xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ถกร่างงบปี 61 รวม 2.9 ล้านล้าน 8 มิ.ย.พบยุทธศาสตร์ปรับสมดุลรัฐได้มากสุด 784,210 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สนช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้าน วาระแรกพฤหัสฯ นี้ พบลดลง 23,000 ล้าน พบใช้ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ มากสุด 784,210 ล้าน ส่วน ก.ศึกษาฯ ยังแชมป์ได้งบมากสุด 510,961 ล้าน

วันนี้ (6 มิ.ย.) มีรายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เพื่อลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัว 3.3-3.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 3.2% ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงและเร่งขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.3-4.3% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการตามภาวะเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุนจำนวน 6.5 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 23,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.8%

ทั้งนี้ มีการประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณมีด้วยกัน 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 273,954 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารรถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 476,596 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน จำนวน 575,709 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และ วัฒนธรรม 4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 332,584 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาระบบประกันสุขภาพ สร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งส่งเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต

5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 125,459 ล้านบาท เพื่อจัดการปัญหาที่ทำกินให้กับผู้ยากไร้ บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยพิบัติ 6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 784,210 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย โดยปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกด้านการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับการบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีและระบบการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 331,485 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำนวน 70,666 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐจำนวน 260,819 ล้านบาท

ขณะที่ สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท 2. กระทรวงมหาดไทย 355,995 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง 238,356 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม 222,436 ล้านบาท และ 5. กระทรวงคมนาคม 172,876 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น