xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (16): เรื่องที่ 16.1 การเมืองในสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 4 การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้ง Electoral Votes ในแต่ละรัฐ*


*http://www.foxnews.com/politics/elections/2016/presidential-election-headquarters

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏผลว่า Donald Trump ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งโดย Trump ได้จำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้งเท่ากับ 306 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 ตัวแทน (เสียง) ในภาพที่ 1 สีแดงคือจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งที่ Trump ได้รับ, สีน้ำเงินคือ จำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งที่ Clinton ได้รับ

ถ้าดูสรุปผลการเลือกตั้งในตารางที่ 1 ก็จะพบว่า Donald Trump เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ได้จำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งเท่ากับ 306 ตัวแทน (เกินครึ่งหรือมากกว่า 269 ตัวแทนขึ้นไป) ซึ่งตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ตัวแทนผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะไปออกเสียงสนับสนุน Donald Trump ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา (ประธานาธิบดีคนที่ 45) ในวันที่ 19 ธ.ค. 2016 ที่รัฐต่างๆ (States) ที่บุคคลนั้นเป็นตัวแทนผู้เลือกตั้ง

สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอตอบข้อสงสัยที่มีผู้ถามมาว่า “ทำไม Hillary Clinton จึงแพ้การเลือกตั้ง” และจะกล่าวถึงการขอให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้

2. ทำไม Hillary Clinton จึงแพ้ Donald Trump

“ทำไม Hillary Clinton จึงแพ้การเลือกตั้ง” ไม่ใช่เพียงชาวอเมริกันเท่านั้นที่มีคำถามนี้อยู่ในใจ แต่คนทั้งโลกก็ยังตกตะลึงกับความพ่ายแพ้ของ Hillary Clinton เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า Donald Trump จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะ Poll แทบทุกสำนักจะระบุว่า Hillary Clinton มีคะแนนเสียงนำ Donald Trump อยู่ 2- 6% มีเพียงไม่กี่สำนัก (IBD/TIPP Tracking ในตารางที่ 2 และ LA Times/USC Tracking ในตารางที่3) ที่ระบุว่า Donald Trump จะมีคะแนนเสียงนำ Hillary Clinton

ตารางที่ 2 การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้เลือกตั้ง

ตารางที่ 3 การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้เลือกตั้ง (2)

* http://www.realclearpolitics.com/epolls/latest_polls/president/

อธิบายคำศัพท์

IBD/TIPP คือ Investor's Business Daily (IBD) and TechnoMetrica Market Intelligence (TIPP)

USCTracking คือUniversity of Southern California (เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมือง Los Angeles)

จากข้อมูลการนับคะแนนเสียงในตารางที่ 1 จะพบว่า Hillary Clinton ได้รับคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง (Popular Votes) มากกว่า Donald Trump เป็นจำนวนถึง 2,357,260 เสียง (ข้อมูลจากตารางที่ 1 ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2016) ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ในตารางที่ 2 และตารางที่ 3 ที่ระบุว่า Hillary Clinton จะมีคะแนนเสียงนำ Trump ประมาณ 1-5% เพราะจำนวนผู้ออกเสียงเลือก Hillary Clinton (Popular Votes) มีมากกว่าจำนวนผู้ออกเสียงเลือก Trump (Popular Votes) หมายความว่า ถ้าใช้เสียงส่วนใหญ่จากคะแนนเสียงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรงแล้ว Hillary Clinton ก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

แม้คะแนนเสียงผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Popular Votes) ที่ Hillary Clinton ได้รับจะมากกว่า Donald Trump ก็จริง แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะยึดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งที่ว่า ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งจะต้องได้จำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งมากกว่า 269 เสียง (ตัวแทน) หรือ 270 เสียงขึ้นไป เมื่อคำนวณจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งหรือคณะตัวแทนผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes) ของผู้สมัครแต่ละคนแล้วปรากฏว่า Donald Trump ได้รับจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งเท่ากับ 306 ตัวแทน มากกว่าครึ่งหนึ่ง (269) ของจำนวนตัวแทนผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง ดังนั้น Donald Trump จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา

3. คะแนนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง(Electoral Votes) มาจากไหน

คะแนนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) มาจาก จำนวนสมาชิกสภา Congress (ในแต่ละรัฐ) ซึ่งได้แก่ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทน (United States House of Representatives) รวมกับจำนวนวุฒิสมาชิก (US.Senators) ของรัฐนั้น และเมื่อนำจำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) ของทุกรัฐมารวมกันจะได้เท่ากับ 538 เสียง(ตัวแทน)ตัวอย่างเช่น รัฐ California แบ่งพื้นที่ออกเป็น 53 เขต รัฐ California จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนจำนวน 53 คน (ดูภาพที่ 2) และในแต่ละรัฐจะกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาได้ 2 คน เมื่อนำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน มารวมกับจำนวนวุฒิสภาของรัฐ California จึงเป็นจำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) ของรัฐ California ซึ่งเท่ากับ 53 + 2 = 55 ตัวแทน เมื่อรวมจำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกของทุกรัฐแล้ว จะได้ตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกทั้งหมดคือ 538 ตัวแทน ดังนั้นถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้จำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้งมากกว่าครึ่งคือ มากกว่า 269 เสียง บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งหรือได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั่นเอง

ภาพที่ 2 รัฐ California แสดงการแบ่งพื้นที่ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทน

*https://en.wikipedia.org/wiki/California's_congressional_districts#/media/File:California_Congressional_Districts,_113thCongress.tif ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้สงสัยว่า ทำไมไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่จากคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง (Popular Votes) มาตัดสินผลการเลือกตั้ง คือ ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ (Majority) จากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง บุคคลนั้นก็ควรจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันในสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า การใช้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของ Popular Votes น่าจะเหมาะสมกับประเทศที่มีพื้นที่ไม่กว้างขวางใหญ่โต และประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษาพูดเดียวกัน เช่น ประเทศไทย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร (United Kingdom) สเปน อิตาลี เยอรมนี เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง และมีประชากรหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้านำคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง (Popular Votes) มาใช้ก็จะไม่เป็นการยุติธรรมต่อประชาชนที่อยู่ในรัฐที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าเพราะคะแนนเสียงเลือกตั้งจะแพ้รัฐที่มีจำนวนประชากรมากกว่า (มีผู้ออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า) ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น การใช้เสียงส่วนใหญ่ (จำนวนเกินครึ่ง) จากจำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) ของทุกรัฐมารวมกัน จึงน่าจะเหมาะสมและยุติธรรมกว่าที่จะใช้เสียงส่วนใหญ่จากจำนวนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง (Popular Votes)

4. ทำไมต้องใช้จำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) มาตัดสินผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ตารางที่ 4 ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของรัฐ California


ในเรื่องนี้ผู้เขียนจะขอนำรัฐ California มาเป็นตัวอย่างในการอธิบายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐ California เป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ประมาณ 423,970 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร) แต่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา คือ มีประชากรมากถึง 39,144,818 คน (ประมาณการเมื่อปี 2015- wikipedia)

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัฐ California เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2016 (ดูตารางที่ 4) จะพบว่า Hillary Clinton ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (Popular Votes) ในรัฐ California มากกว่า Donald Trump เป็นจำนวนถึง 3,446,281 เสียง (คะแนน) Clinton จึงเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในรัฐนี้ และได้จำนวน (คะแนนเสียง) ตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้งเท่ากับ55 ตัวแทน

ขอให้พิจารณาผลการเลือกตั้งในตารางที่ 1 และตารางที่ 4 จะพบว่า

(1) Clinton ได้คะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกโดยตรง Popular Votes ของทั้งประเทศเท่ากับ 64,874,143 เสียง (คน) เมื่อนำคะแนนเสียง Popular Votes ของ Clinton ในรัฐ California 7,362,490 เสียง มาหักออกไป Clinton จะได้คะแนนเสียง Popular Votes (ที่ไม่รวมรัฐ California) เท่ากับ 57,511,653 เสียง

