เอเจนซีส์ - ปักกิ่งตอบโต้หลังจากทรัมป์แสดงทีท่าว่าอาจทิ้ง “นโยบายจีนเดียว” เว้นแต่แดนมังกรเสนอสิ่งตอบแทนทางการค้าหรือประเด็นอื่นๆ โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศปักกิ่งบอก “กังวลอย่างยิ่ง” พร้อมย้ำว่าถ้าหลักการนี้เกิดย่อหย่อนหรือยุ่งเหยิงแล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะเข้มแข็ง หรือมีความร่วมมือกันในเรื่องอื่น ขณะที่สื่อมังกรคำรามว่า จีนอาจหันไปหนุนหลัง “กลุ่มพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ” สำหรับพวกผู้เชี่ยวชาญอเมริกันเตือนว่า หากผลักดันเรื่องไต้หวันมากเกินไปอาจกลายเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหาร แต่บางคนเห็นด้วยว่าทรัมป์ควรขึงขังกับจีนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อ่อนระทวยตั้งแต่ยกแรกแบบโอบามา
เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.) ว่า หากหลักการจีนเดียว ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเกิด “ย่อหย่อนหรือยุ่งเหยิงแล้ว “ก็ไม่ต้องมาพูดกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เติบโตขยายตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง หรือความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นสำคัญต่างๆ”
โฆษกผู้นี้ย้ำว่า ปักกิ่งถือว่าเรื่องไต้หวันเป็น “ผลประโยชน์แกนกลาง” ประการหนึ่งของตน ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนถึงอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน ด้วยเหตุนี้ การยึดมั่นในนโยบายจีนเเดียวจึงเป็นรากฐานทางการเมืองสำหรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ
คำแถลงดังกล่าวนี้เป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการให้สัมภาษณ์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11) ที่บอกว่า ไม่เห็นเหตุผลที่วอชิงตันจะต้องยึดติดกับนโยบายจีนเดียว เว้นแต่จะได้รับสิ่งตอบแทนจากจีน เช่น ข้อตกลงทางการค้า หรืออื่นๆ
ทรัมป์ยังไม่เห็นว่าการที่เขารับโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวินของไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องผิดอะไร
ทว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้จีนยื่นประท้วงทางการทูตต่อสหรัฐฯ และคณะบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ออกมายืนยันกับทางการปักกิ่งว่าวอชิงตันยังยึดมั่นนโยบายจีนเดียวที่ใช้มาเกือบสี่ทศวรรษ นอกจากนั้น หลังการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของทรัมป์ พวกผู้ช่วยในทำเนียบขาวระบุว่าคณะบริหารโอบามาไม่มีความคิดเห็นอื่นใดนอกจากจุดยืนนโยบายที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนโยบายจีนเดียวแล้ว ทรัมป์ยังวิจารณ์จีนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน กิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้ และจุดยืนต่อเกาหลีเหนือ และสำทับว่าจีนไม่มีสิทธิ์มาตัดสินใจบงการว่าเขาควรรับสายจากผู้นำไต้หวันหรือไม่
ขณะเดียวกัน แม้ทรัมป์มีแผนเสนอชื่อเทอร์รี แบรนสตัด ผู้ว่าการรัฐไอโอวาที่มีสัมพันธ์อันดีกับจีนมายาวนาน เป็นเอกอัครราชทูตประจำปักกิ่ง แต่ก็มีรายงานว่าว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ยังกำลังพิจารณาแต่งตั้ง จอห์น โบลตัน อดีตเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่เรียกร้องให้ใช้ไม้แข็งกับจีน เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ
โบลตันเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์เมื่อเดือนมกราคมว่า ประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกาควรใช้มาตรการแข็งกร้าวเพื่อหยุดยั้งความก้าวร้าวทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก
ทางด้านโกลบัลไทมส์ แทบลอยด์ทรงอิทธิพลที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุในบทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์ (12) ว่า ทรัมป์ “เป็นพวกโง่เขลาในด้านการทูตเหมือนกับเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง” และว่า นโยบายจีนเดียวไม่ได้มีไว้เพื่อซื้อหรือขาย
โกลบัลไทมส์บอกว่า หากสหรัฐฯ สนับสนุนอย่างเปิดเผยให้ไต้หวันเป็นเอกราชแล้ว จีนก็อาจให้ความช่วยเหลือแก่ “กลุ่มพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ”
“เพื่อเป็นการตอบโต้การยั่วยุของทรัมป์ ปักกิ่งอาจเสนอความสนับสนุน กระทั่งความช่วยเหลือทางทหารแก่พวกศัตรูของสหรัฐฯ” บทบรรณาธิการนี้กล่าว
“จีนยังจะนำเอานโยบายใหม่ๆ เกี่ยวกับไต้หวันมาใช้ และอาจจะไม่ถือว่าการรวมประเทศให้เป็นเอกภาพนั้น วิธีรวมอย่างสันติเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญเหนือกว่าการใช้กำลังทหารเข้ายึด”
ทางด้าน หวัง อี๋เว่ย ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง มองว่า ทรัมป์อาจพยายามใช้ประเด็นไต้หวันเพื่อต่อรองทางการค้ากับจีน
เช่นเดียวกับ อู่ ซินโป๋ ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่ออเมริกันศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยฟูตัน ในเซี่ยงไฮ้ ที่กล่าวว่า “ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นเทคนิคการเจรจาต่อรองของเขา (ทรัมป์) เพราะเขารู้ดีว่าประเด็นเรื่องไต้หวันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง เป็นประเด็นที่จีนมีความกังวลเป็นอย่างมาก” ทั้งนี้ ทรัมป์กำลังเล่นไพ่ใบดีด้วยความหวังที่จะให้จีนยอมอ่อนข้อทางการค้า และเรื่องนี้จีนไม่ควร “หงุดหงิดจนเกินไป” หรือแสดงปฏิกิริยา “กราดเกรี้ยวจนเกินไป” แต่ควรรอจนกว่าทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง และดูว่าเขามีการกระทำเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง
ขณะที่นักวิเคราะห์อเมริกันเตือนว่า ทรัมป์อาจยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหาร หากผลักดันเรื่องไต้หวันมากเกินไป
เจสซิกา เฉิน เวสส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องลัทธิชาตินิยมจีน ชี้ว่า หากไม่มีการเตือนและการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตัดสินใจยุตินโยบายจีนเดียว ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะเกิดความเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด อันนำไปสู่วิกฤตระหว่างอเมริกากับจีนจากกรณีไต้หวัน
ส่วน ไมค์ กรีน อดีตที่ปรึกษาระดับสูงด้านเอเชียของอดีตประธานาธิบดีบุช เห็นด้วยว่าการยุตินโยบายจีนเดียวถือเป็นข้อผิดพลาด เพราะอาจทำให้สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ปั่นป่วน และบ่อนทำลายความร่วมมือของปักกิ่งในประเด็นต่างๆ เช่น เกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี กรีนที่ปัจจุบันทำงานให้กับทีมคลังสมอง CSIS ไม่เชื่อว่าทรัมป์มีเจตนาจะทำแบบนั้น และมองว่ามีเหตุผลสมควรในการที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ จะยื่นคำขาดว่าจะไม่ยอมให้จีนบงการในประเด็นต่างๆ อย่างเช่นเรื่องไต้หวัน
กรีนยังเห็นว่าโอบามาอ่อนข้อให้ปักกิ่งเร็วเกินไป ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง ส่งผลให้ปักกิ่งยืนยันสิทธิ์ของตัวเองอย่างแข็งกร้าวในเวลาต่อมาในประเด็นต่างๆ อย่างเช่น ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก