ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การจับมือกันระหว่างบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กับมูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) จัดตั้ง บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจซื้อสินค้าเกษตร ข้าว และพืชอินทรีย์อื่นๆ น่าจะเป็นก้าวย่างสำคัญของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ในฐานะภาคเอกชนที่ผลักดันให้เกิดบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise อย่างเต็มรูปแบบ
เป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมเกษตรกรทางภาคเหนือที่ปลูกข้าวและทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกร สามารถพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลธรรมชาติ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา และช่วยบรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติ
แน่นอนว่า เมื่อบริษัทเอกชนรายใหญ่อย่าง “บางจาก” เข้ามาสนับสนุนทั้งเงินทุนและช่องทางต่างๆ โดยเริ่มต้นทุนจดทะเบียนก้อนแรก 10 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างบางจากและมูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์ 40 : 60 ย่อมหมายถึงโอกาสและความเป็นไปได้สูงขึ้น หลังจากมูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์เข้าไปบุกเบิกแนวทางเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงรายเมื่อ 7 ปีก่อนพร้อมๆ กับการก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากล “ไร่เชิญตะวัน”
ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวในธรรมบรรยายครั้งหนึ่งว่า การเข้ามาพำนักในไร่เชิญตะวันในพรรษาแรกเมื่อปี 2552 เวลานั่งสมาธิจะได้กลิ่นยาเคมีผสมน้ำฝนโชยมาเข้าจมูกตลอด ทำให้หายใจไม่สะดวกและรู้ทันทีว่าอากาศแถวนี้เต็มไปด้วยสารพิษอันตราย ต้นไม้เริ่มเสื่อมสภาพ ให้ดอกให้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หน้าดินเสื่อมสภาพ น้ำในอ่างเก็บน้ำไม่สะอาด ที่แย่หนักกว่านั้น คือ ในหน้าฝนปีหนึ่งมีปลาตายลอยเป็นแพอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทำให้คิดว่า ถึงเวลาแล้วต้องปฏิวัติวิธีการทำเกษตรกรรมของชาวไร่ชาวนาแถวนี้ทั้งหมด
การพลิกฟื้น “ไร่เชิญตะวัน” เนื้อที่กว่า 170 ไร่ และชุมชนโดยรอบ จึงกลายเป็นอีกเป้าหมายใหญ่ นอกเหนือจากการสร้าง “ศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก (International Meditation Center)”
เปลี่ยนสวนลำไยและแปลงนาแบบใส่สารเคมี ให้กลายเป็นแปลงนาเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ สร้างชุมชนอินทรีย์แห่งแรกและตั้งเป้าสร้าง “เชียงราย” ให้เป็นจังหวัดอินทรีย์ต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทย
ท่าน ว.วชิรเมธี ได้สร้างทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์ กระตุก “สติ” ชาวนาชาวไร่ในเชียงราย ว่า “สติ คือ ตัวสร้างสมดุลระหว่างความต้องการเสพกับความต้องการคุณภาพชีวิต ระหว่างการทำมาหากินกับการทำมาหาธรรม ระหว่างการทำธุรกิจกับการรับผิดชอบต่อสังคม ระหว่างการหาเงินกับการดูแลสุขภาพ ระหว่างการวิ่งสนองกิเลสพื้นฐานกับการพัฒนาตนให้เป็นอิสระจากกิเลสส่วนตัว และส่วนรวม
ที่สำคัญ ภายใต้ทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์ การทำเกษตรอินทรีย์หรือพุทธเกษตร มีแนวคิดข้อสำคัญ คือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมเริ่มต้นจากข้าวเมล็ดเดียว” เริ่มที่เกษตรกร 1 คน เห็นภยันตรายของเกษตรกรรมแบบพึ่งพาสารเคมี และหันมาทำเกษตรกรรมแบบเกษตรอินทรีย์ เขาจะกลายเป็น “คนอินทรีย์”
คนอินทรีย์ทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ที่ไร่ ที่สวน ที่นา แหล่งน้ำ ปลอดภัย หรือ “สิ่งแวดล้อมอินทรีย์”
สิ่งแวดล้อมอินทรีย์ ทำให้ผลิตผลงอกงามสมบูรณ์กลายเป็น “ผลิตผลอินทรีย์”
ผลิตผลอินทรีย์ เมื่อได้รับการส่งต่อให้แก่ผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตผลหรืออาหารที่ปลอดภัยทำให้เกิด “ผู้บริโภคอินทรีย์”
ผู้บริโภคอินทรีย์เห็นคุณค่าของผลิตผลอินทรีย์ นำมาบริโภคเอง และแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายจ่ายแจกกลายเป็น “ระบบเศรษฐกิจอินทรีย์”
ระบบเศรษฐกิจอินทรีย์ ทำให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้จำหน่าย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหรือสังคมที่บริโภคอาหารสินค้าและบริการที่ปลอดภัย ทำให้เกิด “สังคมอินทรีย์” และผลิตผลหรือสินค้าและบริการที่ผลิตโดยกระบวนการอินทรีย์ เมื่อส่งไปขายทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดชื่อเสียงที่ดีงามแก่ประเทศไทยกลายเป็น “ชื่อเสียงอินทรีย์”
