xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าแนวต้าน พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่ หวัง “น้ำผึ้งหยดเดียว” โค่น คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มนักศึกษารวมตัวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งที่ประชุม สนช.พิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 5 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “...อยากให้ สนช.ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่าพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว แต่สิ่งเห็นคือยังมีประชาชนจำนวนหลายแสนคนที่เรียกร้อง อยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยรัฐบาลต้องชี้แจงในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะสิทธิเสรีภาพของคนเรายังมีความจำเป็น แม้จะมีเหตุผลในเรื่องของความมั่นคง แต่ต้องมีขอบเขตและมาตรฐานที่จะเข้าไปศึกษาข้อมูลต่างๆเหล่านี้ให้เป็นสากล ใช้กลไกของศาลยุติธรรมในการที่จะตัดสินก่อนที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูล ทั้งนี้มีความเป็นห่วงในเรื่องของความเชื่อมั่นของต่างประเทศในการที่จะเข้ามาลงทุน และต้องใช้ข้อมูลต่างๆตรงนี้ ทุกคนก็จะมีความเป็นห่วงในข้อมูลของตนเอง แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลนั้นจะเอาไปใช้เพียงวัตถุประสงค์ด้านใดด้านหนึ่งตามที่ผู้บังคับใช้กฎหมายระบุ และไม่นำไปใช้ผิดวิธี...”

คือความเห็นของ “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) หรือ “พ.ร.บ.คอมพ์” ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบแล้ว

น่าจะเป็นความอัดอั้นเต็มทีจน “คุณหนูปู” ผู้ไม่ประสีประสาทางการเมือง ออกมาคอมเมนต์ประเด็นร้อนเช่นนี้ ตอกย้ำเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าทางฝั่ง “เพื่อไทย - เสื้อแดง” หมายมั่นปั้นมือว่า กระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่จะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จะมาขย่มบัลลังก์อำนาจของ “รัฐบาล คสช.”

ตลอดเดือนที่ผ่านมามีคนตาดีเห็นพลพรรคเพื่อไทยระดับบิ๊กเนมหลายคนโผล่ไปตั้งวงประชุมที่ตึกโอเอไอ ย่านเพชรบุรี ไม่เว้นแต่ละวัน ข่าวว่านอกเหนือจากวิเคราะห์การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน รายละเอียดของร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีเรื่องร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ เป็นประเด็นฮอตฮิตที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตามทั้งวงประชุมเห็นพ้องว่า ไม่ควรให้คนที่พะยี่ห้อ-ปะโลโก้พรรคไปแสดงความเห็นหรือสนับสนุนกลุ่มต้าน อยากให้มีความเป็น “ธรรมชาติ” มากที่สุด เช่น 3 แสนรายชื่อที่ไปยื่นให้กับ สนช.โดยอ้างว่าเป็นการรวบรวมจากภาคประชาชนเอง เพราะ “วอร์รูมเพื่อไทย” รู้ดีว่าหากถูกลากไปไปเป็น “เกมการเมือง” เรื่องนี้ก็จะถูตีตกไปโดยง่าย แต่ก็ไม่วายมอบหมายให้แต่ละคนไปเดิน “เกมใต้ดิน” แอบหนุนบรรดาโต้โผเรื่องนี้ในทางลับ ซึ่งเมื่อดูจากหน้าตาตัวตั้งตัวตี หรือสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ก็เชื่อมโยงกับนักการเมืองค่ายนี้ได้ไม่ยาก รวมทั้งหาทางเชื่อมโยงกับประเด็น “ซิงเกิลเกตเวย์” อันละเอียดอ่อนให้ได้ โดยใช้ “สื่อสีแดง” ช่วยในการประโคมข่าว

เห็นจะมีก็แต่เพียง “เดอะป๊อป” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่อาศัยคราบอดีต รมว.ไอซีที พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน พร้อมกระตุ้นให้รัฐบาล คสช.แสดงความจริงใจ ยับยั้งกระบวนการออกกฎหมายนี้ โดยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวติดเบรกไว้ก่อน ซึ่งสอดรับกับ กลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway เพจใหญ่ในเฟซบุ๊คที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างหนัก ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ความว่า จะยกระดับการโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลยิ่งกว่าเดิม เพราะข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง พร้อมชี้ว่า ทุกอย่างจะหยุดลง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ยกเลิกมติการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพ์อย่างท่วมท้นด้วยเสียง 168 ต่อ 0 เสียง

ตีความง่ายๆคือทำอย่างไรก็ได้ให้การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ของ สนช.เป็นโมฆะ