(2) Trump ได้คะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกโดยตรง Popular Votes ของทั้งประเทศเท่ากับ 62,516,883 เสียง เมื่อนำคะแนนเสียง Popular Votes ของ Trump ในรัฐ California คือ 3,916,209 เสียง มาหักออกไป Trump จะได้คะแนนเสียง Popular Votes (ที่ไม่รวมรัฐ California) เท่ากับ 58,600,674 เสียง

(3) โดยสรุป ถ้าไม่รวมคะแนนเสียง Popular Votes ของรัฐ California แล้ว คะแนนเสียง Popular Votes ของ Trump จะมากกว่า Clinton เท่ากับ 1,089,021 เสียง

(4) จากข้อมูลในข้อ (1) – (3) จึงสรุปได้ว่า ถ้านำคะแนนเสียง Popular Votes มาใช้ตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา รัฐใหญ่เช่น California ที่มีประชากรจำนวนมากจะมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมากกว่ารัฐอื่นๆ ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ จะทุ่มเทหาเสียงและจะหาช่องทางที่จะนำงบประมาณมาใช้ในโครงการต่างๆ ในรัฐใหญ่ที่มีประชากรมากกว่ารัฐอื่นๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองในอนาคตซึ่งย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนในรัฐที่มีประชากรน้อยกว่า

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ไม่ควรนำเสียงส่วนใหญ่ของคะแนนเสียง Popular Votes มาใช้ตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว เพราะจะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชากรในรัฐที่มีประชากรน้อยกว่ารัฐใหญ่ และผู้เขียนเห็นด้วยกับการนำระบบตัวแทนผู้เลือกตั้งหรือคณะตัวแทนผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes) มาใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาต่อไป

5. การขอให้มีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ Presidential Election Recount

Jill Stein
ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรค Green ได้ยื่นเรื่อง (โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน) ขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ในรัฐ Wisconsin, Pennsylvania และ Michigan โดยอ้างว่า การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งแรก อาจถูกต่างประเทศแทรกแซงจนทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนไป ซึ่งทั้ง 3 รัฐมีข้อมูลสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีดังนี้

(1) จำนวนตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) ทั้ง 3 รัฐ รวมแล้วเท่ากับ 46 เสียง ซึ่งถ้ามีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ แล้วปรากฏผลว่า Clinton ชนะ Trump ในทั้ง 3 รัฐ จะทำให้ Clinton ได้คะแนนเสียง Electoral Votes เพิ่มอีก 46 เสียง เมื่อรวมกับคะแนนเสียง Electoral Votes ที่มีอยู่เดิม 232 เสียง (จากตารางที่ 1) คะแนนเสียงทั้งหมดจะเท่ากับ 232+46 = 278 เสียง ซึ่งจะมีผลทำให้ Clinton ชนะการเลือกตั้งทันที ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่คณะหาเสียงของ Clintonได้ออกมาให้การสนับสนุนการนับคะแนนเสียงใหม่ในทั้ง 3 รัฐ เพราะถ้า Clinton สามารถชนะ Trump ได้ทั้ง 3 รัฐ ผู้ชนะการเลือกตั้งก็จะกลายเป็น Clinton นั่นเอง

ตารางที่ 5 ผลการเลือกตั้งในรัฐ Wisconsin, Pennsylvania และ Michigan

(2) จากตารางที่ 5 จะพบว่า Trump ได้คะแนนเสียง Popular Votes ชนะClinton ในรัฐ Wisconsin, Pennsylvania และ Michigan เท่ากับ 22,871, 68,236 และ 11,612 เสียงซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่ไม่มากจนหลายคนเชื่อว่า อาจเกิดความผิดพลาดในการนับคะแนนก็ได้

(3) เนื่องจากการนับคะแนนเลือกตั้งในทั้ง 3รัฐ ได้ใช้เครื่องนับคะแนน (คาดว่าคงจะคล้ายเครื่องนับเงินสดในธนาคาร ซึ่งไม่ได้พ่วงต่อเข้ากับ Internet) จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีการเจาะระบบการนับคะแนนเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครใดคนหนึ่ง และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการแทรกแซงจากต่างประเทศในการนับคะแนนเลือกตั้งทั้ง 3รัฐให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริงดังที่ Jill Stein (ในภาพที่ 2 )ได้อ้างเหตุผล เพื่อขอให้มีการนับคะแนนใหม่นั่นเอง

