xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงลิขิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ


ผมใจหายเมื่อทราบว่า ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ได้จากพวกเราไปเสียแล้ว เสียดายที่ไม่สามารถไปรดน้ำศพและร่วมฟังสวดอภิธรรมในวันแรกได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุอนิจจัง 2 ประการคือ หนึ่ง กว่าผมจะทราบก็เลยไปแล้วหนึ่งวัน เพราะเดี๋ยวนี้ผมเลิกอ่านข่าวจาก นสพ.กระดาษแล้ว และผู้ช่วยผมตัวไปบวชเสียเมื่อวันเสาร์พอดี โทรศัพท์ที่ใช้งานจึงตามไปด้วย และ สอง การไปร่วมพิธีในเวลามืดค่ำแม้จะจำเป็นสักแค่ไหนก็เริ่มเป็นสิ่งที่ยากเย็นสำหรับคนที่อยู่ในวัยอย่างผมเสียแล้ว

เป็นอันว่าผมจะคอยไปลาสรีระของศาสตราจารย์ลิขิตเป็นครั้งสุดท้ายในวันพระราชทานเพลิงศพ เมื่อศาสตราจารย์ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ บอกวันเวลามา

ครับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ต่อไปนี้เพื่อให้สั้นและเหมือนของจริง ผมจะเขียนถึงลิขิต ว่าลิขิตและสมบัติตามแบบที่เราเคยพูดจาตั้งแต่รู้จักกันมา ลิขิตเรียกผมว่าอาจารย์ ส่วนสมบัติเรียกผมว่าพี่ ผมเป็นคนชอบความสม่ำเสมอ เพื่อนฝูงที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถมถึงแม้เขาจะไม่ได้เรียนต่อ ผมก็บังคับให้เขาทำตัวกับผมเหมือนเดิม

แต่ในทางวิชาการ ผมถือว่าทั้งสมบัติและลิขิตเป็นครูของผม เพราะว่าผมได้รับความรู้จากคนทั้งสอง ในเรื่องที่เขารู้หรือรู้ดีกว่าผมมากมายหลายเรื่อง

ทุกวันนี้ ผมยังสำนึกในบุญคุณของลิขิตที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทำบุญกับสังคมไทยด้วยประการต่างๆ ถ้าเขามิใช่คนกล้าหาญมีปัญญา เขาคงจะไม่ยอมมาเป็นอาจารย์คณะธรรมศาสตร์ตามคำชวนของผม เพราะโอกาสอย่างอื่นที่จะทำให้ร่ำรวยใหญ่โตเมื่อสี่สิบปีที่แล้วมีให้เลือกเยอะ สำหรับคนที่ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างลิขิต

ลิขิตจบนิติศาสตร์จากธรรมศาสตร์ และได้ทุนไปเรียน Fletcher School of Law and Diplomacy มหาวิทยาลัย Tufts ในเมือง Medford ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย Harvard

จำเริญรอยตามคนเก่งและดังหลายคนรุ่นก่อนเขาเช่น ดร.มนัสภาสน์ ชูโต อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นต้น หลังจากลิขิตจบได้ปริญญาโท 2 ใบจาก Fletcher แล้วก็ไปต่อจบปริญญาเอกจาก Brown มหาวิทยาลัยยอดนิยมปริญญาตรีอันดับหนึ่งของอเมริกา Brown เป็น 1ใน 8 มหาวิทยาลัยโด่งดังของโลกในสหรัฐฯที่มีสมญาว่า "Ivy League" เช่น Harvard, Yale และ Columbia เป็นต้น

เพื่อมิให้มากความ ผมขอเล่าย่อๆ ว่าลิขิตมีบุญคุณต่อผมในเรื่องดังต่อไปนี้

1.ผมเป็นคนนำ ลิขิต สมบัติ จันทรวงศ์ และทักษ์ เฉลิมเตียรณะ มาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทั้งสามจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและมีผลการเรียนชนะฝรั่ง คือ Brown, Claremont แบะ Cornell สมัยโน้นงานหาง่าย ทั้งสามจะไปสอนที่ไหนหรือทำงานองค์การอะไรในโลกได้ไม่ยากเลย

