xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และนักภาษาศาสตร์คนสำคัญของโลก คิดอย่างไรกับโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ประเด็นที่มีการพูดกันน้อยมากทั้งในระหว่างการรณรงค์หาเสียง และผลกระทบหลังจากการเลือกตั้งก็คือประเด็นเรื่องโลกร้อน รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศไทยด้วย ทั้งๆ ที่ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อมนุษยชาติทั้งมวล

จากข้อมูลที่อ้างถึงโดย World Economic Forum (มกราคม 2559) ว่า “จากการประเมินของบริษัทประกันภัยพบว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาวโลกอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวกับภูมิอากาศได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับประมาณ 40 ปีก่อน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาเอง ในช่วงหาเสียงก็ได้ประสบกับคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่าและน้ำท่วมอย่างรุนแรงที่สุด รวมทั้งแผ่นดินไหวในเวลาใกล้ๆ กันด้วย

ผมเข้าใจครับว่า สหรัฐอเมริกามีปัญหาใหญ่ๆ มากมาย แต่เรื่องโลกร้อนก็ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์พูดว่า “เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวงที่สร้างขึ้นมาโดยชาวจีนเพื่อประโยชน์ของประเทศจีน ที่จะทำให้โรงงานของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแข่งขันได้” เรื่องนี้ก็สมควรจะเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เป็นเหตุผลเป็น และไม่มีข้อมูล

แต่เอาเถิดครับ ผมจะขอมองไปข้างหน้าว่า เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว นักวิทยาศาสตร์และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลกร้อน รวมทั้งนักภาษาศาสตร์คนสำคัญของโลก เขามีความรู้สึกและคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ผมเชื่อว่าประสบการณ์และมุมมองของคนเหล่านี้จะให้ข้อคิดกับเราบ้าง

ความเห็นส่วนใหญ่ที่ผมนำมาเสนอมาจากบทความของคุณ Stefanie Spear ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ Eco Watch (จับตานิเวศ-ซึ่งผมเป็นสมาชิกรับข่าวสาร) เธอเขียนบทความชื่อ “Trump’s Election is a Disaster” (ชัยชนะของทรัมป์คือหายนะ) เขียนเมื่อ 9 พ.ย. 59 เมื่อรู้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

วิธีเขียนของเธอเป็นการรวบรวมความเห็นของบุคคลที่อยู่ในเครือข่าย รูปที่เธอนำมาเสนอมาจากนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ผมนำมาลงให้ดูด้วย ซึ่งเขาเขียนว่า “เมื่อฝันร้ายกลายเป็นความจริง”

บุคคลแรกคือผู้อำนวยการบริหารองค์กรที่ชื่อว่า “350 Action” (องค์กรที่ปฏิบัติการเพื่อบอกกับชาวโลกว่า ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไม่ควรเกิน 350 ส่วนในล้านส่วน แต่ตอนนี้เกินไปแล้วถึง 401 ) คือคุณ May Boeve เธอกล่าวว่า

“ชัยชนะของทรัมป์คือหายนะ แต่เราต้องปรับเปลี่ยนความโกรธและความกลัวไปสู่ความหวังและการแก้ปัญหา งานของเราจะยากขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราปฏิเสธการยอมแพ้ ด้วยการรวมพลังกัน เราจะทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว และจะดำเนินการต่อไปให้บังเกิดผลที่เห็นได้ชัด เราปฏิเสธที่จะยอมให้อนาคตของสภาพอากาศอยู่ในมือของทรัมป์ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรวบรวมพละกำลังและต่อสู้อย่างไม่เคยมีมาก่อน”

ต่อความห่วงใยว่า สัตยาบันในข้อตกลงปารีสที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามไปแล้ว จะถูกยกเลิกโดยคุณทรัมป์ (ซึ่งได้ประกาศในช่วงการหาเสียง) ในเรื่องนี้คุณ Jean Su จาก “ศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ” กล่าวว่า

“ในยุคศตวรรษที่ 21 คนคนหนึ่งไม่สามารถที่จะยับยั้งความก้าวหน้าด้านภูมิอากาศของโลกได้โดยลำพัง ไม่ควรจะยกเลิกความก้าวหน้าในด้านภูมิอากาศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และที่จะดำเนินการต่อไป ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และในเรื่องความอยู่รอดของมนุษยชาติ ประเทศต่างๆ จะต้องเหนี่ยวรั้งให้สหรัฐอเมริกาทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ และเป็นหน้าที่ของชุมชนในสหรัฐฯ ที่จะต้องรวมพลังกันเป็นหนึ่งและผลักดันนโยบายด้านภูมิอากาศไปข้างหน้าต่อไป ทั้งในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นซึ่งนโยบายส่วนกลางไม่อาจครอบคลุมถึง”

