xs
xsm
sm
md
lg

ขอให้ปีใหม่ดีกว่าปีเก่า

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ก่อนอื่นขอส่งความปรารถนาดีและไมตรีจิตมาถึงกัลยาณมิตรของคอลัมน์นี้ทุกคน หวังว่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคลและความหม่นหมองทั้งหลายได้หลุดลอยไปแล้วกับปีเก่าซึ่งมีเหตุการณ์อันสุดเศร้าแห่งปี สำหรับปีใหม่นี้ หวังว่ากรรมดีที่หมั่นทำจะส่งผลให้ทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้พอใช้และไร้ความกังวลตลอดปี

ตามปกติ ในช่วงเทศกาลระหว่างวันส่งท้ายปีเก่ากับวันต้อนรับปีใหม่ เรามักทบทวนสิ่งที่ทำไปเมื่อปีที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าว่าจะทำอะไรในปีต่อไป ดังที่ผู้อ่านทราบดี คอลัมน์นี้มีผู้เขียนหลายคนโดยแบ่งวันกันว่าใครจะเขียนวันไหน ในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อมูลบ่งว่าผมเขียนบทความ 23 บทในหัวข้อต่างๆ กัน เนื่องจากผมมีภูมิหลังทางการศึกษาและทางวิชาเศรษฐศาสตร์ เนื้อหาของบทความส่วนใหญ่จึงมักวนเวียนอยู่ในสองด้านนี้เป็นหลัก

ทางการศึกษา นอกจากจะติดตามความเป็นไปโดยทั่วๆ ไปแล้ว ผมเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงผ่านการทำกิจกรรมของมูลนิธินักอ่านบ้านนา ซึ่งสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของมูลนิธินี้มีอยู่ในเว็บไซต์แนววิทยาทาน www.bannareader.com เว็บไซต์นี้มีงานเขียนบางส่วนของผมรวมทั้งบทความและหนังสือกว่า 10 เล่มสำหรับให้ผู้สนใจเข้าไปอ่าน หรือดาวน์โหลด อย่างไรก็ดี ส่วนที่น่าจะมีค่ามากที่สุดได้แก่บทคัดย่อภาษาไทยของหนังสือชั้นนำภาษาอังกฤษกว่า 100 เล่ม บทคัดย่อเหล่านี้น่าจะมีค่าเป็นพิเศษสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ไม่ค่อยมีเวลาและความแตกฉานในด้านการอ่านภาษาอังกฤษ

การมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงทำให้ผมแน่ใจยิ่งขึ้นว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาคการศึกษาของเรามีปัญหานั้นสลับซับซ้อนมากจนยากที่รัฐมนตรีคนไหนจะเข้ามาแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น ซ้ำร้ายรัฐมนตรีที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาบ่อยมากยังซ้ำเติมปัญหามากกว่าจะช่วยแก้ด้วยการเปลี่ยนนโยบายแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยทันทีเมื่อตนเข้ามารับงาน

ผมมองว่าปัจจัยพื้นฐานของการศึกษาคือ เรามองการศึกษาแคบและแบบผิดๆ มานาน นั่นคือ เรามองว่าการศึกษาของเยาวชนเป็นเรื่องของการเรียนการสอนในสถาบัน แต่ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษามิได้เกิดที่นั่น หากเกิดขึ้นในบ้านและในชุมชน ทั้งนี้เพราะเยาวชนเรียนรู้จากการดูตัวอย่าง ผู้ใหญ่เป็นตั้นแบบอย่างไร เยาวชนย่อมทำตามอย่างนั้น ส่วนของต้นแบบที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ใหญ่ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัดแค่ไหนกฎเกณฑ์รวมทั้งตัวบทกฎหมาย ศีลธรรมจรรยา หน้าที่และประเพณีอันดีงามของสังคม ผมมองว่าต้นตอของปัญหาคือผู้ใหญ่ส่วนมากมักง่ายและละเมิดกฎเกณฑ์กันอย่างกว้างขวาง

ความมักง่ายและละเมิดกฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นรวมกันเป็นความฉ้อฉลจนเข้ากระดูกดำที่แทรกซึมเข้าไปถึงในภาคการบริหารจัดการ และดำเนินการศึกษาในสถาบัน การหลอกตัวเองของผู้ใหญ่ถูกถ่ายทอดต่อไปให้เด็กหลายต่อหลายรุ่น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่าเราจะไม่มีทางแก้ปัญหาทางการศึกษาของเยาวชนจนสำเร็จได้ หากผู้ใหญ่ไม่ปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจังและอย่างทั่วถึง

