xs
xsm
sm
md
lg

ศาสดากล้า แต่สาวกกลัว : ภาวะของธัมมชโยวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นว่าใครก็ตาม จักท้าทายพระองค์ได้โดยชอบธรรมในฐานะ 4 ประการดังต่อไปนี้

1. สัมมาสัมพุทธปฏิญญาว่าท่านได้ปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ แต่ท่านไม่รู้ธรรมเหล่านี้

2. ขีณาสวปฏิญญาว่าท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ (หมดกิเลสแล้ว) แต่กิเลสของท่านยังไม่สิ้น

3. อันตรายิกธรรมวาทะว่าท่านปฏิญญาว่า ธรรมใดเป็นอันตราย แต่ธรรมนั้นไม่เป็นอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง

4. นิยยานิกธรรมเทสนาว่าท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง

ธรรม 4 ประการนี้เรียกว่า เวสารัชชญาณ คือ การหยั่งรู้ที่ทำให้พระพุทธเจ้ามีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับทุกคนที่เข้ามาสอบถามเพื่อทดสอบความเป็นสัมมาสัมพุทธของพระองค์ ทั้งนี้เนื่องจากว่าพระองค์ซื่อตรง และรับผิดชอบในสิ่งที่ได้พูดและกระทำไป จะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด ก็พูดได้อย่างนั้น เพราะเหตุที่พูดได้ตามที่ทำ และทำได้ตามที่พูดจึงเรียกว่า ตถาคต”

เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา มีคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น เหตุใดสาวกผู้บวชอุทิศแด่พระองค์ และเดินรอยตามพระองค์เพื่อมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น บางรูป บางองค์ เฉกเช่นพระธัมมชโย ยังมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับพระองค์ ดังจะเห็นได้จากการแสดงออกดังต่อไปนี้

1. พระธัมมชโยเป็นนักบวชในพุทธศาสนา ถือศีล 227 ข้อ แต่ไม่เคารพพระวินัยถึงขั้นล่วงละเมิดครุกาบัติคือปาราชิก ดังจะเห็นได้จากการถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ ข้อศีลวิบัติในกรณียักยอกที่ดินของวัด และทิฏฐิวิบัติในกรณีสอนผิดไปจากคำสอนของพระพุทธองค์ว่า นิพพานเป็นอัตตา เป็นต้น ตามนัยแห่งพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2542

2. ต่อมาเมื่อปี 2559 ได้ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ และร่วมกันรับของโจร โดยดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการสอบสอน และเป็นผู้กล่าวหา แต่พระธัมมชโยปฏิเสธที่จะมารับทราบข้อหาตามหมายเรียกจึงถูกออกหมายจับ แม้ถึงขั้นถูกออกหมายจับพระธัมมชโยก็ไม่ยอมมอบตัว แต่กลับใช้วิธีดื้อแพ่ง และยังใช้วิธีการนำคนมาป้องกันการจับกุม โดยอ้างมาปฏิบัติธรรมบังหน้า

3. พระธัมมชโยไม่มารับทราบข้อกล่าวหา โดยอ้างอาการอาพาธหนักจนถึงขั้นเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาไม่ได้ แต่ครั้นทางดีเอสไอยอมผ่อนปรนด้วยการให้ไปมอบตัวที่โรงพักคลองหลวงใกล้ๆ วัดพระธรรมกาย และมีการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย แต่สุดท้ายก็ไม่มา

พฤติกรรม 3 ประการนี้ของพระธัมมชโย ถือได้ว่าเป็นสาวกที่มีพฤติกรรมสวนทางกับตถาคตโดยสิ้นเชิง และยังนับได้ว่าเป็นเหตุทำให้พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ไม่ได้นาน ตามนัยพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระกิมพิละที่ว่า “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตพระปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสดาในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระธัมมชโยที่ล่วงละเมิดศีล และศิษยานุศิษย์ที่มาห้อมล้อมเพื่อป้องกันพระธัมมชโย ก็อยู่ในข่ายไม่เคารพพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระอานนท์ ดังนั้น การแสดงออกของพระธัมมชโยในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นการทำลายความมั่นคงแห่งพุทธศาสนา ด้วยความเข้าใจผิดว่ากำลังช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง พฤติกรรมพระธัมมชโยดังที่เป็นอยู่เข้าข่ายถูกตำหนิติเตียน ตามนัยแห่งพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตรที่ว่าด้วยศาสดา หลักธรรมคำสอน และสาวก 6 ประเภทดังต่อไปนี้

1. ศาสดาไม่ดี หลักธรรมไม่ดี สาวกไม่ดี ก็เป็นที่ติเตียนทั้ง 3 ฝ่าย ใครปฏิบัติตามก็ประสบกับสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก

2. ศาสดาไม่ดี หลักธรรมไม่ดี แม้สาวกจะดีคือปฏิบัติตาม ก็เป็นที่ติเตียนทั้ง 3 ฝ่าย ใครทำความเพียรก็ประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก

3. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกไม่ดี ศาสดาและหลักธรรมได้รับสรรเสริญ แต่สาวกถูกติเตียน ใครทำตามก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก

4. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกดี ย่อมได้รับสรรเสริญทั้ง 3 ฝ่าย ใครทำความเพียรตามก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก

5. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกไม่เข้าใจเนื้อความ (แห่งธรรม) แจ่มแจ้ง เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกเดือดร้อนภายหลัง

6. ศาสดาดี หลักธรรมดี สาวกเข้าใจเนื้อหา (แห่งธรรม) แจ่มแจ้ง เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง

โดยเนื้อหาสาระแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น พระธัมมชโยและศิษย์เข้าข่ายข้อที่ 3 และข้อที่ 5

ในเมื่อพระธัมมชโยเป็นสาวกที่ไม่เดินตามรอยพระศาสดา ทำไมจึงมีผู้ศรัทธาจำนวนมาก และผู้ศรัทธาเหล่านี้จะได้บุญหรือไม่

เกี่ยวกับคำถามประเด็นนี้ ขอให้ย้อนไปดูข้อที่ 3 และข้อที่ 5 แล้วพิจารณาโดยละเอียดก็ได้คำตอบดังต่อไปนี้

เริ่มด้วยข้อที่ 3 ถ้าพระธัมมชโยนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นศาสดาที่ดีและเป็นคำสอนที่ดี แม้ตนเองไม่ทำอย่างที่สอน ผู้ที่รับคำสอนและนำไปปฏิบัติก็จะได้บุญ ส่วนผู้สอนได้บาปคือถูกตำหนิติเตียน

ข้อที่ 5 แต่ถ้าพระธัมมชโยไม่รู้ ไม่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ นำมาสอนอย่างผิดๆ หรือเข้าใจ แต่เจตนาบิดเบือนเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ก็จะเดือดร้อนภายหลัง และทำให้ผู้รับฟังคำสอนแล้วทำตามพลอยเดือดร้อนไปด้วย

โดยสรุปพระธัมมชโยเดือดร้อนในวันนี้ จะด้วยการตกเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมายบ้านเมือง หรือด้วยถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ซึ่งจะต้องได้รับผลแห่งกรรม ตามนัยแห่งความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย ข้อที่ว่าสัตว์ตายในทะเลจะถูกซัดขึ้นฝั่งฉันใด ภิกษุผู้ทุศีลในธรรมวินัยที่สุดท้ายแล้ว จะต้องพ้นไปจากพระธรรมวินัยนี้ฉันนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น