ในขณะเดียวกันก็ยังคงเล่นเกมแรงโดยการนัดหมาย “ถล่ม” เวบไซต์ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งด้างว่าได้แนวร่วมระดับประเทศอย่างกลุ่ม Anonymous หรือผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กลุ่มแฮกเกอร์ชื่อดังที่เคยมีผลงานถล่มเว็บไซต์เกาหลีเหนือ และประกาศสงครามโลกไซเบอร์กับทางกลุ่ม ISIS รวมทั้งเจาะระบบเวบไซต์ Facebook ที่ได้ชื่อว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยชั้นสูงมาแล้ว

โดย Anonymous ได้ประกาศผ่าน Twitter ว่า สามารถเจาะระบบ หรือแฮกข้อมูลจากเวบไซต์หน่วยงานของรัฐบาลไทยได้แล้ว โดยยกตัวย่างว่า ได้ข้อมูลผู้ลงทะเบียนในเวบไซต์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของไทยไปแล้วถึง 9,000 ราย พร้อมส่งข้อความท้าทายถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นภาษาอังกฤษแปลความเป็นไทยได้ว่า “...คิดจะให้ตำรวจปกป้องและควบคุมข้อมลสารสนเทศในอินเทอร์เน็ต แต่ตำรวจของคุณยังปกป้องข้อมูลตัวเองไม่ได้เลย แล้วแบบนี้ข้อมูลของประชาชนจะยังปลอดภัยอยู่เหรอ?” พร้อมโชว์ข้อมูลที่ได้จากเวบไซต์ ตม.ดังกล่าวเป็นการเหยาะเย้ย

ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่ทำให้กระแสต่อต้าน “พ.ร.บ.คอมพ์” ลุกลามบานปลายนั้น ก็มาจากการขาด “เจ้าภาพ” ในการชี้แจงข้อเท็จจริงและตอมข้อสงสัยต่อสังคม เนื่องจากมีการปรับการทำงานจาก กระทรวงเทคโนโลยีสานสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มาเป็ฯกระทรวงดีอี ส่งผลให้รัฐมนตรีไอซีทีต้องลาออกจากตำแหน่งไป แต่ก็ยังไม่มีการตั้งรัฐมนตรีดีอีคนใหม่อย่างเป็นทาง และให้ พล.อ.อ.ประจินนั่งรักษาการไปพลาง เมื่อไม่มีนายท้ายการทำงานของกระทรวงดีอีจึงเข้าโหมด “เกียร์ว่าง” กระแสการต่อต้านที่ใช้พื่นที่สังคมออนไลน์ปลุกขึ้นมาจึงจุดติดโดยง่าย เพราะไม่มีฝ่ายรัฐ หรือ “ฝ่ายสนับสนุน พ.ร.บ.คอมพ์” ไปนำเสนอข้อมูลโต้แย้งกลุ่มต้านเลย

ในขณะที่ข้อมูลของกลุ่มต้านนั้นช่วงแรกมีการนำเสนอ “ข้อห่วงใย” หลายจุดของร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ “ตามเนื้อผ้า” อาทิ อำนาจที่กว้างเกินไปของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น ในการตรวจสอบหรือทำการปิดเวบไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนความไม่ชัดเจนเกี่ยวคำนิยามในร่างกฎหมาย เช่น คำว่าศีลธรรมอันดี เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อความสนใจได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ก็มีบางส่วนที่ฉวยโอกาส “บิดเบือน” สาระของร่างกฎหมายไปไกลจนเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งก็เชื่อว่ามีนัยที่หวังผลทางการเมือง หรือย่างน้อยก็ต้องการ “ดิสเครดิต” รัฐบาล คสช.ให้มากที่สุด

จึงไม่แปลกที่ภารกิจแรกของ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อสงสัยการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพ์รวดเดียว 13 ประเด็น หลังจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่ได้ให้อำนาจรัฐในการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ หรือมีเนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์แต่อย่างใด รวมทั้งอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อินเทอร์เนตในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายฉบับเดิม และไม่ได้ให้อำนาจรัฐสอดแนม โดยยืนยันว่าไม่มีการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของประชาชนโดยไม่ผ่านอำนาจศาลอย่างแน่นอน

อีกข้อหนึ่งที่รัฐบาลควรใช้ในการชี้แจงต่อประชาชน คือเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ โดยต้องเน้นย้ำว่ากฎหมายฉบับเดิมบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยไม่มีการแก้ไขเลย ซึ่งย้อนแยงกับภัยคุกคามผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นแทบทุกวินาที ดังนั้นกฎหมายประเภทนี้ควรมีการทบทวนและแก้ไขบ่อยครั้ง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกไอทีด้วยซ้ำ

แต่ครั้นจะ “ลักไก่” เพิ่มอำนาจรัฐ จนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ระวังจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” เข้าจริงๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น