ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รู้สึกว่าท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกอาการเป็นห่วงเป็นใยกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นพิเศษ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกฯ เคยออกมาแถลงในเรื่องนี้มาก่อน และตามติดด้วยทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานหลัง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงถึงกับออกมาย้ำกับตำรวจให้เข้มงวดกวดขันถึงสองสามรอบ
เหตุผลของท่านนายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหลักๆ อยู่เรื่องเดียวคือรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฏหมายกำหนดเป็นตัวการที่ทำให้ถนนพัง หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือทำให้ส่วนรวมเดือดร้อน รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการซ่อมแซม
แต่ความเสียหายจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น ถ้าศึกษา-เจาะลึกข้อมูลจริงๆ ยังมีอะไรที่น่าตกใจมากกว่านั้น...มากกระทั่งอาจจะคิดไม่ถึงว่าพวกที่เกี่ยวข้องเขาปล่อยปละละเลยกันได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก....แค่นี้ยังไม่พอ ลามไปถึงผู้นำท้องถิ่น (บางคน) เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อบจ. ปลัดอำเภอ -นายอำเภอ(บางคน) เป็นต้น
ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่มีคนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเกี่ยวข้องเพียงหน่วยงานเดียว..ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมชำเราถนนหลวงอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วย ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เป็นต้น
และก่อนฉายภาพรวมทั้งหมดขอโฟกัสไปยังกองบังคับการตำรวจทางหลวง ภายใต้การกำกับดูแลของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอันดับแรก....คำถามที่มักได้ยินอยู่เสมอๆคือ “ส่วยสติ๊กเกอร์” คืออะไร..ปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่...คำตอบคือ รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชัน อีกอย่างหนึ่งเพื่ออำนวยให้ผู้มีอาชีพประกอบการขนส่งทุกชนิดได้ทำผิดกฎหมาย.... ส่วยสติ๊กเกอร์แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ “สติ๊กเกอร์สายสั้น-สติ๊กเกอร์สายยาว” หมายถึง....
สายสั้นคือ การใช้เส้นทางภายในจังหวัดเดียวจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงปลายทาง เช่นสมัยที่มีการสร้างแหลมฉบัง หรือนิคมอุตสาหกรรมในทุกจังหวัดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจะนำมาใช้กับการขนวัสดุก่อสร้างทั้ง อิฐ หิน ดินทราย แต่ถ้าบรรทุกน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจมักอ้างว่าไม่คุ้มทุน-ขาดทุน จึงมีความจำเป็นต้องแบกน้ำหนักจาก 20 ตันเป็น 30 ตัน หรือจาก 30 ตันเป็น 40-50 ตัน เป็นต้น
แน่นอนว่าย่อมกระทบกับถนนทุกเส้นที่ออกแบบรองรับตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น แถมบางเส้นก็ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากขบวนการทุจริต “ฮั้วประมูล”อันเป็นรากเหง้า-บ่อนทำลายประเทศมาช้านาน เมื่อเจอกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งขย่มไป-มาทุกวันๆ แทนที่จะใช้งานได้ 10-20 ปี เราจึงมักได้ยินเสมอๆว่าถนนสร้างเพิ่งเสร็จเพียงไม่กี่เดือนก็พังพินาศไปเสียแล้ว
