พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คิดว่าคงจะมีการเข้าใจผิดจากการแถลงข่าวของหมอเด็ก และสื่อมวลชนหรือคนอ่านข่าวการแถลงของหมอเด็กรวมทั้งแพทยสภา…
ดิฉันในฐานะที่เป็นหมอเด็กคนหนึ่ง และได้ดูแลรักษาสุขภาพเด็กมาหลายหมื่นหรือหลายแสนคนตามวิชาชีพเชื่อว่า หมอเด็กทุกคนคงจะเห็นด้วยกับ UNICEF และ WHO ว่า
1. นมแม่คืออาหารที่เหมาะสมและสำคัญที่สุดในการเลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี ตามที่องค์การ UNICEF และ WHO แนะนำ นับว่านมแม่คืออาหารชนิดเดียวที่เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือนควรได้รับ
2. เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือนควรกินนมแม่อย่างเดียวก็เหมาะสม แต่เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนไปแล้ว สารอาหารในนมแม่นั้นไม่เพียงพอสำหรับความต้องการในการเจริญเติบโตของเด็ก แม่ควรจะต้องหัดให้เด็กกินอาหารอื่นเพิ่มเติมจากนมแม่ เพื่อหัดให้เด็กรับรู้วิธีการกินอาหารจากช้อน ไม่ใช่ดูดอย่างเดียว และรับรู้รสชาติอาหารอื่นๆ เพื่อ “เตรียมความพร้อม” ในการกินอาหารครบ 5 หมู่ต่อไป และประโยชน์สำคัญของการให้อาหารเสริมก็คือ จะทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นและมีน้อยในนมแม่ เช่น ธาตุเหล็กที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือด และการพัฒนาสติปัญญา การขาดธาตุสังกะสี (ที่จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีนและสร้างคอลลาเจน จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต) ในอาหารสำหรับเด็กก็อาจจะทำให้เด็กตัวเตี้ย และองค์การอนามัยโลกเองก็แนะนำว่าหลังจากอายุ 6 เดือนแล้ว เด็กควรได้รับนมแม่และอาหารเสริมที่เหมาะสมต่อไปจนถึงอายุ 2 ปี
3. เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนไปแล้ว นมแม่จึงยังคงความสำคัญในการเป็นอาหารหลักอยู่ แต่เด็กต้องเริ่มได้รับอาหารเสริมจนอิ่ม 1 มื้อเมื่ออายุ 6-9 เดือน ได้รับอาหารเสริมจนอิ่มครบ 2 มื้อเมื่ออายุ 9-12 เดือน และได้รับอาหารเสริมจนอิ่มครบ 3 มื้อเมื่ออายุ ครบ 12 เดือนขึ้นไป
4. การที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยน้อยมากก็เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้หญิงไทยเกือบ 100% ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และไม่สามารถลาหยุดงานเลี้ยงลูกได้จนครบ 6 เดือน ประกอบกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่จัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน (daycare center) ไว้สำหรับรับเลี้ยงลูกของพนักงาน ที่จะหาโอกาสในช่วงพักไปให้ลูกดูดนมได้ และแม่หลายคนก็ไม่มีน้ำนมเพียงพอที่จะปั๊มใส่ขวดไว้ให้ลูกกินได้ ในช่วงเวลาที่แม่ต้องไปทำงาน จึงทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกอย่างเดียวไปจนถึง 6 เดือนได้
5. ถ้ากรมอนามัยจะลงมือช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น กรมอนามัยควรไปผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายให้แม่ลาเลี้ยงลูกได้หลังคลอด 1 ปีโดยได้รับเงินเดือน เป็นการเสียสละของนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยให้เด็กไทยได้รับนมแม่จนครบ 1 ปี (หรืออย่างน้อย 6 เดือนก็ยังดี) เพื่อร่วมกัน “สร้างเยาวชนไทยที่มีคุณภาพ”ต่อไป
6. หรือให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีพนักงานหญิงทำงานอยู่ ต้องจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ เหมือนในนานาอารยะประเทศ เพราะปัจจุบันนี้การเลี้ยงลูกเป็นภารกิจหน้าที่ทำได้ยาก เนื่องจากแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านดังกล่าว แม่จึงต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงเด็ก ทำให้เด็กไทยขาดโอกาสที่จะได้กินนมแม่จนครบ 6 เดือนดังกล่าว ทำให้คนไทยปัจจุบันไม่อยากมีลูก (เพราะการเลี้ยงลูกมันลำบากมากในสภาพเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้) ประเทศไทยจึงมีอัตราส่วนคนแก่เพิ่มมากขึ้นเพราะเด็กเกิดน้อย มีแต่เด็กลูกแรงงานต่างด้าวที่เกิดเพิ่มมากกว่าเด็กไทย