ท่ามกลางปัญหาอันสลับซับซ้อนนี้ ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่จะมาถึง ผมคงไม่มีความสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังจะเข้าร่วมกิจกรรมสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในอำเภอบ้านนาอย่างเต็มกำลังผ่านงานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา

ทางด้านเศรษฐกิจ ผมมองว่าปัญหาพื้นฐานอยู่ที่การหมดยุคของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก แนวคิดนี้วางอยู่บนฐานของระบบตลาดเสรีที่มนุษย์เราต้องใช้เนื่องจากมันสะท้อนธรรมชาติธาตุแท้ของเราสองอย่าง นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่ค้าขายกันและเราต้องการทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี แต่ ณ วันนี้ระบบตลาดเสรีที่ยึดการเพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดของการบริโภค หรือการใช้ทรัพยากรนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้เพราะทรัพยากรของโลกกำลังร่อยหรอลงอย่างต่อเนื่อง ทางออกที่เหมาะสมคือ การปฏิบัติตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นระบบตลาดเสรีที่มีความพอประมาณเป็นฐานของการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากร

ดังที่เราทราบกันดี แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแก่คนไทยโดยทั่วไปให้ใช้ทั้งในด้านส่วนตัวและด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจหลังเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตครั้งใหญ่หลวงเมื่อปี 2540 หลังจากนั้นมา คนไทยโดยทั่วไปมักพูดถึงแนวคิดนี้และรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ประกาศว่าจะใช้เป็นฐานของการบริหารจัดการเศรษฐกิจ แต่เท่าที่ผ่านมา ผมมองว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแนวคิดอย่างทะลุปรุโปร่ง ส่วนรัฐบาลก็ได้แต่พูดโดยมิได้ทำอะไรที่ใช้หลักความพอประมาณเป็นฐานของการตัดสินใจ ซ้ำร้ายยังมักง่ายและทำอะไรต่อมิอะไรไปในทางตรงข้ามรวมทั้งการใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย การกระตุ้นประชาชนให้ใช้จ่ายกันแบบไร้สติจำพวก “ชอปเพื่อชาติ” และการสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้มีโอกาสผูกขาดตลาดไทยมากขึ้น

บ่อยครั้งบทความในคอลัมน์นี้ได้ชี้ให้เห็นปัญหาและทางออกของด้านเศรษฐกิจ แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ฟังและรัฐบาลยังเอาหูทวนลม

เนื่องจากผมมองว่าคนไทยยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างทะลุปรุโปร่งนัก ผมจึงตัดสินใจน้อมรับคำเชิญของกัลยาณมิตรผู้รักชาติอย่างสุดซึ้งและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่เสมอให้เขียนหนังสือชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ”

หนังสือเล่มนี้จะรวบรวมผลการศึกษาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของผมมาเสนอ ส่วนหนึ่งของผลการศึกษานั้น ผมได้นำมาพิมพ์เป็นหนังสือและบทความตามสื่อหลายสำนักแล้ว หนังสือและบทความส่วนใหญ่อาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา หนังสือฉบับส่งเสด็จจะนำสาระเดิมและผลการศึกษาล่าสุดมาปรับเสนอใหม่เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมมากที่สุด หนังสือจะพิมพ์ออกมาราวเดือนกันยายนด้วยทุนสนับสนุนจากกัลยาณมิตรซึ่งจะนำหนังสือไปมอบให้ห้องสมุดต่างๆ และผู้สนใจทั่วไป ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะรับหรือสนับสนุนหนังสือเล่มนี้ กรุณาติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ คุณทิพย์สุวรรณ ตั้งอมรสุขสันต์ ทางอีเมล thipsuwan.alert@gmail.com

ปัญหาเศรษฐกิจสลับซับซ้อนไม่ต่ำกว่าปัญหาทางการศึกษา ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่จะมาถึง ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มใหม่ให้เสร็จพร้อมกับติดตามศึกษา และหาทางนำผลการศึกษามาเสนอให้อ่านกันเช่นเดิม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาในภาคการศึกษาและภาคเศรษฐกิจนั้น มีความเกี่ยวพันกันสูงมากและมีความสลับซับซ้อนยิ่ง หลังหมดงานเทศกาลต้อนรับปีใหม่ ผมหวังว่าเราทุกคนจะใช้เวลาศึกษาหาทางทบทวนว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้างหรือไม่ อย่างไร หากมองเห็นว่าทำได้แม้เพียงเล็กน้อย ผมหวังว่าจะลงมือทำกันทันที ขอถือโอกาสนี้ ส่งความสวัสดีและพรปีใหม่มาถึงผู้อ่านอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น