ภาพที่ 3 Jill Stein ผู้สมัครตัวแทนพรรค Green

*http://lifemap.io/jillstein/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

(4) รายงานข่าวล่าสุด (4 ธ.ค. 2016) ระบุว่าศาลรัฐ Pennsylvania ได้แจ้งให้ Jill Stein วางพันธบัตร $ 1 millions เป็นประกันในการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ภายในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ซึ่งคงจะหาเงินได้ไม่ทัน ในเวลาต่อมา Jill Stein จึงได้ถอนเรื่องออกจากศาลรัฐ Pennsylvania และได้ยื่นเรื่องขอให้นับคะแนนการเลือกตั้งของรัฐPennsylvania ใหม่ต่อศาลสหพันธรัฐ (Federal Court)–สรุปรายงานข่าวจากhttp://www.cbsnews.com/news/green-party-jill-stein-drops-pennsylvania-recount-bid/

6. บทสรุป : เกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่และปัญหาคนต่างด้าวในสหรัฐอเมริกา

(1) การนับคะแนนเลือกตั้งใหม่จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 19 ธ.ค. 2016 ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Electoral Votes) ในแต่ละรัฐ จะต้องไปประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งในรัฐนั้นๆ ซึ่งถ้าผลการนับคะแนนใหม่ล่าช้าออกไป ก็จะส่งผลทำให้การลงคะแนนเสียงของตัวแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในรัฐที่มีการนับคะแนนใหม่อาจต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิมออกไปอีก (ยังไม่ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งว่า ทำได้หรือไม่)

(2) การอ้างเหตุผลว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถูกแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งคณะหาเสียงของ Clinton และสื่อมวลชนบางสำนัก มักจะอ้างว่า รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งและรวมทั้งการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีหลักฐานและไม่มีข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

(3) ในความคิดเห็นส่วนตัว น่าเชื่อว่าการอ้างว่าต่างชาติแทรกแซงหรือเข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นเทคนิคการหาเสียงในเชิงลบ (คือ การโฆษณาป้ายสีหรือให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามต่อประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย) เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับทราบข่าวนี้ไม่เพียงรู้สึกรังเกียจ แต่ยังอาจกลายเป็นปฏิปักษ์และกระทำการต่อต้านผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย การให้ข่าวในเชิงลบยังได้ทำให้สังคมแบ่งแยกต่อสู้กัน (ดังในภาพที่ 4) และมีการเดินขบวนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง รวมทั้งการชุมนุมต่อต้านไม่ยอมรับ Trump เป็นประธานาธิบดีเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ (ดังปรากฏในภาพที่ 5) การกระทำดังกล่าวต้องถือว่า เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และเลวทรามของนักการเมืองอเมริกันบางกลุ่มที่ต้องการจะเอาชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ได้อำนาจในการบริหารประเทศโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ภาพที่ 4 หญิงสาวที่สนับสนุน Trump ถูกกลุ่มผู้ประท้วงปาไข่ใส่

*http://www.dailystar.co.uk/news/latest-news/520378/blonde-girl-trump-egg-protest-rally-republican-democrat-mexican-american-flag-riot ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ภาพที่ 5 การเดินขบวนต่อต้าน Trump ในวันที่ 5 ภายหลังการเลือกตั้ง


*http://edition.cnn.com/2016/11/13/politics/donald-trump-60-minutes-first-interview/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

