ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM NIDA ประเมินการจัดสรรงบประมาณปี 2561 แบบขาดดุลเพิ่มขึ้น 6.1% เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงนโยบาย การพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพของคน และการปรับสมดุล และพัฒนาบริหารการจัดการภาครัฐ รับการขับเคลื่อนThailand 4.0 ชี้รายจ่ายด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น 20.2% ปูพรมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แนะรัฐบริหารการจัดด้านการใช้จ่ายเงินงบประมาณลงสู่ฐานราก เชื่อหากมีประสิทธิภาพจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วงเงินงบประมาณปี 2561 ไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.1% ซึ่งเป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยหากวิเคราะห์โครงสร้างงบประมาณปี 2561 จะพบว่า รัฐบาลมีรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.4% รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น 20.2% และการจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น 7.1% โดยงบประมาณรายรับจะถูกจัดสรรเป็นรายได้ 84.5% และเป็นเงินกู้ 15.5% ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ การกู้เงินชดเชยดังกล่าวอาจสร้างความกังวลต่อความยั่งยืนทางการคลังของประเทศอยู่บ้าง แต่หากพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ 42.6% ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60% ทำให้การกู้เงินดังกล่าวไม่น่ากังวลเท่าใดนัก หากเม็ดเงินกู้ดังกล่าวถูกใช้จ่ายไปเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการเพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อความร่วมมือ AEC ตลอดจนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์จะพบว่า ภาครัฐมุ่งเน้นใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพคน โดยมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณสูงที่สุด หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 151.2% เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต หวังแก้ปัญหาความยากจน และสร้างความมั่งคั่ง และช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0 รองลงมา ได้แก่ ยุทธศาสตร์การปรับสมดุล และพัฒนาระบบบริหารการจัดการภาครัฐเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 131.4% เพื่อปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ อันเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 17.6% และ 12.3% ของวงเงินงบประมาณตามลำดับ ขณะที่การจัดสรรงบกลางที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ในการใช้งานได้งบลดลง 2.9% แต่ก็เป็นการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดมากเป็นอันดับ 2 รองจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 13.6% ของงบประมาณทั้งหมด
“งบปี 2561 เราเห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจัดสรรงบการลงทุนเพิ่มขึ้น 20.2% เพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ และเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และมุ่งเน้นพัฒนาสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการตัวเลขการส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้มาก และภาคการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวอยู่ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณขาดดดุลเช่นนี้ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”