2.ลิขิต สมบัติ ทักษ์ กว่าจะเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ได้ก็ยากเย็นหรือเกิน ทั้งๆ ที่การที่พวกเขาจะไปเข้ากระทรวงต่างประเทศ กรมวิเทศฯ สภาพัฒน์ฯ หรือแม้กระทั่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็คงจะได้ง่ายๆ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเขาขาดคุณสมบัติหลัก คือมิได้เป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์นั่นเอง นั่นเป็นความคิดในสมัยนั้น หากมิได้อาจารย์ป๋วยช่วย ก็คงจะชวดไปแล้ว อาจารย์ป๋วยขอเวลาผมแก้ปัญหา 6 เดือน หากไม่สำเร็จจะตั้งสาขาวิชาใหม่คือ political economy ขึ้นรองรับทั้ง 3 คน ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ทั้งสามทำให้ผมหูตาสว่างและเข้าใจว่า "การเมืองทราม" (คำนิยามของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี)ในธรรมศาสตร์เป็นอย่างไร ทักษ์นั้น หลังจากอยู่ได้ไม่ถึงสิบปีดีก็ทนไม่ไหว ลาออกไปเป็นศาสตราจารย์และยังไม่เกษียณที่ Cornell จนทุกวันนี้

3.สิ่งที่ผมพูดในข้อ 2 นั้นเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นความจริงที่ยังหลงเหลืออยู่ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของเมืองไทย ที่ "ลูกหม้อ" เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ "ขึ้นหม้อ" ได้ ช่างไม่มีใครนึกบ้างเลยว่านั่นจะทำให้สถาบันที่รักและบูชาของตนจะต้อง "ลงหม้อ"ต่างหากหรือมิใช่ และเหลือเชื่อยิ่งก ว่านั้นก็คือทุนเรียนปริญญาเอกของทั้งสามนั้น ผมเป็นคนจัดหามาให้ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มิต้องลงทุนลงแรงแต่อย่างใดเลย มหัศจรรย์

4. แต่ผมไม่มหัศจรรย์ เพราะผมมีบทเรียนด้วยตนเองมาแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณคณะรัฐศาสตร์

เมื่อผมจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania หนึ่งใน Ivy League เช่นเดียวกัน เป็นรุ่นพี่ของ Trump “ดร.โกร่ง” วีรพงศ์ รามางกูร “หม่อมอุ๋ย” ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นต้น สามคนนี้น่าจะรุ่นไม่ไกลหรือคาบกันเพราะทรัมป์จบปี 1968 ผมได้ไปสอนและวิจัยใน 2 มหาวิทยาลัยมาแล้วคือ Missouri กับ George Washington กำลังบ้าเรียนหนังสือและพร้อมที่จะย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยดังแห่งอื่น ผมถูกตัดทุนและเรียกตัวกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ้นกำหนดที่ผมจะขอทุนจากมหาวิทยาลัยแล้วเพราะในตอนนั้นมหาวิทยาลัยเขามีข้อตกลงห้ามแย่งนักเรียนกัน ผมจึงถูกลอยแพเท้งเต้ง โปรเฟสเซอร์ผมจึงไปเจรจาขอทุน Rockefeller ให้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีจดหมายจากเจ้าสังกัดว่าจะรับผมกลับเข้าทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา จนแล้วจนรอดหมดกำหนดเวลาจดหมายจากเจ้าสังกัดก็ไม่มา นี่เป็นเหตุให้ผมต้องไปเรียน Cornell เพราะที่นั่น Prof.Sharp เมตตาจ้างทำวิจัยและหางานห้องสมุดให้ภริยาทำ และนี่ก็เป็นเหตุให้ Rockefeller จัดสรรทุนปริญญาเอกให้ผม 20 ทุน เพื่อไปแสวงหาคนดีกลับมารับใช้สังคมไทย และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุให้ผู้รู้ในเมืองไทยเป็นห่วงว่าผมกับเพื่อน 20 คนนี้ตกเป็นเเหยื่อของ Rockefeller และ Illuminati มาครอบงำไทยให้อยู่ใต้ New World Order ซึ่งผมรู้ด้วยตนเองและหลักอิทปปจยตาแล้วว่าบ้าจริงๆ

