xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เคารพพระธรรมวินัย : ไม่เคารพศาสดา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใดที่เราตถาคตแสดงแล้ว และบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว (โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจุจเยน สตฺถา) นี่คือพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพระอานนท์ ผู้ซึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วใครจักเป็นศาสดา ของข้าพระองค์ทั้งหลาย”

โดยนัยแห่งพระพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์มิได้มีพระประสงค์แต่งตั้งพระสาวกรูปหนึ่งรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ให้สาวกของพระองค์ยึดถือคำสอนทั้งในส่วนของพระธรรมและพระวินัยเป็นศาสดาแทน หลังจากที่พระองค์ได้ดับขันธปรินิพพานแล้ว

ดังนั้น สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ในรุ่นหลังๆ จึงได้เคารพพระธรรมวินัย โดยการฟังเชื่อถือและปฏิบัติตามเยี่ยงพระพุทธองค์ดำรงพระชนมชีพอยู่

ธรรมและวินัยคืออะไร

ธรรมะถ้ายึดตามแนวธัมมนิยามสูตรก็หมายถึงสภาวะที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง ไม่มีใครสร้างขึ้นมา และธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือ สภาวะแห่งความเป็นจริงที่พระพุทธองค์ได้ค้นพบ และนำมาเปิดเผยให้ชาวโลกได้รู้ ทำความเข้าใจและปฏิบัติธรรมเท่านั้น พระองค์มิได้สร้างธรรมะใด ขึ้นมาใหม่ด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คำสอนในส่วนที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งในอดีตและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้ ก็จะเหมือนกันทุกประการใน 3 ลักษณะดังที่ปรากฏในโอวาทปาติโมกข์คือ

“การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องแผ้ว 3 ประการนี้คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (สพฺพปาปสฺส อกรณํ, กุสลสฺสูปสมฺปทา. สจิตฺตปริโยทปนํ, เอตํ พุทฺธาน สาสนํ)”

ส่วนนัยคือศีลหรือระเบียบปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์บัญญัติขึ้น เพื่อให้สงฆ์สาวกคือปฏิบัติเป็นเครื่องกำจัดกิเลสทางกาย และวาจาให้สงบปราศจากกายทุจริตคือ การประพฤติชั่วทางกาย และวจีทุจริตคือการประพฤติชั่วทางวาจา เพื่อก้าวไปสู่การทำสมาธิเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมอยู่ในใจแล้วก้าวไป การมีปัญหาเพื่อขจัดกิเลสอย่างละเอียดให้หมดไปในที่สุด

นอกจากนี้ พระวินัยถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อปกครองหมู่สงฆ์ให้เป็นระเบียบเสมอกัน

ด้วยเหตุนี้ วินัยหรือศีลที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์บัญญัติขึ้น อาจมีความแตกต่างกันตามยุคสมัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาววิสัยของสังคมในยุคนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการบัญญัติ

ถึงแม้ว่าพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกองค์ค้นพบจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ธรรมที่ค้นพบก็เสื่อมลงเมื่อกาลเวลาผ่านไปและหายไป

ดังนั้น พระพุทธเจ้าองค์ใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้น จึงต้องค้นหาและเมื่อพบแล้วก็นำออกเผยแพร่ให้สัตว์โลกได้รับรู้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คำสอนของพระเจ้าเสื่อมสลายไปนั้นก็คือ พฤติกรรมของพุทธบริษัท 4 ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระกิมพิละซึ่งปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ว่า

“ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษาไม่เคารพยำเกรงในกันและกันนี้ และกิมพิละเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว และโดยนัยแห่งพุทธพจน์นี้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน”

จากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ยืนยันว่าคำสอนของพระองค์จะตั้งอยู่ได้นานหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพุทธบริษัท 4 เป็นหลัก

วันนี้และเวลานี้ วงการสงฆ์ในประเทศไทยกำลังประสบเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อม และถ้าไม่มีการแก้ไขสักวันหนึ่งความล่มสลายจะบังเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยแน่นอน ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ได้มีภิกษุหลายรูป เช่น พระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย และพระอธิการคึกฤทธิ์แห่งวัดนาป่าพง เป็นต้น ได้แสดงพฤติกรรมเข้าข่ายไม่เคารพพระธรรมวินัย เช่น อวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่ดีในตน และคิดค้นวิธีการแสวงหาลาภสักการะด้วยกลวิธีที่เข้าข่ายอเนสนาถึงขั้นมีผู้ฟ้องร้อง ทั้งในแง่พระวินัยและกฎหมายต่อเถรสมาคมหรือ มส.แล้ว แต่ยังไม่เห็นว่า มส.ดำเนินการใดๆ

2. หน่วยราชการซึ่งมีหน้าที่ปกป้องพุทธศาสนาโดยตรงคือ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่มีศักยภาพในการดำเนินการ ทั้งๆ ที่มีอัครกำลังคนและได้รับงบประมาณจากภาครัฐ แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่พฤติกรรมของพระธัมมชโย และพระคึกฤทธิ์จากหลักฐานที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชน ก็มากพอที่จะดำเนินการทั้งทางพระวินัย และกฎหมายถึงขั้นเป็นปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ และดำเนินคดีในทางอาญาได้แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหน แถมเงียบหายไปเฉยๆ ทำให้ชาวพุทธฟังแล้วหดหู่เป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น