ผมเข้าใจว่า ความเห็นคุณ Jean Su ตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ใครคนใดหนึ่งมายกเลิกไป โดยที่ประชาชนที่ตื่นรู้แล้วจะนอนดูเฉยๆ ถ้าย้อนไปตอนสมัยพิธีสารเกียวโต สมัยนั้นภาคประชาชนตื่นแล้ว แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ยอมตื่น มาวันนี้ความตื่นตัวของภาคประชาชนสูงขึ้นพร้อมๆ กับความรุนแรงของปัญหา การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้เก็บพลังงานฟอสซิลไว้ใต้ดิน ได้รับการตอบสนองจากบริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรทางศาสนา ฯลฯ จนรัฐบาลโอบามาต้องยอมและเป็นหัวเรือหลักในการประชุมที่ได้ข้อตกลงปารีส (COP21)

นอกจากนี้ เท่าที่ผมได้ติดตามแผนงานของหน่วยงานที่ชื่อว่า องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติการลงไปถึงระดับรัฐและระดับเมืองและท้องถิ่น ดังนั้น อย่างที่คุณ Jean Su ว่า อำนาจของประธานาธิบดีลงไปไม่ถึงครับ

อีกคนหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ คือ ศาสตราจารย์ Michael E. Mann แห่ง Pennsylvania State University ซึ่งได้โพสต์รูปข้างต้นพร้อมข้อความว่า “เมื่อฝันร้ายกลายเป็นความจริง” ตอนแรก ผมคิดว่าดูเหมือนท่านจะท้อแท้ แต่ที่ไหนได้ในวันรุ่งขึ้นท่านพร้อมกับคุณ Susan Joy Hassol ผู้อำนวยการองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรว่าด้วยการสื่อสารด้านภูมิอากาศ ได้โพสต์ลงใน Blog ของ Scientific American น่าสนใจมาก ผมได้ตัดข้อความสำคัญไว้ในภาพข้างล่างครับ

แค่ชื่อบทความก็มีความคมกินขาดบาดหัวใจเลยทีเดียว “ภูมิอากาศเหนือกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี”

ในรายละเอียดมี 3 ข้อที่ถือเป็นการให้การศึกษากับว่าที่ประธานาธิบดีและกับประชาชนไปในตัว คือ

หนึ่ง ปัญหาโลกร้อนไม่เหมือนกับปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเลื่อนออกไปก่อนได้ เพราะความรุนแรงของผลกระทบและความเร็วของปัญหามีมากกว่าที่เคยรู้ พร้อมกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่กระชับ และตบท้ายว่า “ทั้งชาวอเมริกันและชาวโลกต่างก็สนับสนุนในเรื่องนี้”

สอง การปล่อยก๊าซ ไม่ว่าจะปล่อยที่ไหนมันจะส่งผลไปยังทุกหนทุกแห่ง เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เราต้องทำงานร่วมกับชาติอื่นเพื่อแก้ปัญหาของโลก ชาวอเมริกันมีความภูมิใจในตัวเองเสมอมา โดยเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้เชื่องช้า เราเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ พร้อมๆ กับประเทศจีนที่ได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงปารีส

ไม่มีประเทศใดสามารถที่จะถอนตัวได้ภายในเวลาที่ยังไม่ถึง 4 ปี (ตามมาตรา 28 – ผมค้นคว้าเพิ่มเติม) ถ้าประธานาธิบดีของเราถอนตัวออกมา ประเทศของเราก็จะกลายเป็นประเทศที่ทำผิดกฎหมายสากล ประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะเป็นผู้ขัดขวางความก้าวหน้าที่อันตราย

สาม ชาวอเมริกันได้พบบนพื้นฐานร่วมกันว่า การปฏิวัติพลังงานสะอาดกำลังไปได้สวย ชาวโลกไม่มีใครถกเถียงหรือสงสัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน (carbon- free energy) เราต้องการจะเป็นผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังในยุคสมัยของการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 หรือ?

หรือเราจะเข้าร่วมแข่งขันในพลังงานสะอาด ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศของเรายิ่งใหญ่กว่าเดิมไหม? หรือเราจะซื้อแผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมจากจีน หรือเราจะสร้างโรงงานเพื่อขายสินค้าให้จีนและประเทศอื่นๆ

ถ้าสหรัฐอเมริกาจะบรรลุผลตามที่โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการได้รับการนับถือจากสากล เราต้องเป็นผู้นำโลกในด้านการวิจัยเรื่องพลังงานสะอาด เพื่อที่จะบรรลุดังกล่าว เราจำเป็นต้องรักษาอากาศและแหล่งน้ำของเราให้สะอาด ทำให้ภาคธุรกิจของเรามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปรับปรุงสุขภาพของเรา และปกป้องอนาคตลูกหลานของเรา มั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือคุณค่าของเรา และพวกเราทั้งหมดล้วนเห็นตรงกันด้วย

ผมรู้สึกว่าบทความนี้เป็นงานเขียนที่สละสลวยมาก หากไม่มีนักการสื่อสารด้านภูมิอากาศมาร่วมเขียนด้วยจะเขียนได้ดีอย่างนี้ไหมเนี่ย!

