xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นักธุรกิจ+ต่างชาติ” นำหน้า ปฏิรูปการศึกษา “สูตรใหม่” ไฉไลจริงหรือ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิรูปกันมาแล้วหลายสิบปีก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม แถมดีไม่มียังจะถอยหลังเข้าคลองอีกต่างหาก แต่คราวนี้ ดูเหมือนว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่เสียทีภายใต้การกำกับของ “รัฐบาล คสช.” โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เมื่อรัฐบาลลุงตู่ประกาศใช้อำนาจในการตั้ง “25 อรหันต์” ขึ้นมาเป็นกรรมการปฏิรูปการศึกษาพร้อมทั้งดึงทุนใหญ่เข้ามาร่วมวง พร้อมกับเปิดช่องให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมยุคไทยแลนด์ 4.0 แบบบายพาส
        
    นั่นหมายความว่า หน่วยงานอย่าง กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชาชนเสียภาษีให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณลงไปเป็นอันดับหนึ่งปีละเกือบ 500,000 ล้านบาท มีบุคคลากรด้านการศึกษากว่า 800,000 คน และใช้เวลาปฏิรูปการศึกษามานมนานไม่ต่ำกว่า ยี่สิบกว่าปี กลับได้ผลลัพธ์แบบล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

  ทั้งนี้ คงไม่ผิดหากจะบอกว่า กระทรวงศึกษาฯ เป็นกระทรวงเดียวที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนรัฐมนตรี 3 ปี 3 คน และ “นายกฯลุงตู่” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาจัดการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมพร้อมกับเบิกทางปฏิรูปสิ้นเปลืองอำนาจมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แต่ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ

กระทั่งต้องออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ให้จัดตั้ง “กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” เพื่อดูภาพใหญ่ภาพรวมทั้งหมดตามข้อเสนอของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ไม่ใช่ตามการเสนอเรื่องของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งควรจะเป็นเจ้าภาพหลักในภารกิจนี้
         
  “25 อรหันต์ปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งมี ศ.กิตติคุณ จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นั่งเป็นประธาน นอกจากจะพรักพร้อมไปด้วยนักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเข้าร่วมตามสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ แล้ว ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นการเชื้อเชิญ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจาก เข้าร่วมด้วย
 
ทั้งยังมีไม้ประดับเล็กๆ จากเชิงดอย  คือ นางเรียม สิงห์ทร คุณครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ครูแห่งดอยอ่างขาง ทุ่มใจทำงานถวายพ่อหลวง และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาช่วยสร้างสีสันความแตกต่างอีกด้วย

ส่วนกรรมการที่เหลือประกอบด้วย นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา นายไกรยส  ภัทราวาท  รศ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์  ผศ.เฉลิมชัย  บุญยะลีพรรณ  รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์  นางชุตินาฏ  วงศ์สุบรรณ  รศ.ดารณี  อุทัยรัตนกิจ  นายตวง  อันทะไชย  รศ.ธิติพันธุ์  เชื้อบุญชัย  รศ.ทิศนา  แขมมณี  รศ.นิชรา  เรืองดารกานนท์  รศ.นภดล  ร่มโพธิ์ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประสาร   ไตรรัตน์วรกุล  นางเพชรชุดา  เกษประยูร  นางภัทรียา  สุมะโน ผศ.ยุวดี  นาคะผดุงรัตน์  ศ.วิริยะ  นามศิริพงศ์พันธุ์ รศ.ศิริเดช  สุชีวะ โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ

กรรมการปฏิรูปการศึกษาชุดนี้ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นกรรมการอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาฯ โดยจะทำหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการการพัฒนาเด็กเล็ก ระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้มีจิตวิญญาณและเพิ่มประสิทธิภาพการสอน เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงการเรียนการสอนทุกระดับ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา และร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มีอายุการทำงาน 2 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนด

นับจากนี้ คงต้องรอดูฝีมือของ “กรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา” กันว่าจะวางแนวทางปฏิรูปการศึกษาไปทางไหน และกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเปลี่ยนรัฐมนตรีเร็วยิ่งกว่าเปลี่ยนรองเท้าใหม่ สถิติปีละคนเช่นในสมัยรัฐบาลลุงตู่ จะนำแนวนโยบายการปฏิรูปที่กรรมการอิสระฯ วางกรอบไว้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป
 
แต่ต้องไม่ลืมว่าอุปสรรคปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาก็คือ ความไม่ต่อเนื่อง ไม่เฉพาะรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น ชุดก่อนหน้านี้ก็ไม่ต่างกัน

โดยหากนับตั้งแต่ปี 2543 ที่มีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ และทบวงมหาวิทยาลัย มาเป็น 5 แท่งใหญ่ ก็เปลี่ยนรัฐมนตรีมาแล้วร่วม 20 คน แต่ละคนที่มาก็ปรับรื้อโน่นนี่จนเละเทะอย่างที่เห็นและเป็นอยู่โดยสะท้อนผ่านคุณภาพการศึกษาของสยามประเทศที่หล่นไปอยู่อันดับเกือบบ๊วยในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่าไปนับการแข่งขันในระดับโลก อายเขาเปล่าๆ
 
มองภาพความอับจนสิ้นหนทางในการปฏิรูปการศึกษาจากภายในหรือจากกระทรวงศึกษาฯ ยังสะท้อนผ่านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ล่าสุดที่ดึงเอามหาวิทยาลัยต่างชาติ เข้ามาเปิดในไทย เป็นการใช้มันสมองจากภายนอกเข้ามาแก้ปัญหาภายใน

เรื่องของเรื่องก่อนที่จะมีคำสั่งเช่นนี้ออกมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แล้วเห็นตรงกันว่า จะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนหรือเออีซี โดยให้เปิดได้เฉพาะสาขาวิชาที่ขาดแคลน ที่มหาวิทยาลัยไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้และมีบุคลากรไม่เพียงพอ
 
นพ.ธีระเกียรติ อธิบายความว่า ความคิดเชิญชวนต่างชาติให้มาเปิดสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาจากหลายฝ่ายทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพราะสาขาวิชาที่รองรับไทยแลนด์ 4.0 หลายเรื่องยังไม่มีบุคลากรรองรับ และมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ขณะนี้ก็ผลิตไม่เพียงพอ บางสาขาวิชาที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงมาก ๆ บางสาขาก็ยังไม่มีการผลิต เช่น รถไฟฟ้า โลโบติก (Robotic) ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับสูง ที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับสูง
 
อันที่จริง ไม่ใช่แต่การผลิตบุคลากรเพื่อป้อนสายการผลิตระดับเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้น แม้แต่ระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นไลน์ผลิตบุคลากรป้อนตลาดโดยตรงยังมีเรื่องน่าเศร้าหนัก

โดยทุกวันนี้มีเด็กอาชีวะอยู่ประมาณ 1 ล้านคน แต่ละปีมีผู้จบการศึกษาราว 2 แสนคน เท่านั้น ทั้งยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยว่าหลักสูตรที่เรียนจบออกมาไม่ทันโลกทันสมัย เช่น เรียนรู้เครื่องยนต์เก่า เครื่องไฟฟ้าเก่า ไม่มีหลักสูตรอาชีวะใดที่สามารถรองรับระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังจะเดินหน้าไป ทั้งโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ รถไฟฟ้า ฯลฯ นี่เป็นเรื่องที่ต้องยกเครื่องทั้งกระบิ

และนั่นเป็นเหตุที่ให้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560
 
สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยศักยภาพสูงจากต่างประเทศได้ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่ ครม.กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง จากต่างประเทศ (คพอต.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ เป็นประธานกรรมการ โดย คพอต. มีอำนาจหน้าที่กำหนดสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอน รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินการจัดการศึกษา ฯลฯ
 
สำหรับมหาวิทยาลัยต่างชาติ ที่จะเข้ามาเปิดยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาและการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับอุดมศึกษา รวมทั้งขอยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นหรือกฎอื่นๆ อีกก็ได้

