xs
xsm
sm
md
lg

คัมภีร์หรือคน : เหตุให้พุทธศาสนาเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คัมภีร์หรือตำราที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็นประเภทดังนี้

1. บาลี หมายถึงคำสอนโดยตรงของพระพุทธองค์ และคำสอนของสาวกที่พระพุทธเจ้ารับรองว่าถูกต้อง เช่น คำสอนของพระสารีบุตร เป็นต้น โดยใช้ภาษามคธ แต่ในภาษาพื้นๆ ทั่วไปเรียกภาษาบาลีซึ่งหมายถึงคำสอนที่จารึกไว้ในใบลาน

2. อรรถกถา หมายถึงตำราที่พระเถราจารย์ในรุ่นหลังได้นำคำสอนในชั้นบาลีมาอธิบายขยายความให้ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้น

3. ฎีกา หมายถึงตำราที่พระฎากาจารย์ได้นำอรรถกถามาอธิบายเพิ่มเติม

4. อนุฎีกา หมายถึงตำราที่นำเอาฎีกามาอธิบายเพิ่มเติม

5. สัททาวิเศษ หมายถึงตำราที่พระเกจิอาจารย์ได้นำคำสอนจากคัมภีร์ต่างๆ มาอธิบาย โดยใส่ความเห็นของคนเพิ่มเติม

ส่วนคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนั้น หมายถึงคำสอน 3 หมวดคือ สามตะกร้าได้แก่ พระวินัย ปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้นเป็นคำสอนชั้นบาลีหรือเข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธว่า เป็นพุทธพจน์หรือบางท่านนำมาเป็นจุดขายโดยเรียกพุทธวจนะนั่นเอง

คนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นพุทธมามกะ หรือผู้นับถือพระพุทธองค์เป็นสรณะ หมายถึงคน 4 ประเภทหรือที่เรียกว่า พุทธบริษัท 4 ได้แก่

1. ภิกษุ หมายถึงนักบวชชายถือศีล 227 ข้อ (มิใช่ 150 ข้อตามที่นักปราชญ์จอมปลอมบางท่านนำมาอ้าง) และสามเณรรวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย

2. ภิกษุณี นักบวชเพศหญิงถือศีล 311 ข้อ และจะต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่ายคือ ทั้งจากภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์ สามเณรีก็รวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย

3. อุบาสก คือคฤหัสถ์เพศชายผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย และถือศีล 8 เป็นประจำ

4. อุบาสิกา คือคฤหัสถ์เพศหญิงผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย และถือศีล 8 เป็นประจำ

บุคคล 4 ประเภทดังกล่าวข้างต้น คือผู้ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นเหตุให้พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ดำรงอยู่ได้นานหรืออันตรธานไป หลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 282 ว่า

“สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ใกล้เมืองมิกิจา ลำดับนั้นท่านพระกิมพิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว”

“ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว และพระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพระกิมพิละในทางตรงกันข้ามว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงในกันและกันนี้แล กิมพิละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้มอบหมายหน้าที่ในการปกป้องพุทธศาสนาแก่บุคคล 4 ประเภท

แต่ในปัจจุบันพระภิกษุในประเทศไทยมีพฤติกรรมอยู่ในข่ายทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เป็นต้นว่าไม่เคารพพระธรรมวินัย ซึ่งเท่ากับไม่เคารพในพระศาสดา จะเห็นได้จากการล่วงละเมิดพระวินัยอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวดอุตริมนุสธรรม และมีพฤติกรรมมั่วกามารมณ์เยี่ยงคฤหัสถ์ พระภิกษุประเภทนี้มีอยู่ดาษดื่น และปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะๆ และเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 ํ หน้าหนึ่งเสนอภาพพระภิกษุยืนกอดกับผู้หญิงแบบไม่อายฟ้าอายดิน และเท่ากับเป็นการท้าทายมหาเถรสมาคม และสำนักพุทธแบบไม่เกรงกลัวแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านี้ ในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปประชุมกรรมาธิการ***ศาสนา วัฒนธรรม และจริยธรรมได้ทราบข่าวจากผู้เข้าประชุมท่านหนึ่งว่า ในวันที่ 11 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่งต้องอนุจาทาธิกรณ์ทั้ง 4 ประเด็นคือ ศีลวิบัติ เนื่องจากมั่วสีกา อวดอุตริมนุสธรรม ทิฏฐิวิบัติเนื่องจากกล่าวหาว่า พระวินัยปิฎกผิดในข้อที่ว่าศีลของภิกษุมี 227 ข้อ โดยภิกษุรูปนี้อ้างอิงที่เป็นพุทธวจนะมีเพียง 150 ข้อเป็นต้น อาจารวิบัติเนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศภาวะของพระภิกษุ และสุดท้ายมีการแสวงหาลาภสักการะในทางที่ไม่สมควร และได้รับการยืนยันว่าจะมีการยื่นฟ้องเรื่องนี้ต่อเจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะหนกลางเพื่อให้มีการชำระอธิกรณ์ ส่วนว่ายื่นไปแล้วจะได้ผลเป็นประการใดนั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจ ทั้งนี้อนุมานจากเรื่องของพระธัมมชโยที่มีความผิด ทั้งในด้านกฎหมาย และพระวินัยแต่ก็ยังเงียบอยู่ ดังนั้น ก็เป็นไปได้ที่กรณีนี้จะเงียบไปในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ทั้งสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคมไม่เคยแสดงศักยภาพในด้านการปกครองให้เห็นแม้แต่เรื่องเดียวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

2. การกระทำผิดของพระภิกษุที่ว่านี้ มิได้หลบๆ ซ่อนๆ ตรงกันข้ามทำอย่างโจ่งแจ้งด้วยการเรียนรู้แบบผิดๆ สอนอย่างผิดๆ และมีคนเชื่อถือทำตามแบบผิดๆ อย่างกว้างขวาง

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็พอจะมีความหวังอยู่บ้างเมื่อนึกถึงกระบวนการยุติธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ซึ่งได้ดำเนินการให้เห็นมาแล้วในหลายๆ เรื่อง และเรื่องนี้ก็คงจะมีการเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่าในปัจจุบันคัมภีร์มิได้เป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อม แต่คนต่างหากทำให้ศาสนาเสื่อม
กำลังโหลดความคิดเห็น