การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 โดยทั้งผู้นำใหม่ และนโยบายที่ตามมาจะมีนัยสำคัญต่อภูมิศาสตร์ทางการเมือง และทิศทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับไทยเองก็ต้องจับตามองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้า และแหล่งเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินทั้งในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในเศรษฐกิจโลก อีไอซีมองว่า ไทยควรเฝ้าระวังผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทิศทางการเมือง และนโยบายของสหรัฐฯ
ในการโต้วาทีระหว่างตัวแทนพรรคทั้ง 2 ฝ่ายที่ผ่านมา ทั้ง Hillary Clinton จากพรรคเดโมแครต และ Donald Trump จากพรรครีพับลิกัน ยังคงยืนยันนโยบายส่วนใหญ่ที่ทั้งคู่ใช้ในการหาเสียงในช่วงก่อนหน้า โดยนโยบายเศรษฐกิจหลักของฝ่ายพรรคเดโมแครต ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ และการเพิ่มงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงาน ด้านพรรครีพับลิกัน ยังคงชูนโยบายมาตรการลดภาษีขนาดใหญ่โดยเน้นภาคธุรกิจ การตั้งกำแพงภาษีกีดกันสินค้านำเข้า และเพิ่มความเข้มงวดในการจ้างงานแรงงานต่างชาติเพื่อดึงอุตสาหกรรมการผลิตให้กลับมาในประเทศ ถึงแม้จุดยืนของทั้ง 2 ฝ่ายจะมีความแตกต่างกันอยู่มาก แต่ทั้งคู่กลับแสดงความกังวลต่อข้อเสียเปรียบด้านข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีแนวโน้มไม่ได้รับการยอมรับขั้นสุดท้ายหรือสัตยาบันจากสภาคองเกรส ทิศทางการดำเนินนโยบายเช่นนี้จึงเป็นความน่ากังวลประการหนึ่งสำหรับประเทศคู่ค้าอย่างไทย
ผลการเลือกตั้งยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้ว่า Hillary Clinton จะมีคะแนนนิยมนำ ผลสำรวจล่าสุด ในวันที่ 5 ตุลาคม โดย Reuter/Ipsos ชี้ว่า จากผู้สมัครทั้งหมด Hillary Clinton มีคะแนนนิยมนำ Donald Trump อยู่ที่ 42% และ 36% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูสีเทียบกับการเลือกตั้งในอดีต โดยหากพิจารณาข้อมูลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ผู้สมัครที่มีผลคะแนนนำในช่วง 7 สัปดาห์ หลังจากการแต่งตั้งผู้แทนพรรคมักจะเป็นผู้ชนะในที่สุด นอกจากนี้ ผลสำรวจของ CNN/ROC ยังระบุอีกว่า ผู้ชมส่วนใหญ่มองว่า Hillary Clinton ทำได้ดีกว่าในการโต้วาทีครั้งแรกที่ผ่านมา ทำให้โดยรวมแล้วดูเหมือนว่า Hillary Clinton มีโอกาสก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปมากกว่า อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมของผู้สมัครทั้งสองยังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายฝ่ายกังวลว่า กลุ่ม swing vote ซึ่งไม่สังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งอาจจะส่งผลให้ Donald Trump พลิกมาชนะได้ เช่นเดียวกันกับผลประชามติออกจาก EU ของสหราชอาณาจักร ที่เหนือความคาดหมาย อีกทั้งด้วยรูปแบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบ Electoral College ทำให้การชนะคะแนนนิยม (popular vote) ก็อาจยังไม่ได้ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี จนกว่าผลการเลือกตั้งระดับ Electoral College จะประกาศในวันที่ 6 มกราคม 2017 เช่น กรณีของการเลือกตั้งในปี 2000 ที่ George W.Bush สามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าจะแพ้คะแนนนิยมต่อ Al Gore จากพรรคเดโมแครต
อีไอซี มองว่า มีโอกาสสูงที่สภาวะการเมืองชะงักงัน (political gridlock) ในสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม อีกปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (1 ใน 3 ของทั้งหมด) ที่จะเกิดในวันเดียวกันว่าจะสามารถปลดล็อกสภาวะการเมืองชะงักงันของสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญมาตั้งแต่ปี 2012 ได้หรือไม่ โดยในปัจจุบันทั้ง 2 สภามีเสียงส่วนใหญ่เป็นพรรครีพับลิกัน ทำให้ประธานาธิบดี Barack Obama ซึ่งมาจากพรรคเดโมเครต ต้องเผชิญต่อความยากลำบากในการเสนอนโยบายต่างๆ เนื่องจากการตัดสินใจหลายอย่างของรัฐบาล และการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่า Hillary Clinton จะมีคะแนนนิยมนำ และอาจเอาชนะการเลือกตั้งได้ แต่โอกาสที่พรรคเดโมแครต จะชนะอย่างถล่มทลายเพื่อกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภานั้นมีค่อนข้างจำกัด จากผลสำรวจรายพื้นที่ของ Cook Partisan Voting Index สำหรับกรณีที่ Donald Trump เป็นผู้ชนะ และพรรครีพับลิกันสามารถคงเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ ก็ยังต้องเผชิญต่อปัญหาเสียงในพรรคแตกแยก เห็นได้จากแกนนำพรรคหลายฝ่ายที่ออกมาต่อต้านนโยบายบางอย่างของ Trump โดยสภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับนโยบายด้านงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐฯ ที่อาจจะไม่สามารถขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะที่เปราะบางได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในการตัดสินใจ เช่น กรณีที่ไม่สามารถตกลงงบประมาณได้ตามกำหนดจนนำไปสู่การปิดทำการของหน่วยงานรัฐฯ (government shutdown) ในปี 2013 และปัญหาการปรับเพดานหนี้สาธารณะที่อาจสร้างความตื่นตระหนกในตลาดเงินได้
ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งจะทำให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม ด้วยผลสำรวจความนิยมที่ยังค่อนข้างสูสี ประกอบกับความหวาดกลัวของนักลงทุนจากกรณี Brexit จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น โดยจากข้อมูลการเลือกตั้งในอดีต ค่า CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความหวาดกลัวของนักลงทุนพุ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 21% ในเดือนก่อนการเลือกตั้ง (ตุลาคมของปีเลือกตั้ง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่การแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี (รูปที่ 1) แต่จะลดลงหลังผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่แน่นอนแล้ว (ลดลง 8% โดยเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายนที่มีการเลือกตั้ง) โดยในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีสภาพคล่องส่วนเกินอย่างในปัจจุบัน ความผันผวนดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง เช่น ในกรณีของ Brexit นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเป็นแรงกดดันส่วนหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแล้ว รายงานของ Bank of America ล่าสุด ก็เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ มองว่า ความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลต่อการตัดสินใจจ้างงาน และการลงทุน รวมไปถึงผลการเลือกตั้งที่นอกเหนือความคาดหมายก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้ Fed ต้องเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปอีกก็เป็นได้
ในระยะกลาง ถึงแม้ความเป็นไปได้จะต่ำ แต่โอกาสที่ Donald Trump จะชนะการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนโยบายภาษี การคลัง และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ จากที่เริ่มเห็นผลการอ่อนลงของค่าเงินเปโซ ของเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของ Donald Trump สำหรับไทย นอกจากความน่ากังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกด้านคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าสภาคองเกรส เมื่อเทียบกับนโยบายด้านอื่น โดยนโยบายของ Trump อาจจะสั่นคลอนความมั่นคงของการเมืองระหว่างประเทศจากการไม่สนับสนุนพันธมิตรอย่าง NATO หรือการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าในภูมิภาคเอเชีย