7. เมื่อเด็กอายุเกิน 1 ขวบไปแล้ว นมจะเปลี่ยนความสำคัญมาเป็นอาหารเสริม โดยมีอาหาร 5 หมู่เป็นอาหารหลัก และอาหารหมู่ที่ 1 คือโปรตีนนั้นเป็นอาหารสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต เด็กที่ขาดอาหารโปรตีนหรือได้รับโปรตีนน้อย เช่นอาหารไทยจะมีโปรตีนน้อย จึงทำให้คนไทยส่วนมากเมื่อโตเต็มที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่าคนชาติอื่น (ดูนักกีฬาไทยเป็นตัวอย่าง ส่วนมากจะตัวเล็กกว่านักกีฬาต่างชาติโดยเฉพาะคนยุโรปหรืออเมริกัน เพราะอาหารของคนต่างชาติมีโปรตีนสูง) และอาหารโปรตีนนั้นมาจากอาหารประเภทนม ไข่ เนื้อสัตว์ เต้าหู้และถั่วเมล็ดแห้ง ฉะนั้นถ้าอยากให้คนไทยรุ่นใหม่มีความสูงเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของกรมอนามัย ก็ควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ว่า หลังจากเด็กมีอายุครบ 1 ขวบแล้ว เด็กควรได้กินอาหารครบ 5 หมู่3 มื้อ โดยมีนมเป็นอาหารเสริมวันละ 2 แก้ว (500 มิลลิลิตร) ถ้าแม่ยังมีน้ำนมมากพอ ก็กินนมแม่ต่อไปได้ ถ้าแม่สามารถให้ลูกดื่มนมวัวเสริมได้ ก็จะช่วยให้ลูกเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามพันธุกรรมและโภชนาการที่ดี
8. การควบคุมการตลาดเรื่องนมและอาหารเสริม ควรจำกัดอยู่แค่นมและอาหารเสริมสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี หลังจากนั้น ควรควบคุมการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่โฆษณาสรรพคุณเกินจริง เพื่อให้ความรู้แก่แม่ในการเลือกหาอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูกให้สมวัย เพราะเด็กจะมีการเจริญเติบโตมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต ถ้าใน 3 ปีแรกนี้ เด็กไดัรับสารอาหารที่เหมาะสมตามวัย จึงจะมีการเจริญเติบโตได้เต็มตามศักยภาพ การแจกนมโรงเรียนในระดับประถมก็ไม่อาจจะเพิ่มความสูงได้มากเท่ากับการได้รับนมและโปรตีนครบส่วนตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก เริ่มจากอายุ 1 ปีขึ้นไป
9. การที่หมอเด็กออกมาให้ความเห็นเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดสำหรับนมและอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กนั้น ก็เป็นการ “พูดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยเสียโอกาสในการที่จะได้รับอาหารที่เหมาะสมตามวัย” การควบคุมการโฆษณาเรื่องนมและอาหารสำหรับทารกควรที่จะเข้มงวด เพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับนมแม่ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต แต่ไม่ควร “ห้าม” การโฆษณาหรือการให้ข้อมูลเรื่องอาหารเสริมสำหรับเด็กอายุเกิน 1 ปีดังกล่าว โดยการโฆษณาเหล่านี้ก็ควรได้รับการ “ตรวจสอบว่าไม่ได้โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ตรงกับความจริง” เพื่อให้แม่มีความรู้ทางโภชนาการที่ถูกต้อง สามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกตามศักยภาพของแม่แต่ละคน
10. เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นอุทาหรณ์ว่าการออกมาท้วงติงหรือให้ข้อมูลทางวิชาการแก่สังคม อาจเกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารหรือเกิดความ “เสียหายแก่ผู้ออกมาให้ข้อมูล” ได้ และดิฉันหวังว่า การให้ข้อมูลตามความรู้ทางโภชนาการของหมอเด็กอย่างดิฉัน จะไม่ถูกบิดเบือนว่า “รับผลประโยชน์จากบริษัทนม” เหมือนที่เพื่อนร่วมวิชาชีพได้ถูกกล่าวหาหรือเข้าในผิดมาแล้ว