รอยเตอร์ - ทำเนียบขาวยืนกรานเมื่อวันจันทร์ (12) ว่านโยบายจีนเดียวของวอชิงตันไม่ควรถูกใช้เป็น “เครื่องมือต่อรอง” กับปักกิ่ง หลังจากว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องผูกมัดกับจุดยืนที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ในสัญญาณของแรงต่อต้านมากขึ้นที่ทรัมป์จะเผชิญในวอชิงตันหากเขาพยายามเปลี่ยนหลักการที่ค้ำจุนความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนมากว่า 40 ปี ส.ว.จอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า เขาสนับสนุน “นโยบายจีนเดียว” และไม่ควรมีใครรีบสรุปว่าว่าที่ประธานาธิบดีรายนี้จะละทิ้งมัน
“ผมไม่ตอบสนองต่อทุกความคิดเห็นของว่าที่ประธานาธิบดี เพราะว่ามันอาจเปลี่ยนไปในวันพรุ่งนี้” แมคเคนบอกกับรอยเตอร์เมื่อถูกถามเกี่ยวกับถ้อยแถลงของทรัมป์ในการสัมภาษณ์ออกอากาศเมื่อช่วงสุดสัปดาห์
ทรัมป์จุดชนวนความปั่นป่วนทางการทูตขึ้นเมื่อเขาบอกกับฟอกซ์นิวส์ว่า “ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดเราถึงต้องผูกมัดนโยบายจีนเดียว ยกเว้นแต่เราทำข้อตกลงกับจีนเพื่อให้จีนทำสิ่งอื่นๆ รวมถึงการค้า” ความคิดเห็นนี้มีออกมาภายหลังการประท้วงจากจีนเกี่ยวกับการที่ทรัมป์ตัดสินใจรับโทรศัพท์จากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
ประเด็นนี้อ่อนไหวมากสำหรับจีนซึ่งพิจารณาว่าไต้หวันเป็นมณฑลกบฏ และปักกิ่งแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความคิดเห็นล่าสุดของทรัมป์
ปักกิ่งอธิบายว่านโยบายจีนเดียวเป็นรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ หวัง อี้ เตือนให้หลีกเลี่ยงความเคลื่อนไหวที่จะทำลาย “ผลประโยชน์สำคัญ” ของจีน และกล่าวว่า “ในที่สุดพวกเขากำลังหยิบหินขึ้นเพียงเพื่อทิ้งมันลงบนเท้าของพวกเขาเองเท่านั้น”
นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันบางคนเตือนว่า ทรัมป์อาจกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารหากเขาผลักดันประเด็นไต้หวันมากเกินไป สกอต เคนเนดี ผู้อำนวยการโครงการว่าด้วยธุรกิจและเศรษฐกิจการเมืองจีนที่ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกไต้หวันว่าเป็น “รางที่ 3 ของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน”
โฆษกทำเนียบขาว จอช เออร์เนสต์ กล่าวว่า สหรัฐฯ มีข้อผูกมัดกับหลักการจีนเดียวและจะไม่ใช้ประเด็นไต้หวันเพื่อหาประโยชน์ในการต่อรองใดๆ ก็ตามกับปักกิ่ง
“สหรัฐฯ ไม่ได้มองไต้หวันและความสัมพันธ์ของเรากับไต้หวันเป็นเครื่องต่อรอง” เขากล่าวในการบรรยายสรุปประจำวัน พร้อมเรียกไต้หวันว่า “หุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” “และการต่อรองเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่คณะบริหารชุดนี้เชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของเรา”
เขากล่าวว่า “การทำลายนโยบายนี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถของเราในการทำงานกับจีนในด้านต่างๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนมีให้กับนโยบายนี้และไต้หวัน”