หลังจากมีคำสั่งนี้ออกมา มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ความเห็นของ นายพิภพ ธงไชย ที่ระบุว่า  “นี่จะเป็นการศึกษาของชนชั้นนำในอนาคต คนจนก็ยังคงได้รับการศึกษาแบบไร้คุณภาพต่อไป และกลายเป็นเสมียนและชนชั้นผู้ใช้แรงงานต่อไป ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมต่อไปอีกนานเท่านาน

“ความคิดแบบนี้ก็เคยเกิดสมัยนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ให้เปิดโรงเรียนนานาชาติอย่างอิสระเพิ่มขึ้นรวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย เพราะการปฏิรูปการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาฯ ทำไม่ได้จากข้างใน เพราะติดระบบราชการ ติดระบบคิด ผ่านมา 20 กว่าปี การศึกษาไทยโดยรวมก็ไม่ดีขึ้น

“มาวันนี้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ใช้แนวคิดแบบเดิมอีก คือเอาระบบข้างนอกมาแก้ปัญหาข้างใน เพราะไม่มีปัญญาที่จะทำระบบมหาวิทยาลัยในประเทศให้ดีขึ้นได้ ทั้งที่เราก็มีมหาวิทยาลัยนานาชาติ มากมายอยู่แล้ว”

ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลตัดสินใจเร็วควรมีการทบทวนใหม่ เช่น สาขาที่มหาวิทยาลัยไทยไม่เปิดสอนนั้นเพราะอะไร รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนเอ็มโอยูมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อว่าจะได้ยกระดับศักยภาพที่ยั่งยืนกว่า ส่วนการยกเว้นกำกับควบคุมมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาฯ จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับมหาวิทยาลัยไทย และให้ระวังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำใน ระบบการศึกษาของไทย
“แทนที่จะใช้ มาตรา 44 เปิดช่องเอื้อให้ต่างชาติเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัย รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้ชัดเจนก่อน และต้องสังคายนามหาวิทยาลัยไทยทั้งรัฐและเอกชน เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยของไทยทั้งการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน การปฏิรูปหลักสูตรและระบบการกำกับและวิธีการประเมินที่ยังมีปัญหาอยู่มาก” นายสุริยะใส ระบุ 

อีกเสียงที่สะท้อนความเห็นผ่านสื่อ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ฟันธงว่า วงการอุดมศึกษาไทยหวาดกลัวแน่นอน เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติต้องบี้มหาวิทยาลัยลัยไทยจนไม่มีที่ยืน อีก 10 ปีมหาวิทยาลัยไทย 3 ใน 4 ไปไม่รอด เพราะตลาดอุดมศึกษาไทยปัจจุบันมีขนาดเล็กมาก ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลงจากเมื่อ 30 ปีเด็กเกิดเกิน 1,000,000 คน แต่ปัจจุบันเด็กเกิดปีละประมาณ 600,000-700,000 คน
        
  “แต่ละปีมหาวิทยาลัยไทย มีที่ว่างรับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 150,000 แต่มีเด็กเข้าเรียนเพียง 80,000 คน การแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทยต่ำมาก หากมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาจะแข่งขันกับสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียนได้หรือไม่ และจะมาแย่งเด็กกับมหาวิทยาลัยไทยหรือไม่ คำถามคือไทยจะได้อะไร...”

ขณะที่ รศ.ดร.ประเสริฐ   ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ออกตัวหนุนคสช.ใช้ม.44 เปิดให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในไทยได้ เป็นโอกาสดีให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ เพราะรัฐไม่มีอัตราบุคลากรเพิ่มและไม่มีงบประมาณเพิ่มไปมากกว่านี้ หลักสูตรที่เปิดสอนต้องรองรับอาชีพในอนาคต
 
ไม่เฉพาะแต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำจากนอกเข้ามาเปิดในไทย หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่ารัฐบาลลุงตู่ มีความตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในสัมฤทธิผลมากมายหลายฉบับ