เจ้าของบทความคนเดิมนี้ (Stefanie Spear) ยังได้กล่าวถึงอีกหลายคน แต่คนหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องกล่าวถึง คือ ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซสหรัฐอเมริกา คือ คุณ Annie Leonard ผมได้ติดตามผลงานของเธอมานานกว่า 10 ปี เคยเอาผลงานของเธอ (Story of Stuff- เรื่องราวข้าวของเครื่องใช้ ที่มีคนดูกว่า 40 ล้านราย) มาใช้สอนนักศึกษา ในวิชา Greening the Campus เธอได้แสดงความเห็นสั้นๆ ว่า

“ขอส่งกำลังใจไปยังผู้คนหลายล้านคนที่ลงคะแนนคัดค้านสิ่งที่ไร้เหตุผลและมีความเกลียดชัง และบัดนี้ จะต้องยอมรับความเป็นจริงว่าชายผู้ที่เยาะหยันและข่มขู่พวกเขามาเป็นเดือนๆ เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา” เธอกล่าวเพิ่มเติมอย่างให้กำลังใจพร้อมกับเสนอทิศทางการขับเคลื่อนงานต่อไปว่า

“ความหวาดกลัวอาจชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ทว่า ความกล้าหาญ ความหวัง และความเพียรพยายามจะชนะในที่สุด”

กลับมาที่บทความของผมครับ มีนักวิเคราะห์หลายคนพูดว่า ประธานาธิบดีโอบามาอยู่มา 8 ปี แต่ไม่มีผลงานในการแก้ปัญหาของชาวอเมริกัน ก็ว่ากันไปครับ ไม่ใช่ประเด็นที่ผมกำลังเขียนถึง แต่ผลงานในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (หรือโลกร้อน) ผมว่ารัฐบาลโอบามาทำได้ดีมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สัตยาบันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า คือลดลง 17% ภายในปี 2020 และ 26-28% ภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับปี 2005

ในขณะที่ประเทศจีนได้ให้สัตยาบันแบบแปลกๆ คือจะปล่อยมากที่สุดในปี 2030 (คงหมายถึงจะลดหลังจากนี้) และจะใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 20% (ดูภาพประกอบ)

จากกราฟเราจะเห็นว่า สหรัฐอเมริกาได้เริ่มลดมาตั้งแต่ปี 2005 และได้สัญญาว่าจะลดต่อไป ในขณะที่ในช่วง 10 ปีก่อนประเทศจีนได้ปล่อยเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.7% ต่อปี แต่ในช่วงปี 2014 ได้เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% นั่นคือ เริ่มเห็นสัญญาณแห่งความร่วมมือ และในปี 2015 จีนได้ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่า 2 เท่าของสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเติบโตถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกประเทศปฏิบัติตามสัญญาที่ตนได้เสนอไปอย่างสมัครใจครบถ้วนทุกประการแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดอุณหภูมิของโลกลงมาไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม)

แต่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เป็นมหาเศรษฐีได้ลงทุนในพลังงานฟอสซิลจำนวนมาก รวมทั้งโครงการวางท่อน้ำมันที่อื้อฉาว (ดูรายละเอียดจากภาพประกอบ) ก็ประกาศจะยกเลิกสัตยาบันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำไว้

ผมไม่เชื่อว่าชาวอเมริกันและประชาคมโลกจะยินยอมครับ

ผมขอปิดท้ายด้วยนักคิด นักภาษาศาสตร์คนสำคัญของโลกอีกคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ Noam Chomsky ซึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เมื่อนักข่าวถามว่า “จะมีผลอะไรถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้ง” นอม ชอมสกี ตอบว่า “เป็นเรื่องยากที่จะพูด เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าเขาคิดอะไร และผมก็ไม่มั่นใจว่า เขารู้ในสิ่งที่เขาคิด เขามีความสามารถมากที่จะพูดในสิ่งที่ขัดแย้งกันเองในเวลาเดียวกันได้”

เป็นอย่างไรครับ พอจะเป็นประกายให้ภาคประชาสังคมไทยได้ไปครุ่นคิดต่อบ้างไหม? หรือว่ายังรู้สึกน่ากลัวเหมือนการ์ตูนในรูปนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น