รอยเตอร์ - มหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำหญิงของไต้หวัน ไช่ อิง-เหวิน เมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.) ซึ่งนับเป็นการฝ่าฝืนธรรมเนียมของผู้นำสหรัฐฯ ที่ยอมรับหลักการ “จีนเดียว” มาโดยตลอด และมีแนวโน้มจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจยุ่งยากยิ่งขึ้น
การสนทนาระหว่าง ทรัมป์ กับ ไช่ ถือเป็นการสื่อสารกับไต้หวันครั้งแรกโดยว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตำแหน่ง นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้ประกาศยอมรับนโยบายจีนเดียวในปี 1979
ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า ผู้นำไต้หวันเป็นฝ่ายติดต่อหาตนก่อน
“ประธานาธิบดีไต้หวัน โทร.หาผมวันนี้ เพื่อแสดงความยินดีที่ผมชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอบคุณมาก!”
อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ หวง โฆษกของ ไช่ ได้ออกมาชี้แจงว่า “แน่นอนว่า ทั้งสองฝ่ายมีการนัดหมายเวลาล่วงหน้า ก่อนที่จะโทรศัพท์พุดคุยกัน”
ทีมงานช่วงเปลี่ยนผ่านของ ทรัมป์ แถลงว่า ผู้นำทั้งสองได้เอ่ยถึง “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไต้หวัน กับสหรัฐฯ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง”
ด้านทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ระบุว่า ทรัมป์ และ ไช่ สนับสนุนให้ทั้งสองชาติมีปฏิสัมพันธ์แบบทวิภาคีและความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ล่าสุด ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ จากจีน ซึ่งคงจะไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากปักกิ่งถือว่าไต้หวันเป็นเพียง “มณฑล” หนึ่งที่ทรยศต่อแผ่นดินใหญ่
สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการเมืองและซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ของไต้หวัน แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการก็ตาม
พฤติกรรมแหวกธรรมเนียมของ ทรัมป์ มีขึ้นในห้วงเวลาที่ความสัมพันธ์จีน - ไต้หวันกำลังย่ำแย่ สืบเนื่องจากการเถลิงอำนาจของ ไช่ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่ต้องการแยกไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน
ทำเนียบขาวได้ออกมายืนยันว่า นโยบายที่สหรัฐฯ ยึดถือมาอย่างยาวนานในเรื่องจีนและไต้หวัน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
“เรายังยึดมั่นในหลักการจีนเดียว” เน็ด ไพรซ์ โฆษกด้านความมั่นคงภายในของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระบุ
“สิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจเป็นพื้นฐานก็คือ ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่เป็นไปอย่างสันติและมีเสถียรภาพ”
อดีตนักการทูตผู้หนึ่งซึ่งนัดหมายให้ ทรัมป์ ได้สนทนากับ ไช่ ระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนที่ตนได้พูดคุยด้วยล่วงหน้า ยืนยันว่า พวกเขาไม่เดือดร้อนกับเรื่องนี้ เนื่องจาก ทรัมป์ ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนกว่าจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
ไช่ อิง-เหวิน เป็น 1 ใน 4 ผู้นำรัฐบาลต่างชาติที่ ทรัมป์ ได้พูดคุยด้วยเมื่อวันศุกร์ (2) ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่า มหาเศรษฐีปากเปราะผู้นี้ได้มีการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนหรือไม่
เกอร์ริต ฟาน เดอร์ วีส์ อดีตนักการทูตเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงแทนไต้หวัน ระบุว่า การพูดคุยโทรศัพท์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยึดติดกับธรรมเนียม หรือข้อจำกัดเดิมๆ มากนัก และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่านโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวันกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป