xs
xsm
sm
md
lg

บีทีเอสทุ่มแสนล้านเชื่อมโครงข่าย”ชมพู-เหลือง”-ต่อยอดธุรกิจดันผู้โดยสารพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- กลุ่ม BSR พร้อมลุยสัมปทาน โมโนเรล"ชมพู-เหลือง" ทุ่มแสนล. "คีรี"ลั่นมีพันธมิตรแข็งแกร่ง " ซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้ง" มั่นใจ เชื่อมโครงข่าย "เขียว-ชมพู-เหลือง"ต่อยอดธุรกิจในเครือคุ้มค่าลงทุน แนวเส้นทางประชากรหนาแน่น มีศักยภาพใช้บริการรถไฟฟ้า คาดเปิดเดินรถผู้โดยสารทั้ง 3 สาย แตะ1.7 -2 ล้านคน/วัน เผยยื่นข้อเสนอต่อขยายชมพูเข้าเมืองทอง ส่วนสีเหลืองเชื่อมเขียวที่รัชโยธิน ช่วยเพิ่มผู้โดยสารอีกเพียบ

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)พร้อมด้วย นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมทุนในกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งผ่านการประเมินสูงสุด จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการเป็นผู้รับสัมปทานการลงทุนออกแบบและก่อสร้างงานโยธาการจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.มีมูลค่าลงทุนรวม 53,490 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรงระยะทาง 30.4 กม. มูลค่าลงทุนรวม 51,810 ล้านบาท

นายคีรีกล่าวว่า บีทีเอสมีประสบการณ์ กว่า 17 ปีมีความพร้อมทางการเงิน มีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง การร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง เพราะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุนโดยเอกชน และการร่วมทุนกับ ซิโน-ไทยฯ และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จะยิ่งทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย แม้ว่าเงื่อนไขในTOR จะค่อนข้างเข้มงวด ลงทุนไม่ง่าย แต่เมื่อสายสีเขียวต่อขยาย สีชมพู สีเหลือง เปิด เส้นทางของ 3 สายจะมีระยะทางถึง 146 กม. ส่วนขบวนรถจะมีกว่า 300 ตู้ และมีสถานีเพิ่มอีก 53 สถานี ซึ่งจะสนับสนุน 4 ธุรกิจในเครือ ซึ่งนอกจากรถไฟฟ้า ยังมีด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านมีเดียจะมีพื้นที่สื่อโฆษณาบนตัวรถเพิ่มอีก 3-4- เท่า เชื่อว่าตัวเลขเมื่อรวมธุรกิจทั้งหมดเชื่อว่าคุ้มในการลงทุน

นอกจากนี้ จากการศึกษาตลอดแนวเส้นทางของ 2 สาย มีประชากรหนาแน่น ประมาณ 2.98 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าได้ ประกอบกับการเชื่อมต่อกับสายสีเขียว ซึ่งเป็นสายหลักที่เข้าใจกลางเมืองและมีจุดหมายปลายทาง ซึ่งเมื่อโครงข่ายสีเขียวต่อขยายเสร็จ ต่อเชื่อมกับสีชมพูและสีเหลืองคาดการณ์ผู้โดยสารในปีที่เปิดให้ห้บริการ ของโครงข่ายทั้ง 3 สาย จะอยู่ที่ประมาณ 1.7 -2 ล้านคน/วัน

โดยสายสีชมพูนั้น จะก่อสร้างไปบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น และ จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมกับสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน)-สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมกับสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สถานีมีนบุรี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) โดยกลุ่มได้เสนอต่อขยายเส้นทางเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. (2 สถานี) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น มีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ผู้เข้างาน 15 ล้านคน/ปี ซึ่งการมีรถไฟฟ้าเข้าไปจะช่วยลดปัญหาจราจรได้มาก

สายสีเหลือง มีจุดเชื่อมต่อ 3 จุด โดยเริ่มจากลาดพร้าว ทางกลุ่มฯได้เสนอต่อขยายระยะทาง 2.6 กม. จากสถานีรัชดาภิเษก เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สี่แยกรัชโยธิน เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่ถนนลาดพร้าว ส่วนที่สี่แยกลำสาลีจะเชื่อมกับสายสีส้ม (ตะวันนออก) ,ต่างระดับพระราม 9 จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสุดทางจะเชื่อมกับสายสีเขียวที่ สำโรง และเพื่อความสะดวกยังเสนอใช้บัตรโดยสารใบเดียวทั้งประเภท เที่ยวเดียว เติมเงิน (แรบบิท และแมงมุม) เดินทางได้ทั้ง3 ระบบ โดยไม่ต้องแตะบัตรออกจากระบบ เข้าและออกครั้งเดียว จนกว่าจะถึงปลายทาง

นายคีรีกล่าวว่า สัดส่วนหุ้นของ BSR Joint Venture มีบีทีเอส 75% ,ซิโน-ไทยฯ 15% และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 10% โดยเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้รวม 1 แสนล้านบาท โดยบีทีเอสได้เตรียมเงินทุนพร้อมแล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งใน TOR กำหนดทุนจดทะเบียน โครงการละ 14,000 ล้านบาท รวม 28,000 ล้านบาท โดยเมื่อลงนามสัญญา ต้องชำระก้อนแรกโครงการละ 3,500 ล้านบาท และชำระเต็ม เมื่อเปิดเดินรถ ส่วนอีก 7 หมื่นล้านบาทอยู่เจรจากู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีหลายธนาคารสนใจปล่อยกู้คาดได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้

ดังนั้นผลการดำเนินงานงวดปี 2562/63 บีทีเอสคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 หมื่นล้านบาทหลังรับรู้รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย กล่าวว่า บริษัทรับหน้าที่ 2 ส่วนคือ ก่อสร้างงานโยธาโดยเมื่อได้ข้อสรุป รฟม.จะต้องส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้บริษัททำการรื้อย้ายสาธารณูปโภค จากนั้นจะก่อสร้างฐานราก เสา และคานรองรับ เพื่อให้บีทีเอสเข้าติดตั้งงานระบบต่อไป ขณะที่มีแรงงานประมาณ 10,000 คน เครื่องมือเครื่องจักรพร้อม รวมถึงมีโรงหล่อคอนกรีตสำเร็จรูป และเริ่มล็อควัสดุก่อสร้างแล้ว ดังนั้น เวลาก่อสร้าง 3 ปีจึงไม่มีปัญหา

โดยภาพรวม บริษัทมีงานที่รอลงนามสัญญาในปี2560 ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เช่น โมโนเรลชมพู,เหลือง สายสีส้ม,งานกรมทางหลวงประมาณ 5-6 พันล้านบาท,รถไฟทางคู่ อย่างน้อย 1เส้นทางทาง ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท งานภาครัฐในงบประจำปีอีก 1 หมื่นล้านบาท

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ รฟม.นัดเจรจากับกลุ่ม เพื่อเจรจาต่อรองในข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ซึ่งจะมีข้อเสนอซองที่ 3 การเสนอต่อขยายเส้นทางเชื่อมเข้าเมืองทองธานีและต่อเชื่อมกับสีเขียวด้วย ส่วนระบบรถโมโนเรลนั้น บริษัทได้เสนอไว้ 3 ยี่ห้อ คือ ฉงชิ่ง,บอมบาดิเอร์,สโคมี่ ซึ่งหลังลงนามสัญญา 30 วัน จะสรุปว่าเลือกยี่ห้อไหน ขณะที่รฟม.จะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจรายสถานีและพื้นที่โดยรอบ ประเมิน ผู้โดยสารสีชมพู และเหลืองจะมีประมาณสายละ1.8- 2 แสนคน/วัน ขณะที่ปัจจุบัน บีทีเอสมีผู้โดยสารเฉลี่ย 7 แสนคน/วัน

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทฯจะถือหุ้น 10% และมีโอกาสที่จะถือหุ้นเพิ่มขึ้นแต่ขอพิจารณารายละเอียดหลังมีการเจรจากับรฟม.ก่อน โดยปกติการเข้าไปร่วมทุนบริษัทจะถือหุ้น 25%เพื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจด้านพลังงานเป็นครั้งแรกของบริษัทฯ เพื่อต้องการกระจายความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น