ส่วยสติ๊กเกอร์สายสั้น สนนราคาถูกกว่าส่วยสติ๊กเกอร์สายยาว ประมาณว่า คันละ 3,000 บาท/เดือน เป็นอย่างน้อย...หลักการง่ายๆ คือให้แจ้งยอดมาจ่ายเงินแล้วรับสติ๊กเกอร์ไป พร้อมกับจดหมายเลขทะเบียนรถทุกคันให้กับ“ขาใหญ่”คนมีอำนาจที่ปล่อยสติ๊กเกอร์ด้วยว่ามีทะเบียนอะไรบ้าง เหตุผลคือ ป้องกันทำสติ๊กเกอร์ปลอมมาสวมรอย
ส่วยสติ๊กเกอร์สายยาว ขยับราคาอย่างต่ำ 5,000 บาท/เดือน หลักการเหมือนกันหมด ต่างกันแค่เป็นการวิ่งข้ามจังหวัด ประมาณผลประโยชน์จากขบวนการนี้ในแต่ละปี คาดว่าจะมีสูงหลายร้อยล้านจนถึงพันล้าน เพราะมิใช่เพียงรถดิน รถหิน รถทราย แต่หมายถึงรถขนส่งทุกชนิด
1 เดือนเคลียร์ 1ครั้ง...เปลี่ยนรูปแบบสติ๊กเกอร์ในทุกๆเดือน อาจจะเป็นรูปสัตว์ หรืออักษรย่อ ครั้งหนึ่งมีนายตำรวจระดับ พล.ต.อ. กล้าหาญชาญชัยมากถึงกับใช้อักษรย่อ P.K.หมายถึงนามสกุลตัวเองกับชื่อพ้องภรรยา สร้างความเกรียวกราวให้กับแวดวงสีกากี และแวดวงรถบรรทุกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ส่วยสติ๊กเกอร์
นี่เฉพาะในส่วนของตำรวจทางหลวง ยังไม่รวมตำรวจท้องที่ กรมทางหลวง กรมการขนส่งฯ ที่ร่วมสังคกรรม “แบ่งเค้ก”ส่วยทางหลวงกับเขาด้วย....เฉพาะกรมทางฯนั้น เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินมาว่าถนนยิ่งพังเร็ว พวกเจ้านายบางคนในหน่วยงานนี้ก็ยิ่งได้เงินค่าคอมมิชชั่นกันเร็ว ทั้งจากงบประมาณซ่อม-สร้าง เป็นต้น
ว่าไปแล้วระบบส่วยทางหลวงแทบไม่มีอะไรแตกต่างกับส่วยบ่อน ส่วยซ่อง แม้แต่น้อย เพราะต้องจ่าย หรือเคลียร์ให้กับหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกหน่วย
ถึงตรงนี้ขอไปต่อที่นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชนเช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อบจ. ลามไปถึงฝ่ายปกครองในระดับต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าร่วมรู้เห็นเป็นใจไปกับขบวนการนี้
ขอเริ่มจากบ่อดิน บ่อทราย แหล่งสัมปทานหิน-ปูน มีผู้ประกอบการบางราย ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยๆ หากสู้ค่าใช้จ่ายส่วยสติ๊กเกอร์ทางหลวงไม่ไหวก็หาเส้นทางลัดเลาะตามหมู่บ้าน หรือตามถนนสายรอง เช่น ถนนที่รับผิดชอบโดยทางหลวงชนบท ไม่ต้องมีสติ๊กเกอร์ เพราะเป็นเขตรับผิดชอบของตำรวจท้องที่ เพียงแต่ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐตามที่ระบุไว้ในตอนต้นคือ กำนัน ผญบ. (บางคน) ปลัดอำเภอ และนายอำเภอ (บางคน) เป็นต้น
ถนนที่เห็นเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนตามหมู่บ้านที่โพสต์รูปออกมาประจานกัน ร้อยทั้งร้อยอยู่ในวงจรนอกระบบส่วยสติ๊กเกอร์ แต่สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบไม่แตกต่างกัน
ก่อนถนนพังขบวนการรถบรรทุกน้ำหนักเกินเอาเงินมาให้ พอถนนพังก็แบบมือของบประมาณจากจังหวัด จากกระทรวงฯ มาซ่อมสร้างกินหัวคิวกันอีกต่อ... นี่คือความเป็นจริงอีกด้านที่ท่านนายกรัฐมนตรี ควรรับทราบไว้
จากส่วยสติ๊กเกอร์ มาถึงข่าวเม้าท์ -ข่าวลือ ที่ว่าตำรวจทางหลวง (บางคน) ทุเรศหนัก ถึงกับเช่ารถสายตรวจออกมาทำรีดไถชาวบ้านกันเลยหรือ....เรื่องนี้มีผู้รู้ให้ข้อมูลมาว่าสมัยหนึ่งเคยมีอยู่จริง แต่ปัจจุบันเบาบางลงไปแล้ว แต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการว่าจ้าง หรือการซื้อหน้าที่ชั่วคราวโดยจ่ายกันเป็นรายวัน/รายชั่วโมง