แต่ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่โตเทอะทะ มีปัญหาที่หมักหมมมานมนาม การลงมือ “คลำเป้า” ปฏิรูปจึงคล้ายกับการจุดเทียนเวียนวน ไม่รู้จะเริ่มจุดไหน แก้ตรงนั้นก็ติดตรงนี้ พอออกคำสั่งไปก็ต้องกลับมาแก้กันใหม่ ดูคล้ายกับว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม ยังติดๆ ขัดๆ งึกๆ งักๆ อยู่อย่างนั้น
 
เริ่มตั้งแต่สมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรกในรัฐบาลลุงตู่แล้ว โดยเวลานั้น มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมา 2 ฉบับ คือ  คำสั่งที่ 6/2558 โยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ โดยหมุนเวียนสลับเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูง หรือซี 11 เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ตามติดด้วย คำสั่งที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค." ที่ล้มบอร์ดคณะกรรมการบริหารของทั้ง 3 องค์กรพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงสั่งให้เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ สกสค. และผอ.องค์การค้าของ สกสค.ในสมัยนั้น หยุดการปฏิบัติหน้าที่พร้อมล้างบางการทุจริตใน สกสค.และองค์การค้าของสกสค. ตลอดจนรื้อคุรุสภา องค์กรที่ดูแลวิชาชีพครู
 
ต่อมาในยุค พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีคำสั่งออกมาแบบติดๆ ไล่ตั้งแต่คำสั่งที่ 8/2559 เรื่อง “การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน” โดยโอนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาไว้ใต้ปีกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้การพัฒนาอาชีวศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมแก้ปัญหาเด็กตีกันซึ่งยังแก้ไขได้ยาก
 
ตามด้วยการเคลียร์ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาในจังหวัดที่มีรอยต่อและไม่สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้ โดยมีคำสั่งที่ 10/2559 เรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” พร้อมคำสั่งที่ 11/2559 "การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค" ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัด 77 จังหวัด

ผลจากคำสั่งที่ 10/2559 ทำให้ต้องยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและให้โอนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อยู่ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาฯ ในภูมิภาค ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
 
คำสั่ง 2 ฉบับนี้ มีแรงกระเพื่อมรุนแรงต่อการบริหารงานบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ ตั้งแต่การโยกย้ายการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และต่อมาก็มีคำสั่งที่ 38/2559 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2559 เพื่อจัดการเรื่องนี้ต่อเนื่อง
        
  ถัดจากนั้น หัวหน้า คสช. ยังออกคำสั่งที่ 23/2559 เรื่อง “การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือสมศ.” โดยให้ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ.หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว

พร้อมกับมีคำสั่งที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย หลังมีกระแสประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฯ 2560 ที่ระบุจัดการศึกษาฟรีแค่ 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ปัจจุบันรัฐจัดให้ฟรี 15 ปีตามโครงการเรียนฟรีเรียนดีอย่างมีคุณภาพ

จากนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ จาก พล.อ.ดาว์พงษ์ มาเป็น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ก็ยังมีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 คือ คำสั่งที่ 19/2560  ออกมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 มาปรับแก้การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคอีกรอบหนึ่งก่อนที่จะมาถึง คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ล่าสุดที่เปิดทางให้มหาวิทยาลัยต่างชาติ เข้ามาตั้งในไทย
        
    อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิเคราะห์เบื้องหน้าเบื้องหลังจะเห็นว่าภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 หรือมติ ครม. ส่วนหนึ่งก็เพื่อกระชับอำนาจและ “รวมศูนย์อำนาจ” ด้านการศึกษา มาไว้ในมือรัฐมนตรี ส่วนเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาที่ “รัฐบาลลุงตู่” อยากจะเห็นคือ ผลิตแรงงานมีฝีมือรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอันดับต้นๆ

แต่ทั้งหมดที่รัฐบาลลุงตู่ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจพิเศษเพื่อปฏิรูปการศึกษา จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน โปรดติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น