xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผุด!บอร์ดชุดเล็ก แก้ปม"กำลังคนภาครัฐ" รองรับตัวเลขข้าราชการเพิ่มปีละ0.74%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ก่อน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งให้คนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับคนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เข้ามานั่ง“คณะอนุกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ด้านสาธารณสุข”โดยมีหน้าที่ดูแลภาพรวมบุคลากร ทั้ง แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร รวมถึงนักกายภาพบำบัด และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการตั้งอนุกรรมการในลักษณะเช่นนี้มาก่อน
 
“คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จะอยู่ในกำกับของ“คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)”งานแรกจะเข้ามาแก้ปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์ 7 วิชาชีพ เช่น กลุ่มนักกายภาพบำบัดร้องเรียนขอเปิดตำแหน่งเพิ่ม เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งให้ คปร. พิจารณาต่อ เพราะ คปร.มีหน้าที่พิจารณาเกลี่ยอัตราข้าราชการในส่วนต่างๆ”รองนายกฯ ระบุ

ที่บอกว่าน่าจะเป็นงานแรกนั้น เพราะวันเดียวกันกับที่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการชุดดังกล่าว อีกด้านหนึ่ง“คณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.)”ที่มี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ ก็ได้พิจารณาและอนุมัติการตัดโอนตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนให้บุคลากรทางการแพทย์ อ.ก.พ.สป. วันนั้น ได้เห็นชอบ“ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน”เพื่อบรรจุตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพ”รอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา พร้อมทำหนังสือไปยัง “เขตสุขภาพ”ให้ดำเนินการบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 30 มิถุนายน 2560 โดยให้ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่รอบรรจุมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น

ส่วนตำแหน่งที่เหลืออีก 1,000 อัตรา บวกอีก 2,992 อัตรา อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานจัดสรรและสำรวจว่าจะให้“บุคลากรทางการแพทย์”เหล่านั้นไปอยู่จังหวัดใด ก่อนเสนอ“คณะอนุกรรมการฯชุดที่รองวิษณุ แต่งตั้ง”และนำเข้าคปร.ชุดใหญ่ เพื่อดำเนินการ

สำหรับในส่วนตำแหน่งอื่นๆ พบว่า ยังอยู่ระหว่างหารือของ อ.ก.พ.สป. เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. จัดทำแผนกำลังคน เป็นการกำหนดความต้องการว่าโรงพยาบาล หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอต้องการคนเท่าไร เป็นวิชาชีพอะไรบ้าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

2. กำหนดว่าแต่ละวิชาชีพจะจ้างงานอย่างไร เป็นข้าราชการกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป โดยสายงานสนับสนุนจะถูกกำหนดสัดส่วนให้เป็นข้าราชการตามที่ ก.พ.กำหนด ส่วนสายงานหลัก กำหนดให้เป็นข้าราชการได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป

3. กำหนดกติกาในการบรรจุพนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ เช่น กรณีโรงพยาบาลมีผู้เกษียณอายุ ลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการที่จะบรรจุไปเป็นข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ควรนับเวลาราชการ เงินเดือนอย่างไร ต้องมีกำหนดพูดคุยกับคณะกรรมการและนำไปหารือกับ ก.พ. อีกครั้ง
                 
    สำหรับปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ 7 วิชาชีพ ที่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ค้างสะสมกว่า 3,000 คน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ “นพ.โสภณ เมฆธน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ข้อเสนอที่กำหนดให้ 7 วิชาชีพ เป็นข้าราชการร้อยละ 75 นั้น ต้องไปดูว่า ขณะนี้เป็นข้าราชการแล้วเท่าไร ยังขาดอยู่อีกเท่าไร เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูอัตรากำลังแผนอัตรากำลังด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการจะจ้างด้วยวิธีการใด เช่น พนักงานราชการ ให้แก้ไขระเบียบให้สามารถลาไปเรียนต่อได้ หรือเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆใกล้เคียงข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอัตราค่าจ้าง เช่น ได้รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 เท่า ทั้งนี้ ในการจ้างงานได้กำหนดทุกจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกำลังคน ตามความต้องการและเงินงบประมาณที่มี

โดยที่ผ่านมา มติ คปร.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ หรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข ต้องขอเงินงบประมาณมาใช้ในการจ้างงานเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราว โดยจะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด

ทั้งหมดเป็นแนวทางแก้ไขอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข แต่วันนั้นยังมีคำถามต่อไปว่า “คณะอนุกรรมการฯ”ประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะตั้งในกระทรวงอื่นหรือไม่ ซึ่งนายวิษณุ บอกว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นอีกหน่วยงานที่น่าจะนำมาใช้ แต่แตกต่างกับกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลนกำลังพล ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีประเด็น การขอโอนย้ายบุคลากรในรูปแบบ 5 แท่ง ได้ลำบาก
                  