การซื้อหน้าที่เกิดจากตำรวจทางหลวงได้แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน...เช่น ตำรวจผู้ทำหน้าที่พลขับ ก็จะขับรถเพียงอย่างเดียว ตำรวจวิทยุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วิทยุประจำสถานี กับวิทยุประจำรถสายตรวจ ให้ทำหน้าที่ห้ามทำหน้าที่อื่น ตำรวจสายตรวจ มีหน้าที่เรียกตรวจ-แจ้งข้อหา-ปรับ (บางคนมีไถ)
แรกๆ ของการปฏิบัติหน้าที่ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกัน แต่พอคุ้นเคยก็จะออกเดินสายปฏิบัติหน้าที่บ้าง ทำมาหากินบ้าง ตำแหน่งที่รายได้ดีที่สุดคือ ตำรวจผู้ทำหน้าที่ตรวจ หลังปฎิบัติการรูปแบบ-ส่วนแบ่งเขาทำกันอย่างไร ขออนุญาตให้ท่านผู้อ่านจินตนาการกันเอาเอง แต่เชื่อว่าคงแฮปปี้ทุกฝ่าย และไม่ลืม “ขยัก” เอาไว้ให้เจ้านายบางคน (อีกแล้ว) เพื่อรักษาตำแหน่ง รักษาหน้าที่ตรงนี้ไว้ เหตุผลคือ มีรายได้ทุกชั่วโมง ทุกวัน
อีกกรณีถ้าฝ่ายพลขับติดธุระ-ขี้เกียจ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ไหว ก็จะจ้างสลับตำแหน่ง ราคาสุดแท้แต่ตกลงกัน อาจจะเป็นรายชั่วโมง หรือเหมาวันตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป วิธีนี้ฝ่ายผู้จ้าง (ตำรวจวิทยุ -ตำรวจสายตรวจ) จะต้องเติมน้ำมันเอง ขั้นต่ำ 500 บาท
ต้นทุน 1,500 บาท ทำอย่างไรจะมีกำไรกลับมาขอให้ท่านหลับตามโนภาพเอา
ปัจจุบันส่วยทางหลวงยังทำมาหากินกันในหลายรูปแบบ เส้นทางบางแห่งมีค่ายิ่งกว่าทองคำ เช่น จ.สระบุรี ทั้งหมด เหมืองหิน บ่อหิน เหมืองปูน หน้าพระลาน ขนอิฐขนหิน ระเบิดภูเขากันนานนับสิบปี ชาวบ้านเดือดร้อน ผู้ใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน แต่มีคนรวยจากการละเว้นหน้าที่จำนวนหนึ่ง
ถนนบางเส้นมีรายได้จากการขนแรงงานต่างด้าว จากการขนพืชผลทางเกษตร รถอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยวภาคอีสาน 19 แห่ง ภาคกลาง 17 แห่ง ภาคเหนือ 12 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง...ขนกันสนุกสนาน..รับทรัพย์กันเบิกบานใจ แต่ทรัพย์สินสาธารณะวายวอด...อุบัติเหตุร้ายแรงที่ไม่ควรเกิดก็เกิด...ที่ไม่ควรตาย ก็มาตายเพราะระบบห้ามล้อมันออกแบบมารับน้ำหนักแค่นั้น
ยังไม่รวมถนนสายใต้ รถเย็น ตู้แช่ ไม่เคยโดนจับข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่มาเจอข้อหาทำสิ่งของตกหล่น...ของตกหล่นที่ว่าคือ น้ำที่ละลายจากน้ำแข็ง.. รับขับมาส่งกลับ กุ้งหอย ปูปลาไม่สด.. ถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุประจำ ตำรวจไม่จับเพราะ“จ่าย”...สายเหนือ มีพืชผลเกษตร สายอีสานโคราช ไม่ว่าสายไหนผ่านมากี่ด่านโดนเรียกตรวจ เรียกไถละทางมาเรื่อย จนถึงตลาดไทย - สี่มุมเมือง ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วยังต้องบวกกับค่าส่วยทางหลวง...ผัก-พริก จาก กก.ละยี่สิบ ต้องเป็นยี่สิบสอง ยี่สิบสาม
ถนนพัง ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย หากคู่กรณีไม่มีประกันภัย รัฐเองต้องแบกภาระนำงบประมาณมาจ่ายให้...ล้วนแต่เกิดความวิบัติแก่ส่วนรวม และประเทศชาติ...แต่ก็แปลก เทศกาลท่องเที่ยวทีเอาลูกอมมาแจก เอาผ้าเย็นมาให้ แถมสโลแกน“จับเพราะรัก -ปรับหนักเพราะเป็นห่วง” ขออนุญาตนำสำนวน “จเรโป่งเหน่ง” คุณเกรียงไกร ไทยอ่อน มาใช้สักนิดว่า มันไม่ใช่แล้วแต่เป็นพวกผีบ้ามากกว่า....
เขียนยืดยาวไปไหนมาสามวาสองศอก สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องชวนให้คนไทยช่วยกันรณรงค์ปปฏิรูปตำรวจไทย...ต้องช่วยกันครับ ไม่งั้นประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนเห็นท่าจะไปไม่รอด