ลิขิต สมบัติ ทักษ์ เป็น 3 คนแรกที่ได้รับทุนนี้ ทุนซึ่งผมตั้งเงื่อนไขกับตนเองว่าจะมิให้กับญาติพี่น้องเพื่อนพ้องหรือคนที่รู้จักเลย แต่จะต้องเสาะหาบุคคลที่เหมาะสมด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณลิขิตที่เปิดโอกาสให้ผมเล่าเรื่องนี้ให้สังคมไทยได้ทราบ ถึงแม้จะสายไปสักหน่อยก็ดีกว่าไม่พูดเสียเลย

5. ข้อสรุปของผมที่ได้จากข้อ 2-3-4 และกรณีประจักษ์อื่นๆ ก็คือสังคมไทยถูกครอบงำโดยคนเล่นพวกและขี้อิจฉา เล่นพวกเพราะเห็นแก่ตัว และขี้อิจฉาเพราะกลัวคนอื่นจะได้ดี นี่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย เสียดายแต่ว่าเป็นพลังในทางลบ ถ้าหากสังคมไทยอยากเจริญจะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังทางบวก คือ การไม่เล่นพวกและเปิดกว้างแสวงหาคนดีอย่างมีกฏเกณฑ์ และสนับสนุนคนดี รู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนและงาน มากกว่าที่จะพวงว่าตนกับพวกจะได้อะไร

เมื่อได้พูดครบทั้ง 5 ข้อก็ควรจบได้แล้ว กับทั้งมีภาษิตว่าสำหรับผู้ที่ตายจากไป ห้ามพูดถึงข้อบกพร่องให้พูดได้แต่ความดีเท่านั้น

สำหรับลิขิต ถึงจะไม่มีข้อห้าม ผมก็นึกไม่ออกว่ามีข้อบกพร่องอะไร นอกจากสิ่งที่แปลกกว่าส่วนมาก แต่ก็มิใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ลิขิตคล้ายกับเพื่อนคนผมหนึ่งซึ่งถูกสังหารด้วยการเมืองคือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ทั้งสองคนรู้จักกัน ตอนทีบุญสนองไปทำวิจัยที่ฮาร์วาร์ด และลิขิตเรียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Fletcher หรือ Brown กับ Harvard ก็เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งสิ้น ลิขิตกับบุญสนองเหมือนกันตรงที่มีกิริยาวาจาเหมือนฝรั่ง พูดจาปากโป้งโผงผางไม่กลัวใคร มีความมั่นใจในตัวเองสูง เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษและทฤษฎีที่เป็นสากล และชอบวิเคราะห์อะไรจากจุดเริ่มต้นว่าอะไรเหมือนและไม่เหมือนกับทฤษฎีและภววิสัยของตะวันตกอย่างไร

สิ่งที่ลิขิตเชี่ยวชาญนั้น คนอื่นในเมืองไทยตามไม่ทันหรือเข้าไม่ถึง เพราะภาษาไม่แข็งและทฤษฎีไม่แกร่งเหมือนลิขิต ลิขิตซึ่งเป็นคนขยันขันแข็งจึงประสบความสำเร็จเป็นนักวิชาการไทยที่โด่งดังทั้งในไทยและต่างประเทศ

ผมเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุ 14 ตุลา ทำให้ผมต้องลาออกจากคณะรัฐศาสตร์ไปตั้งแต่ปี 2516 จึงมีเวลาร่วมงานกับลิขิตไม่นาน

อย่างไรก็ตาม ความเก่งกล้าสามารถและผลงานของลิขิตต่อนักเรียน วงวิชาการ และสังคมไทยย่อมจะเห็นได้จากหนังสือ การพูดการสอน ทีมีคุณค่าและผลประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอเนก

ลิขิตอ่อนกว่าผมหลายปี การจากไปของลิขิตจึงเป็นบทเรียนแก่ตัวผม เช่นเดียวกับการที่เขามีชีตอยู่ ได้ประกอบกรรมดีให้ผมได้ รับอานิสงส์ตามไปด้วย ผมจึงขอบคุณลิขิตและใจหายที่ลิขิตจากไปโดยไม่ทันได้ตั้งตัวทำใจหรือร่ำลา

ไปดีเถิดลิขิต

ผมไม่แน่ใจว่านานอีกสักเท่าไรธรรมศาสตร์จึงจะมีครูแบบลิขิตอีก

ปราโมทย์ นาครทรรพ
27 พฤศจิกายน 2559







กำลังโหลดความคิดเห็น