    จาก“ข้อมูลกำลังคนภาครัฐ”เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานก.พ. เปิดข้อมูล กำลังคนภาครัฐ พบว่า ภาครัฐ มีอัตรากำลังทุกประเภท ทั้งในฝ่ายพลเรือนและทหาร รวมทั้งสิ้น 2841,259 อัตรา โดยร้อยละ 63.41 มีสถานะเป็นข้าราชการ ที่เหลืออีกร้อยละ 36.59 ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานช้าง) โดยกำลังคนภาครัฐส่วนใหญ่ ปฏิบัติงานอยู่ในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค มากกว่าส่วนท้องถิ่น

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2538-2558) อัตรากำลังภาครัฐทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.74 ต่อปี โดย อัตราข้าราชการในสังกัดฝ่ายบริหารในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.65 ต่อปี (ข้าราชการที่มีจำนวนลดลง ได้แก่ ข้าราชการทหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงทำให้จำนวนใน ภาพรวมลดลง) อัตราข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พนักงานส่วนตำบล และพนักงานเทศบาล) ข้าราชการนอกฝ่ายบริหาร (ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้าราชการตุลาการและข้าราชการอัยการ) และ พนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.59 34.60 และ 14.49 ต่อปี ตามลำดับ

ข้าราชพลเรือนสามัญ มีแนวโน้มเกษียณอายุราชการจำนวนมาก โดยในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุราชการสะสม จำนวน 33,448 คน และในช่วง 10 ปี (นับถึงปี พ.ศ.2566) จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุราชการ จำนวน 93,506 คน (ร้อยละ 9.15 และร้อยละ 25.57 ตามลำดับ)

ลูกจ้างประจำ มีแนวโน้มเกษียณอายุราชการจำนวนมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในระยะ 10 ปี (พ.ศ.2560-2569) มีจำนวน 55,680 คน และในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) จะมีลูกจ้างประจำเกษียณอายุสะสม จำนวน 72,659 คน (ร้อยละ 75.8 และร้อยละ 98.98 ของจำนวนลูกจ้างประจำทั้งหมด ตามลำดับ)

สำหรับการทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการ โดยผลของมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557-2561) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 กำหนดให้ส่วนราชการสามารถบรรจุข้าราชการทดแทนอัตราที่ว่างจากการผลการเกษียณอายุราชการได้ทั้งหมด (ไม่มีการยุบเลิกตำแหน่ง) แต่ไม่ให้มีการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ในภาพรวมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ยกเว้นกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างจากการเกษียณอายุ และว่างโดยเหตุอื่นในทุกภาคส่วนราชการ (ยกเว้น สำนักพระราชวัง สำนักราชการเลขาธิการและกรมราชองครักษ์ โดยหากจำเป็นให้ใช้พนักงานราชการ หรือพนักงานสัญญาจ้างแทน)

ทั้งนี้ ยังพบว่า คุณภาพของบุคลากรภาครัฐ หากพิจารณาจากระดับการศึกษา พบว่า ข้าราชการในฝ่ายพลเรือน มีวุฒิการศึกษาระดับตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปเพิ่มมากกว่า อาจสะท้อนว่า ราชการเป็นองค์กรที่ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน (Knowledge Worker)โดยในปี พ.ศ. 2558 มีผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวนสูงถึง ร้อยละ 82.82 และ ต่ำกว่าปริญญาตรีมีเพียงร้อยละ 17.13 สำหรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 273,957 คน (ร้อยละ 21.18 ) และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก มีจำนวน 20,538 คน (ร้อยละ 1.59) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555

หากพิจารณาจากคุณสมบัติบุคคลของผู้ที่สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป พบว่า ในปี พ.ศ.2556-2558 กลุ่มผู้สมัครที่สอบผ่านมากที่สุด มีคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.00-3.49 โดยผู้สมัครที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐ มีอัตราการสอบผ่านมากกว่าผู้ที่จบจากสถาบันอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ระดับการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งพิจารณาจากค่าใช้จ่ายฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายทุนการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2555 และปีงบประมาณ พ.ศ.2558 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาบุคลากรต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี มีระดับค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ คิดเป็นร้อยละ 0.29 ร้อยละ 0.24 และร้อยละ 0.19 ตามลำดับ

ล่าสุด กพ.กำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี ในประเด็นการแก้ปัญหาการบริหารกำลังคนภาครัฐ หลังจากให้อ.ก.พ. วิสามัญ ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการกำหนดกรอบอัตรากำลังและวางแผนบริหารกำลังคนภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์”เบื้องต้นก็คือ“อนุกรรมการฯ สาธารณสุข”
 
แนวทางดังกล่าวก็เพื่อจัดทำข้อเสนอสำหรับการบริหารขนาดกำลังคน และค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี แล้ว ซึ่งจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็ว ๆนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น