ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่อเค้าเขม็งเกลียวหนัก เมื่อมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของอเมริกา โชว์ความห้าวเป้งด้วยการขู่ละทิ้งหลักการ “จีนเดียว” (One China) ซึ่งปักกิ่งถือเป็นหัวใจของบูรณภาพแห่งดินแดนที่ไม่อาจถูกล่วงละเมิดหรือต่อรองได้
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ซึ่งออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธ.ค. ทรัมป์ ได้กล่าวในทำนองว่า สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” และวอชิงตันจะรับหลักการนี้ก็ต่อเมื่อจีนยอมทำข้อตกลงที่น่าพอใจทั้งในด้านการค้า และประเด็นสำคัญอื่นๆ
ก่อนหน้านั้น ทรัมป์ ได้แหวกธรรมเนียมการทูตที่สหรัฐฯ ยึดถือมานานหลายสิบปีด้วยการรับโทรศัพท์จากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ซึ่งการสนทนานาน 10 นาทีนี้ถือเป็นการพูดคุยครั้งแรกระหว่างผู้นำไต้หวันกับว่าที่ประธานาธิบดี หรือประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ประกาศยอมรับนโยบายจีนเดียวในปี 1979
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งสำหรับจีน ซึ่งมองไต้หวันเป็นเพียง “มณฑลทรยศ” ที่ต้องถูกผนวกเข้ากับแผ่นดินใหญ่ในสักวันหนึ่ง
หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน เตือนว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ว่าหลักการ “จีนเดียว” คือรากฐานของความสัมพันธ์ปักกิ่งและวอชิงตัน และเป็นผลประโยชน์ของชาติจีนที่ไม่ควรถูกล่วงละเมิด “เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่ยกหินขึ้นก็จะถูกหินนั้นร่วงใส่เท้าของเขาเอง”
โกลบัลไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ลงบทบรรณาธิการวิจารณ์ ทรัมป์ ว่ายังเป็น “เด็กไร้เดียงสาในทางการทูต” และไม่รู้เอาเสียเลยว่าหลักการจีนเดียว “ไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาซื้อขายกันได้”
นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ เตือนความเสี่ยงเกิด “สงคราม” หาก ทรัมป์ ยังขืนท้าทายจีนเรื่องไต้หวันมากไปกว่านี้ ขณะที่ สก็อตต์ เคนเนดี จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถึงกับยกให้ไต้หวันเป็น “ขั้วที่ 3 ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ -จีน”
รัฐบาล บารัค โอบามา ได้ออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ ยังยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และจะไม่ใช้สถานะของไต้หวันมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับปักกิ่ง
“การต่อรองเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้เชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของเรา... และการบั่นทอนหลักการจีนเดียวอาจเป็นผลเสียต่อการทำงานร่วมกับจีน ในส่วนที่จะเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุ
สตีเวน เอ็ม โกลด์สไตน์ นักวิเคราะห์จากสถาบันแฟร์แบงก์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันว่าค่อนข้างจะกำกวม เพราะในขณะที่ปักกิ่งอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ไต้หวันดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศไปก่อนในเวลานี้ ส่วนรัฐบาลไต้หวันเองก็ได้ประโยชน์จากการคงสถานะครึ่งๆ กลางๆ นี้ไว้
สำหรับปักกิ่ง “จีนเดียว” คือหลักพื้นฐานที่ไม่อาจโต้แย้งหรือเปลี่ยนแปลงได้ และแม้ว่าสหรัฐฯ จะยอมรับนโยบายจีนเดียว ทว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็มีมุมมองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในระดับที่ต่างกัน ความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะในปัจจุบัน (status quo) จึงเสี่ยงที่จะทำให้สองมหาอำนาจต้องเดินไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในที่สุด
ผู้นำจีนทุกยุคสมัยต่างยกประวัติศาสตร์มาอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจีน และขึ้นตรงต่อเมืองหลวงบนแผ่นดินใหญ่ ทว่า ถูกฝ่ายที่แพ้สงครามกลางเมืองเข้าไปยึดครอง และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย
รัฐบาลจีนถือว่าการผนวกไต้หวันเป็นเสมือนภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องกระทำให้สำเร็จ เพื่อให้ชาติจีนกลับมาสมบูรณ์เป็นปึกแผ่น และเมื่อนั้นจึงจะถือว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือการแทรกแซงของต่างชาติที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19
ด้วยเหตุนี้ การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ คิดว่า “จีนเดียว” เป็นสิ่งที่วอชิงตันสามารถนำมาใช้ต่อรองกับปักกิ่งได้ตามใจชอบจึงเป็นทั้งความเข้าใจผิดและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง และยังสะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง “นโยบายจีนเดียว” ในมุมของสหรัฐฯ กับ “หลักการจีนเดียว” ที่ปักกิ่งยึดถือ
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทีมงานของ ทรัมป์ เรียก ไช่ อิง-เหวิน ว่า “ประธานาธิบดีแห่งไต้หวัน” ยังเท่ากับละเมิดข้อตกลงร่วมระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ถือว่าไต้หวันไม่มีสถานะเป็น “รัฐ”
การออกมาท้าทายจีนอย่างมุทะลุของ ทรัมป์ ยังสร้างความหวั่นวิตกต่อชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ล่าสุดนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีได้ประกาศว่าเบอร์ลินยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และจะไม่เปลี่ยนนโยบายที่มีต่อจีนและไต้หวันอย่างแน่นอน ขณะที่ ฌ็อง-มาร์ก เอโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ก็ติเตียนมหาเศรษฐีปากเปราะว่าพูดจา “ไม่ฉลาด” และไม่ให้เกียรติจีนเท่าที่ควร
“จีนเป็นประเทศใหญ่ เราอาจจะมีจุดยืนที่แตกต่างกับจีนได้ แต่คุณไม่ควรใช้คำพูดแบบนั้นกับประเทศหุ้นส่วน” เอโรต์ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ ฟรองซ์ 2
ไมค์ กรีน ที่ปรึกษาด้านกิจการเอเชียของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกมาเตือนว่า หาก ทรัมป์ ละทิ้งนโยบายจีนเดียวจะถือเป็นความผิดพลาดมหันต์ และสหรัฐฯ อาจสูญเสียความร่วมมือจากปักกิ่งในเรื่องสำคัญๆ เช่น ปัญหาเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่า ทรัมป์ เพียงแค่ต้องการข่มขู่ และไม่มีเจตนาท้าทายปักกิ่งถึงขั้นนั้น
ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. ยังส่งสัญญาณ “ลูบหลัง” จีนด้วยการประกาศแต่งตั้ง เทอร์รี แบรนสตัด ผู้ว่าการรัฐไอโอวาที่มีความสนิทชิดเชื้อกับประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นเอกอัครราชทูตประจำปักกิ่งคนใหม่ ซึ่งจีนก็แสดงท่าทีพอใจเมื่อทราบข่าว ทั้งยังเอ่ยถึง แบรนสตัด ว่าเป็น “เกลอเก่า”
กระนั้นก็ดี สื่อจีนอย่างไชน่าเดลียังเตือนให้รัฐบาลระมัดระวังนิสัยของ ทรัมป์ ที่คาดเดาได้ยาก ในขณะที่โกลบัลไทม์สก็ยุให้ปักกิ่งทุ่มงบอุดหนุนกองทัพเพิ่มขึ้น และเร่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติไม่ให้ถูกสหรัฐฯ คุกคามได้