ท่ามกลางปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี จนล่าสุด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องทุ่มเม็ดเงินงบประมาณมากกว่า 18,000 ล้านบาท ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะการปฏิรูปเกษตรกรรมทั้งระบบ ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธีเชื่อมั่นว่า แนวคิดพุทธเศรษฐศาสตร์และเกษตรอินทรีย์สามารถแก้ต้นตอและพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรให้อยู่รอดอย่างพอเพียง อยู่ได้มีเงินเก็บ และอยู่ดีขึ้นได้ สามารถส่งต่อความรู้ให้คนอื่นและภูมิใจในอาชีพชาวนา
จากทฤษฎี “พุทธเกษตร” จึงกลายเป็นมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนา ประกอบด้วยโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชีวกานุสรณ์ จัดหลักสูตรด้านสมุนไพรวิทยา การปลูก/แปรรูป นวดแผนไทยและสุขภาพองค์รวม
โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีหลักสูตรหลากหลาย เช่น เกษตรกรรมทั่วไป เกษตรพึ่งสารเคมี เกษตรกรรมธรรมชาติ พุทธเกษตร การแปรรูปอาหาร การบริหารเงิน ธุรกิจเพื่อสังคม การผลิต/การตลาด และโรงเรียนสืบศิลป์แผ่นดินล้านนา เน้นหลักสูตรเรื่องคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม
เกษลักษณ์ หาราชัย นักวิชาการ มูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ โดยกระตุ้นให้ชาวนาเข้ามาเรียนรู้แนวทางเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากหลักสูตรไม่กี่สัปดาห์ ขยายเป็นหลักสูตร 1 ปี เรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างชาวนาอินทรีย์ 4 รุ่น รวมประมาณ 2,500 คน เพื่อให้พวกเขากลับไปเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร
ขณะเดียวกัน ดึง “บ้านป่าเปา” ใน ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เข้ามาเป็นชุมชนพุทธเกษตรเครือข่ายมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ หรือชุมชมเกษตรอินทรีย์ตัวอย่าง เพื่อให้ชาวบ้านเรียนรู้และเห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น การลดต้นทุนจากการซื้อสารเคมี การทำเกษตรที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การโรงเห็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ปลูกผัก นอกเหนือจากการทำนา การขยายช่องทางตลาด ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงการขายให้โรงสีเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การหาช่องทางจำหน่าย คือ โจทย์ข้อสำคัญในขณะนี้ เนื่องจากการจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต้องใช้ต้นทุนการวางสินค้า ซึ่งทำให้มูลนิธิเร่งขยายเข้าสู่ช่องทางค้าปลีกออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นและร้านอาหารเป็นหลัก โดยผู้บริโภค ร้านอาหาร หรือร้านจำหน่าย สามารถสั่งซื้อข้าวและสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านแอพพลิเคชั่นและรอการจัดส่ง นอกจากนี้ ยังหาทางเจาะตลาดส่งออกผ่านบริษัทผู้ส่งออก ซึ่งมีแนวคิดและปรัชญาทางธุรกิจตรงกัน
สำหรับปี 2559 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มูลนิธิเริ่มบุกตลาดส่งออก สามารถสร้างยอดขายมูลค่า 12 ล้านบาท และจะเร่งขยายเพิ่มมากขึ้นในปีถัดๆ ไป เนื่องจากการส่งออกข้าวสามารถสร้างยอดขายและรายได้สูงกว่าการจำหน่ายในประเทศ โดยปัจจุบันมีรายได้จากการส่งออกเกือบ 80% ส่วนยอดขายในประเทศคิดเป็นมูลค่าเพียง 20%
“ผลสำเร็จของโครงการโรงเรียนชาวนาอยู่ที่การพลิกชีวิตชาวนาจากเดิมทำนาเพียงอย่างเดียว ไม่พอเลี้ยงชีพ เป็นหนี้ และเจอปัญหาราคารับซื้อตกต่ำ ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ อยู่รอด อยู่ได้ และอยู่ดี สามารถนำไปสอนชาวนาคนอื่นๆ เพื่อสร้างแนวร่วมเกษตรอินทรีย์ และเป้าหมายสำคัญต่อไป คือ ผลักดันให้เชียงรายซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ทำเกษตรแบบสารเคมีสูงที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย กลายเป็นจังหวัดอินทรีย์ให้จังหวัดอื่นเห็นเป็นต้นแบบ” เกษลักษณ์กล่าว
ที่สำคัญ เมื่อมีการจัดตั้งบริษัท ออมสุข ซึ่งถือเป็นกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม จะทำให้มูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์มีกำลังสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากบริษัทผู้ร่วมทุนและตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะออกมาบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
แผนขยายจังหวัดอินทรีย์จาก “เชียงราย” สู่จังหวัดอื่นๆ จึงหมายถึงหนทางหนึ่งที่จะพลิกชีวิตเกษตรกรชาวนาเกือบ 20 ล้านคนทั่วประเทศไทยด้วย.