรงของความเสียหาย (Severity) เท่าไหร่ เช่น รถคันนี้มีความถี่ของความเสียหายคือการชนรถคนอื่นไปสามครั้งในรอบปี แต่ละครั้งเกิดความรุนแรงของความเสียหายโดยเฉลี่ย 100,000 บาท ทำให้มีความเสียหายรวมเท่ากับสามแสนบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมจากเดิมดังจะชี้แจงต่อไป
ประการที่สาม ประเทศไทยควรมี National Claim Bureau ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายสินไหม ในลักษณะเดียวกันกับ National Credit Bureau ที่รวมรวมข้อมูลเครดิตและการชำระหนี้จากธนาคารพาณิชย์และอื่นๆ คปภ อาจจะตั้ง National Claim Bureau นี้ได้ โดยมีอำนาจให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยส่งข้อมูลการเบิกจ่ายสินไหมเข้ามาที่ National Claim Bureau ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับวิทยาการประกันภัย จะทำให้เกิดการคิดเบี้ยประกันภัยบนพื้นฐานจากข้อมูลจริงและนำไปสู่ความเป็นธรรมของสังคม คปภ. เองสามารถขายข้อมูลให้กับบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อดึงข้อมูลประวัติข้อมูลการเบิกจ่ายไปใช้งานได้
ประการที่สี่ ควรใช้หลักการของ Bonus และ Malus ในการคิดเบี้ยประกันภัย โดยเฉพาะประกันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยดึงข้อมูลจาก National Claim Bureau และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาใช้ทำนายความถี่และความรุนแรงของความเสียหาย ทั้งนี้การคิดคำนวณเบี้ยประกันภัยรถต้องคำนึงถึงนิสัยหรือพฤติกรรมของคนขับรถด้วย ไม่ใช่คำนวณแต่เพียงจากตัวรถ เช่น ชนิดของรถ ซีซี และรุ่นของรถเท่านั้น การคิดเบี้ยประกันรถนั้นต้องมีส่วนลด (Bonus) หากรถมีประวัติดีไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ไม่เคยมีการเบิกสินไหม และต้องให้ส่วนลดกับเจ้าของรถหรือคนขับที่มีประวัติการขับรถดีเช่นกัน เบี้ยประกันภัยย่อมถูกลง ส่วนรถที่มีประวัติไม่ดี ชนมามาก และมีคนขับที่ประวัติไม่ดี ก็มีการคิดส่วนเพิ่ม (Malus) อันเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดี เบี้ยประกันภัยรถยนต์ต้องแพงกว่า
วิธีการนี้เป็นการคุ้มครองคนดี พลเมืองดี ขับรถดี และลงโทษคนที่ไม่ดี โดยเฉพาะคนขับรถคนไหนที่มีประวัติการขับรถไม่ดี จะทำให้เบี้ยประกันรถยนต์แพงขึ้น คนเรากลัวเสียเงินแพง จะพยายามระมัดระวังในการขับรถมากขึ้น ในขณะที่การขับรถดีจะช่วยให้ได้รับส่วนลดเบี้ยประกันรถยนต์ในปีถัดไป ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก เพราะเมื่อคนขับรถหรือรถคันใดถูกชน ในปีถัดไปบริษัทประกันภัยเดิมย่อมคิดส่วนเพิ่ม (Malus) ทำให้เบี้ยประกันภัยรถแพงขึ้น ผู้ทำประกันเลยหนีไปทำประกันรถกับบริษัทอื่นแทน เพราะยังคิดราคาเบี้ยเดิมอยู่ การที่ข้อมูลไม่สามารถนำมาใช้รวมกันให้เกิดประโยชน์กับสังคมเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ในขณะเดียวกันการที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมจากอุบัติเหตุมากๆ ก็ยิ่งทำให้เบี้ยประกันรถยิ่งสูงขึ้นไปอีก ผลสุดท้ายทำให้คนที่ขับรถดีต้องไปถัวเบี้ยประกันรถราคาแพงทั้งๆ ที่ตนเองขับรถดี การทำเช่นนี้ทำให้ กฎแห่งกรรมในการขับรถยนต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ยิ่งคนขับรถสาธารณะ ยิ่งต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารจำนวนมาก หากมีประวัติการขับรถไม่ดี แล้วทำให้เบี้ยประกันรถแพงมากขึ้น ทำให้นายจ้างเองก็ไม่อยากจ้าง ทำให้คนขับรถสาธารณะยิ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้เสียประวัติ
นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาการประกันภัยและวิเคราะห์ธุรกิจเพื่อลดอุบัติเหตุของชาติ ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยลง ช่วยส่งเสริมนิสัยดีในการขับรถ ปราบปรามคนนิสัยไม่ดีในการขับรถอย่างได้ผล น่าทดลองทำดูไหมครับฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ช่วยพิจารณาดำเนินการ