(4) สำหรับกรณีคนต่างด้าวในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนเชื่อว่า การอพยพของคนต่างด้าวเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาได้ถึงจุดที่สังคมอเมริกันไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลุ่มคนต่างด้าวให้เป็นชาวอเมริกันได้อย่างที่มุ่งหวัง เนื่องจากกลุ่มคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกาต่างมีวัฒนธรรม มีความเชื่อ มีศาสนา มีภาษาพูด และมีรูปแบบการดำรงชีวิตของชนชาติตนเอง คนต่างด้าว (ผู้อพยพ) บางส่วนจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับชาวอเมริกันได้ ดังนั้น กลุ่มคนต่างด้าว (ผู้อพยพ) เหล่านี้จึงได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ต่อสังคมอเมริกันมากขึ้นทุกวัน เช่น ปัญหาการว่างงานของชาวเม็กซิกัน, ปัญหาการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน, ปัญหาผู้ไร้ที่อยู่ (Homeless) ที่ขอรับความช่วยเหลือด้านอาหาร (Food Stamps) จากรัฐ (ดูแผนภูมิที่ 1 และแผนภูมิที่ 2 แสดงงบประมาณรายจ่ายในเรื่อง Food Stamps ในแต่ละสมัยของรัฐบาล), ปัญหาด้านสุขอนามัยของประชาชนที่เป็นภาระงบประมาณ และปัญหาที่คนต่างด้าวบางส่วนได้เติบโตแล้วกลายเป็นผู้ก่อการร้าย (Homegrown Terrorists) ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนอเมริกัน เป็นต้น

โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่า ปัญหาสังคมต่างๆ ที่คนอเมริกันต้องเผชิญมาเป็นเวลานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ได้สะสมพอกพูนมากขึ้น เช่น ปัญหางบประมาณรายจ่ายด้าน Food Stamps ที่เพิ่มมากขึ้นในสมัยรัฐบาล Obama (ดูแผนภูมิที่ 2), ปัญหาผู้ก่อการร้ายที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา (Homegrown Terrorists) ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมอเมริกัน เป็นต้น ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้กลายเป็นพลังผลักดันให้กลุ่มคนอเมริกันที่เป็นพลังเงียบซึ่งไม่เคยหรือไม่ค่อยได้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ได้ออกมาสนับสนุน Donald Trump เพิ่มมากขึ้นจนทำให้ Trump ชนะการเลือกตั้งในที่สุด

แผนภูมิที่ 1 คนที่รับความช่วยเหลือด้านอาหารแยกตามเชื้อชาติ

*http://www.trivisonno.com/food-stamps-charts ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

แผนภูมิที่ 2 งบประมาณรายจ่ายในเรื่อง Food Stamps ในแต่ละสมัยของรัฐบาล


*http://www.trivisonno.com/food-stamps-charts ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ท้ายบทความ


ได้มีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีของไต้หวัน ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีต่อ Donald Trump ข่าวนี้ได้ทำให้จีนไม่พอใจและยื่นหนังสือประท้วง จนกลายเป็นเรื่องที่วิจารณ์กันไปทั่วว่า Trump ไม่ยึดแบบธรรมเนียมทางการทูต และแม้แต่ Paul Ryan ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนของสหรัฐอเมริกายังออกมาพูดว่า Trump เป็นประธานาธิบดีที่ไม่อยู่ในกรอบหรือไม่อยู่ในแบบแผนเรียกว่าเป็น Unconventional President (ข่าวจากhttp://breakinglatest.ddns.net/news/ryan-trump-will-be-unconventional-president)

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองของจีน ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การต่อสู้แข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การต่อสู้ในตลาดการเงินระหว่างประเทศ และการเผชิญหน้าทางทหาร ตามมาอีกในอนาคตหลังจาก Trump ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว

สำหรับเรื่องนโยบาย และบุคคลที่มาร่วมรัฐบาลของ Donald Trump ผู้เขียนจะขอกล่าวในบทความตอนต่อไปและหวังว่า ข้อเขียนในบทความนี้คงตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่ท่านได้ถาม ถ้าท่านต้องการแสดงความคิดเห็นใดๆ กรุณาส่งมาที่ udomdee@gmail.com

วันนี้วันพ่อ แม้จะไม่มีพ่อที่คนไทยรักและเทิดทูนอีกต่อไปแล้ว
แต่พระองค์จะอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนตลอดไป

วีระศักดิ์ นาทะสิริ

5 ธ.ค. 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น